ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในวันที่ 11 มี.ค. 2563 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคระบาดระดับโลก หรือ 2 เดือนหลังจากพบ “ไวรัสปริศนา” ในเมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีน

ในช่วงแรกของการระบาด องค์ความรู้ทางการแพทย์ของโรคยังมีไม่มาก แต่เดิมผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเชื้อโควิดไม่สามารถแพร่กระจายผ่านมนุษย์ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด

ไม่นานนักหลังจากการประกาศ เชื้อโควิดแพร่กระจายไปทั่วโลก จนวันนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 450 ล้านคน และผู้เสียชีวิตมากกว่า 6 ล้านคน

Adrian Esterman ศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติและระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ย้อนทบทวนสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมสรุปความเข้าใจผิด 3 ข้อที่เกี่ยวกับโรคโควิด และ 3 เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้

ความเข้าใจผิด 3 โรคโควิด

1. การพัฒนาวัคซีนต้านวัคซีนโควิดจะไม่สำเร็จ
เมื่อต้นปี 2563 หลายคนยังกังวลว่าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะนานาประเทศเคยล้มเหลวในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคซาร์สและเมอรส์ ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโควิด

การพัฒนาวัคซีนสองโรคนี้ มีเพียงวัคซีนไม่กี่ตัวที่ผ่านไปถึงกระบวนการทดลองในมนุษย์ แต่ไม่มีวัคซีนตัวใดผ่านการรับรองออกมาใช้ได้จริง นอกจากนี้ กระบวนการผลิตวัคซีนที่ผ่านมาใช้เวลานานหลายปี วัคซีนที่พัฒนาเร็วที่สุดก่อนโควิด คือ วัคซีนกันโรคคางทูม ซึ่งใช้เวลาพัฒนาถึง 4 ปี

ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า บริษัทยาอย่างไฟเซอร์จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จภายใน 12 เดือน ตอนนี้มีวัคซีนต้านโควิดสำหรับใช้เพื่อการฉุกเฉินมากถึง 19 ตัว และ 12 ตัวในนี้ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในสภาวะปกติ

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกมากกว่า 100 ตัวที่อยู่ในช่วงการทดลองตอนนี้ ขณะที่บริษัทไฟเซอร์และโมเดิร์นนาก็กำลังทดลองวัคซีนต้านสายพันธุ์โอไมครอน

2. การใส่หน้ากากไม่จำเป็นในการใช้ชีวิต
ในช่วงต้นปี 2563 ตอนที่นานาประเทศยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิดจำกัด เกิดข้อถกเถียงว่าการใส่หน้ากากจำเป็นต่อการกันเชื้อไวรัสหรือไม่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ ซีดีซี ในตอนนั้นได้ประกาศคำแนะนำให้คนไม่ต้องใส่หน้ากาก

สาเหตุหลักมาจากความกังวลว่าหน้ากากจะขาดตลาด และองค์ความรู้เรื่องโควิดที่จำกัดจำเขี่ยในตอนนั้น โดยแพทย์เชื่อว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ แต่เมื่อเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น ซีดีซีจึงเปลี่ยนคำประกาศแนะนำให้คนใส่หน้ากาก

3. เชื้อโควิดแพร่กระจายผ่านการสัมผัสพื้นผิววัตถุเป็นหลัก
คนเคยเชื่อว่าเชื้อโควิดแพร่กระจายผ่านการสัมผัสพื้นผิววัตถุเป็นหลัก จึงทำให้คนหันมาใส่ถุงมือในช่วงแรกของการระบาด และล้างวัตถุที่เอามาจากนอกบ้าน

แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเชื้อโควิดแพร่ผ่านอากาศ และฝอยละอองของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำลาย และน้ำมูก ยิ่งขาดฝอยละองงเล็กเพียงใด ยิ่งสามารถอยู่ในอากาศได้นาน ก่อนที่จะตกลงพื้น

3 เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้

1. การเกิดขึ้นของสายพันธุ์โควิดใหม่ๆ
เชื้อโควิดยังสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง เพราะเชื้อไวรัสมีแนวโน้มสามารถปรับเปลี่ยนพันธุกรรมได้ดีกว่าในประชากรที่ขาดภูมิคุ้มกัน

ดังนั้น การกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วโลก และในทุกกลุ่มประชากร จึงสำคัญต่อการลดความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่อย่างไฟเซอร์และโมเดิร์นนาก็มีข้อจำกัดในการผลิต เพราะจะผลิตวัคซีนในโรงงานของตัวเองเท่านั้น หรือผลิตในโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตการผลิตจากบริษัท

นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้วัคซีนไม่สามารถกระจายตัวไปยังประเทศกำลังพัฒนา ที่มีทรัพยากรด้านการผลิตวัคซีนจำกัด และต้องพึ่งพาวัคซีนจากโคแวคเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี นักวิจัยก็พยายามพัฒนาวัคซีนที่สามารถผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น นักวิจัยจากศูนย์พัฒนาวัคซีน โรงพยาบาลเด็กแห่งเท็กซัส ในสหรัฐอเมริกา กำลังพัฒนาวัคซีนที่ลิตจากโปรตีนเรียกว่า "คอร์บีเวกซ์" ซึ่งสามารถผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน และไม่ติดสิทธิบัตรยา ล่าสุด รัฐบาลอินเดียอนุมัติให้ใช้วัคซีนตัวนี้เพื่อการฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. ภูมิคุ้มกันลดลง
วัคซีนต้านโควิดสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระยะ 4-6 เดือนเท่านั้น จึงต้องให้วัคซีนกับประชาชนซ้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มคนแก่ และประชากรกลุ่มเปราะบาง

3. ผลกระทบจากโควิดที่ลากยาว
Esterman คาดการณ์ว่าโรคโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน ทั้งยังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวให้กับผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น การคงไว้ซึ่งมาตรการทางสุขภาพจึงมีความจำเป็น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อในระยะยาว

ในออสเตรเลีย รัฐบาลท้องถิ่นในบางแห่งประกาศลดหย่อนมาตราการทางสุขภาพ รวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการใส่หน้ากาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรุนแรงลดลง

นอกจากนี้ มาตรการเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับการเมือง โดยนักการเมืองต้องการเอาใชประชาชน ซึ่งออกมาเรียกร้องขอ “อิสรภาพ” ในการใช้ชีวิตปกติ หลายคนเชื่อว่าเราได้ผ่านช่วงเลวร้ายที่สุด และโควิดได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว

Esterman เชื่อว่าเรายังไม่ถึงจุดที่จะวางใจกับสถานการณ์โรคระบาดได้ เรายังต้องพัฒนาวัคซีนและการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดต่อไป

อ่านบทความต้นฉบับที่
https://theconversation.com/covid-pandemic-2nd-anniversary-3-things-we-got-wrong-and-3-things-to-watch-out-for-177618