ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Research Fellow, Takemi Program in International Health, Harvard T.H. Chan School of Public Health

สัปดาห์นี้ (4-8 เม.ย. 65) คือ World Health Worker Week มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องและขอบคุณบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลก โดยมีหัวข้อประจำปี คือ Build the Health Workforce Back Better

สำหรับบุคลากรสาธารณสุขของไทย ย่อมเป็นที่รับรู้โดยกว้างขวางว่า สังคมไทยเคารพยกย่องและขอบคุณบุคลากรด่านหน้าและเบื้องหลังของระบบสาธารณสุขในการต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อปกป้องความมั่นคงทางสุขภาพและอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการคุกคามโจมตีโดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด

ตั้งแต่ก่อนยุคโควิด ก็ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าพิจารณาแนวโน้มของพัฒนาการด้านจำนวนแพทย์และจำนวนพยาบาลต่อประชากร 1,000 คน ย้อนหลังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960-2018 หรือ พ.ศ. 2503-2561 แสดงให้เห็นว่า จำนวนแพทย์ต่อประชากรของไทย อยู่ในระดับเดียวกับพม่าและลาว ในขณะที่ความก้าวหน้าในการผลิตจำนวนพยาบาลต่อประชากร อยู่ในระดับที่ดีกว่าพม่าและลาว พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของโลก

แม้การอนุมัติเมื่อต้นเดือน เม.ย. 64 สำหรับงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แบบผูกพัน เพื่อผลิตแพทย์เพิ่ม 1.3 หมื่นคน จนรุ่นสุดท้ายจบการศึกษาในปี 2576 จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่เมื่อวัดจากส่วนต่างของค่าเฉลี่ยระดับโลกแล้ว ประเทศไทยขาดแคลนแพทย์อีกประมาณ 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน จึงจะเท่ากับค่าเฉลี่ยโลก ดังนั้น จึงคิดบัญญัติไตรยางค์เป็น "จำนวนแพทย์ที่ยังขาดแคลนทั้งหมด คือ เกือบ 7 หมื่นคน"

ดังนั้น เมื่อสัดส่วนของบุคลากรสาธารณสุขต่อประชากรมีไม่เพียงพอ จึงเป็นธรรมชาติที่จะเห็นงานวิจัยแสดงให้เห็นถึง ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านพยาบาล เพราะมีพยาบาลออกจากวิชาชีพในอัตราที่ค่อนข้างสูงและต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถธํารงรักษาพยาบาลที่มีทักษะและประสบการณ์ไว้ได้

ขณะที่พยาบาลวิชาชีพที่มีอายุน้อย มีความตั้งใจที่จะลาออกมากกว่าพยาบาลที่มีอายุมาก โดยการมีเวลาหยุดพักผ่อนและความพึงพอใจในงานที่เพิ่มขึ้น จะมีความสัมพันธ์กับการลดลงของความตั้งใจลาออก และเมื่อพยาบาลมีความเครียดในงานสูงมากขึ้น ก็จะทำให้มีความตั้งใจออกจากวิชาชีพเพิ่มขึ้นด้วย

อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการคาดการณ์กำลังคนและความต้องการด้านบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง การขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางอย่างรุนแรง เกือบทุกสาขาการแพทย์เฉพาะทาง อันเป็นผลมาจากสังคมสูงอายุ

อันสอดคล้องกับผลสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ กรมการแพทย์ พ.ศ. 2562 พบว่า แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ส่วนมากต้องทำงานเกินเวลา ต้องทำงานทั้งที่ป่วย ปริมาณงานต้องรับผิดชอบเกิดขีดจำกัด ส่งผลต่อปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ดังนั้น เนื่องในสัปดาห์ World Health Worker Week นี้ ผู้เขียนจึงขอรณรงค์ให้บุคลากรสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของการหารายได้รัฐเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบสาธารณสุข และการจัดสรรลำดับความสำคัญของงบประมาณใหม่ (budget reprioritization) เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในปัจจุบันที่กำลังขาดแคลน และมีแนวโน้มความต้องการที่จะสูงขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนงบประมาณค่าใช้จ่ายสุขภาพจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้สูงอายุมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่า การเรียกร้องและการขับเคลื่อนจากบุคลากรสาธารณสุข เป็นเรื่องที่เกินบทบาทของประชาคมสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อเสนอเกี่ยวกับการเพิ่มทรัพยากรให้กับระบบสาธารณสุข น่าจะไม่ได้ห่างไกลจากความจริงมากเกินไป

เพราะเรามีตัวอย่างความสำเร็จของการรณรงค์ทางการเมืองโดยบุคลากรสาธารณสุขมาแล้ว เช่น ภาคีแนวร่วมบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอไม่ทน ภาคีบุคลากรสาธารณสุข Nurses Connect DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand) ภาคีเทคนิคการแพทย์ และนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนแพทยสภา ได้สนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ เช่น กลุ่มวัคซีน mRNA อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ได้รับความเคารพและเชื่อถือจากสังคมไทย จึงสามารถที่จะยืนหยัดในการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการร่วมกันแสดงออกเพื่อเรียกร้องการเพิ่มทรัพยากรให้กับระบบสาธารณสุขในฐานะที่เป็นคนไทย ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางศีลธรรม เพื่อประโยชน์ต่อบุคลากรสุขภาพ ระบบสาธารณสุข และประเทศไทยในอนาคต โดยมีเป้าหมายพื้นฐาน คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคน

บรรณานุกรม

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย. 2564. การพัฒนาประสิทธิภาพทางการคลังที่ยั่งยืนสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพ และแบบจำลองการจัดสรรทรัพยากรกำลังคนด้านสุขภาพ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.