ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สปสช. สสส. ภาคีเครือข่าย ตั้งวงแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิกับการเข้าถึงบริการสุขภาพ หารือ 2 วันตกผลึก 5 ข้อเสนอ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดงานเวทีสาธารณะ “คนไทยไร้สิทธิกับการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ” 

ภาคีเครือข่ายได้ประชุมเชิงปฏิบัติการและจัดเวทีเสวนาในประเด็น “การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ: สภาพปัญหา การขับเคลื่อน และอนาคต” เป็นเวลา 2 วัน ก่อนจะสรุปเป็นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” หรือคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ 5 ประเด็น

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 

1.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดการปัญหาคนไทยตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึง สปสช. และภาคประชาสังคม นักวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาล รวมถึงตรวจสอบระบบฐานข้อมูลให้เกิดการพัฒนาสิทธิของคนไทยตกหล่นให้มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร 

2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ต้องให้มีการลงทะเบียนสำรวจสำหรับให้คนไทยตกหล่น จากการทะเบียนราษฎรทั่วทั้งประเทศ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

3.ให้ มท.กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มคนไทยตกหล่นจากระบบการทะเบียนราษฎรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริงและเป็นการเฉพาะ 

4.ระหว่างการพิสูจน์สถานะของคนไทยตกหล่นให้รัฐจัดสรรงบประมาณ (กองทุนคนไทยไร้สิทธิ) ในด้านสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานทางสังคมและสุขภาพให้กับกลุ่มคนไทยตกหล่น 

5.สนับสนุนการพัฒนาโมเดลการทำงานแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิระดับเขตสุขภาพครอบคลุมทั้งประเทศ

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อช่วยกันลดระดับของปัญหาในการดูแลสุขภาพคนไทยไร้สิทธิ อาทิ การเข้าไม่ถึงระบบริการสุขภาพ รวมถึงปัญหาของหน่วยบริการที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะได้

สำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเริ่มทำงานไปทีละกลุ่ม โดยมีจุดเน้นที่การทำงานเชิงระบบเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนไทยตกหล่นที่อาจจะยังอยู่นอกเหนือการดูแลจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุนคืนสิทธิ) และยังสนับสนุนและผลักดันให้องค์กรอื่นๆ ค้นหาและดำเนินการให้คนไทยตกหล่นเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิสถานะ ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป