ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะถูกยกย่องให้เป็น “ฮีโร่” และยังเป็นกำลังหลักที่สำคัญภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็นการปูพรมค้นหากลุ่มเสี่ยง การเคาะประตูบ้านรณรงค์ให้คนในพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยอื่นไ ด้วยการไปรับยาแทน การกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก หรือแม้แต่กระทั่งการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข-แมวในพื้นที่

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นถูกดำเนินการในนาม “จิตอาสา” แต่ใช่หรือไม่ว่า การเป็นจิตอาสาก็มีราคาและต้นทุนที่ต้องจ่าย

The Coverage จะขอพาท่านผู้อ่านทุกท่านมาพูดคุยกับ วิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ ประธานชมรม อสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง 3 สวัสดิการที่รัฐควรจะหนุนเสริมให้แก่บรรดาพี่น้อง อสม. เพื่อให้พร้อมรับมือ และทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

รวมเงินค่าเยียวยา-ค่าป่วยการเป็นก้อนเดียว

วิลัยวัลย์ อธิบายว่าสวัสดิการจากรัฐที่ควรมีให้กับ อสม. อย่างแรกก็คือการผนวกเงินเยียวยาและค่าป่วยการเข้ามารวมเป็นก้อนเดียวกัน เพราะปัจจุบันเงินที่ อสม. จะได้รับจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือเงินค่าป่วยการ และเงินเยียวยา

ขณะเดียวกันวิลัยวัลย์ก็ยอมรับว่า อสม. ทั้งหมดอาจจะไม่ได้ทำงานเต็มที่ 100% เช่น อสม. 100 คน อาจจะทำงานสัก 75 คน ส่วนที่เหลืออีก 25 คน อาจจะทำงานไม่ได้เต็มที่มากนัก ด้วยอายุที่มากขึ้น และสมรรถภาพทางร่างกาย ซึ่ง วิลัยวัลย์ มองว่าเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐเองอาจจะต้องมีเกณฑ์ว่า อสม. ควรมีอายุไม่เกิน 70 ปี

“ถ้าเราต้องการสวัสดิการจากรัฐ เราก็ต้องมีเกณฑ์เพื่อตัวเราเอง เพื่อที่จะให้องค์กรมีความเข้มแข็ง และตอบโจทย์ให้กับสังคม ไม่ใช่ว่าได้ค่าป่วยการเท่านี้ทำงานแค่นี้ ฉะนั้น 75% จะมาถัวเฉลี่ยให้คน 25% นี้ เขาจะได้ว่าเราไม่ได้”

จากความคิดเห็นส่วนตัว วิลัยวัลย์ จึงมองว่าหากต้องการให้รัฐเพิ่มสวัสดิการด้วยการผนวกเงินรวมกันเป็นก้อนเดียวนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องมีเกณฑ์เรื่องอายุ

ทั้งหมดก็เพื่อความสะดวกในการทำงานหรือการลงพื้นที่ของ อสม. เอง

วิลัยวัลย์มองว่ากลุ่มที่ต้องยุติบทบาท อย่างน้อยๆ ก็ยังมีเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุอยู่ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ได้รับเหมือนกัน

“ตอนนี้กลุ่มพี่น้อง อสม. ทั้งประเทศส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 50-70 ปี ถ้าคุณสมบัติตรงนี้ไม่ได้กำหนดลิมิตไว้ก็จะกลายเป็นในจุดหนึ่งของงบประมาณ ซึ่งตรงนี้ก็จะไปลงไปลงทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และค่าป่วยการของพี่น้อง อสม. เป็นการแบ่งสันปันส่วนเพื่อตอบโจทย์ว่าพี่น้อง อสม. มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลชุมชนเบื้องต้น”

เพราะ อสม. ทำงานมือเปล่าไม่ได้

วิลัยวัลย์ เล่าว่า อุปกรณ์ในการทำงานของ อสม. เป็นอะไรที่สำคัญ เพราะการจะลงไปดูแลชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถทำได้ด้วยมือเปล่า เพราะการสำรวจข้อมูลยังต้องใช้กระดาษ ปากกา ซึ่งในการจะดูแลประชาชนไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตามจึงจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ด้วย

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับ อสม. ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) มาแล้ว แต่วิลัยวัลย์มองว่ายังอยากให้มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุดตรวจ ATK ที่ปัจจุบันยังต้องการใช้เป็นจำนวนมาก

“การตรวจด้วย ATK ช่วยประหยัดงบประมาณทั้งในส่วนของประชาชนและโรงพยาบาลรัฐ อย่างน้อยๆ การมอบให้ อสม. ลงไปในชุมชนเพื่อดูว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง หรือใครที่ควรได้รับการตรวจ ATK เบื้องต้นก่อนที่จะต้องส่งไปตรวจ RT-PCR ตรงนี้ก็จะช่วยประหยัดไปได้ระดับหนึ่ง”

วิลัยวัลย์ขยายความว่า ในฐานะที่สวมหมวกเป็นประธาน อสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มี อสม. อยู่ราว 4 แสนกว่าคน จาก 20 จังหวัด และเมื่อลงลึกไปยังชุมชนนอกเหนือจากอุปกรณ์ที่ได้รับจากกรมฯ นั้น อสม. ในพื้นที่เองก็อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่สนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในชุมชน

“สิ่งที่จะได้รับทุกคนก็คืออุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แต่ว่าชุดตรวจยังเป็นอะไรที่ใหม่ เช่น การเรียนรู้ การที่จะใช้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ว่าสิ่งที่รับหนุนเสริมให้ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่อยากจะให้คงไว้ และก็อยากให้มีเพิ่มตามการระบาดของโรคนั้นๆ”

เสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาความรู้

การพัฒนาความรู้ในด้านสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นการพัฒนาทั้ง อสม. คนเก่าและคนใหม่ วิลัยวัลย์ บอกว่า ถือเป็นการทบทวนบทเรียนเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในชุมชน นั่นเป็นเพราะความรู้ส่วนหนึ่งได้มาตั้งแต่ช่วงแรกของการเป็น อสม. ซึ่งบางคนอาจจะหลงลืมและอาจจะใช้วิธีปฏิบัติตามคนรุ่นเก่า ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งก็ไม่ทันกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

แม้ว่า สบส. จะมีการอบรมหรือการพัฒนาในความรู้มาบ้างแล้ว แต่ก็เป็นการให้ความรู้ในกลุ่มเฉพาะ เช่น การอบรม อสม. หมอประจำบ้าน ที่กำลังดำเนินเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่ทำให้ อสม. ได้เรียนรู้มากขึ้น ทว่าผู้ที่เข้าอบรมจะเป็นประธานหมู่บ้าน วิลัยวัลย์จึงมองว่าอยากให้การพัฒนาในส่วนนี้มีงบประมาณครอบคลุมราว 80% ตามจำนวนขนาดของ อสม.

“การพัฒนาศักยภาพให้กับ อสม.  ขอเพิ่มจำนวนโควต้า ให้กับอสม. ที่จะได้รับการอบรม พัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวน อสม. ทั้งประเทศ

“แต่ก็เหมือนว่า พี่น้อง อสม. ก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องในส่วนหนึ่ง แต่บางคนก็อาจจะไม่ได้เข้าสู่กระบวนการของการพัฒนาศักยภาพเลย เว้นแต่ว่าเป็น อสม. ใหม่ๆ ที่ได้รับการอบรมในการเข้าสู่กระบวนการจิตอาสาที่มีจิตสาธารณะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

วิลัยวัลย์ อธิบายว่า สวัสดิการ 3 ข้อจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งที่จะทำให้ อสม. พร้อมตั้งรับกับสถานการณ์ในหลายด้านที่อาจจะเข้ามา เพราะไม่ทราบว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการอาสาสาธารณสุขในชุมชน อย่าง 2 ปีที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่าพี่น้อง อสม. นั้นทำงานจริงๆ

เราภูมิใจในความเป็น อสม.

วิลัยวัลย์ บอกว่า อสม. มีทั้งจุดเด่นและปมด้อย ซึ่งจุดเด่นก็คือการเข้าถึงพื้นที่ได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย และมีข้อมูลที่ถูกต้องของชุมชนอยู่ในมือ แต่ปมด้อยคือการเป็นแค่พนักงานผู้ช่วยผู้ควบคุมโรคประจำหมู่บ้าน ซึ่งบางพื้นที่อาจจะได้รับการแต่งตั้ง แต่บางพื้นที่อาจจะไม่ได้รับ

ขณะเดียวกันถ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคประจำหมู่บ้าน ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน ซึ่งตรงนี้ วิลัยวัลย์ มองว่าเป็นไปไม่ได้เพราะค่าป่วยการที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ค่าตอบแทน

ที่สุดแล้ว อสม. ควรถูกนิยามว่าเป็น “จิตอาสา” หรือ “บุคลากรสาธารณสุข” กันแน่ ในเรื่องนี้ วิลัยวัลย์ ตอบว่า เป็นคำที่ค่อนข้างดราม่าพอควร

“เวลาจะต้องให้ อสม. ทำงานเขาก็จะมองว่า อสม. เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรียกร้องสวัสดิการเราก็จะกลายเป็นจิตอาสา”

อย่างไรก็ดี เป็นความจริงที่ว่า วิลัยวัลย์รู้สึกภูมิใจกับคำเรียกทั้ง 2 และไม่ได้น้อยใจในคำพูดของคนที่มองมา

“เราก็ภูมิใจในความเป็นเรา ความเป็น อสม. ภูมิใจในความเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข”