ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ. แจง "ยาฟาวิพิราเวียร์" มีคงเหลือทั่วประเทศ 22.87 ล้านเม็ด ทุกจังหวัดยังมียาคงเหลือในคลังยา แนะโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มยาไม่เพียงพอให้ติดต่อ สสจ. พบมีผู้ป่วยโควิดอยู่ในเกณฑ์รับยาในเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 รวม 24 จังหวัด เพียง 26%


นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ไม่เพียงพอ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 ว่า ยืนยันขณะนี้ประเทศไทยยังมียาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหา ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2565 อภ. ได้ผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เข้ามารวม 128.1 ล้านเม็ด เฉพาะช่วงวันที่ 1-28 มี.ค. 2565 มีการผลิตและจัดหายาแล้ว 73.9 ล้านเม็ด ส่งกระจายยาให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 72.52 ล้านเม็ด

จากข้อมูลถึงวันที่ 28 มี.ค. 2565 คงเหลือยาทั่วประเทศ 22.87 ล้านเม็ด โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มียาคงเหลือมากที่สุด 5.12 ล้านเม็ด รองรับผู้ป่วยได้ 1.02 แสนราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มียาคงเหลือเพียงพอรองรับผู้ป่วยเช่นกัน  

สำหรับส่วนกลางมีการจัดหายา และกระจายยาให้แก่ทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 2565 จะมียาอีก 15 ล้านเม็ด วันที่ 3-9 เม.ย. 2565 อีก 11.6 ล้านเม็ด และวันที่ 10-16 เม.ย. 2565 จำนวน 20 ล้านเม็ด

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ทุกจังหวัดได้รับการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาบางพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การบริหารจัดการยาไม่คล่องตัว หากโรงพยาบาลใดพบแนวโน้มว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะไม่พอใช้ สามารถแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อบริหารจัดการยาให้โรงพยาบาลมีใช้อย่างต่อเนื่องได้

ทั้งนี้ การใช้ยาจะเป็นไปตามแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 ของกรมการแพทย์ ที่กำหนดโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือไม่มีความเสี่ยงจะไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาตามอาการหรือยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งจากการติดตามการรักษาผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 รวม 24 จังหวัด พบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพียง 26%

“กระทรวงสาธารณสุขยังจัดหายารักษาอื่นๆ ได้แก่ ยาเรมดิซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับแพทย์พิจารณาในการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับอาการและปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยด้วย" นพ.ธงชัยกล่าว