ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในขณะที่ “วัณโรค” ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชากรโลก และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับสอง รองจากโควิด 19

ทั้งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประกาศให้วัณโรค เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เมื่อปี 2536 เช่นเดียวกับที่ประกาศกับโควิด 19 ในปี 2563

แต่ทว่า งานวิจัยและพัฒนาเพื่อขจัดวัณโรคกลับเดินหน้าอย่างล่าช้า ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโควิด 19

Richard E. Chaisson ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัณโรค มหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์ เผยแพร่บทความบน The Conversation เมื่อเร็วๆ นี้ โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการตอบสนองของนานาประเทศต่อวัณโรคและโควิด อันส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาและวิจัยด้านวัณโรค

ในปี 2536 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้วัณโรค เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ พร้อมขอให้นานาประเทศร่วมมือกันลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากวัณโรค ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้าน

เกือบ 3 ทศวรรษหลังจากนั้น โลกเผชิญกับการระบาดของโควิด โดยองค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิดเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในเดือน ม.ค. 2563

สำหรับโควิด การตอบสนองต่อโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ผลิตคิดค้นยา

ภายใน 2 สัปดาห์หลังประกาศภาวะฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลกจัดประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางโรดแมปงานวิจัยและพัฒนาต้านโควิด รัฐบาลหลายประเทศทุ่มเงินให้กับงานวิจัยทุกระดับ บริษัทยาเร่งพัฒนาคิดค้นอุปกรณ์การตรวจและวินิจฉัยโรค และวัคซีนต้านโควิด 

ในอีกด้านหนึ่ง วัณโรคกลับไม่ได้รับการปฏิบัติเสมือนภาวะฉุกเฉิน ผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนสูงกว่า 10 ล้านคนต่อปี และได้รับความสนใจน้อยลงในระหว่างที่โควิดระบาด แม้วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากโควิด 

ในปี 2563 ขณะที่ทรัพยากรในระบบสุขภาพเกือบทั้งหมดถูกผันไปให้งานรับมือและต้านโควิด การค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคกลับลดลงกว่า 20% อัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคยังเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 1.5 ล้านคนในปีเดียวกัน 

ความแตกต่างระหว่างการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 และวัณโรค เห็นชัดในสาขางานวิจัยและพัฒนา 
ข้อมูลจากงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศกรรมศาสตร์ และการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา จัดในเดือน ก.ค. ปีที่ผ่านมา ระบุว่าการพัฒนาเครื่องมือตรวจเชื้อโควิดสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น จากการระดมมันสมองและทรัพยากร โดยเฉพาะเม็ดเงินสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาจากรัฐบาลในประเทศพัฒนา     

ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ขั้นตอนการสรุปแนวปฏิบัติ พิจารณาข้อกฎหมายสำหรับการทดลองใช้เครื่องมือกับมนุษย์ จนกระทั่งเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 3  

ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิดนั้น ใช้เวลาน้อยกว่า 2 เดือนในขั้นตอนการศึกษาลำดับพันธุกรรมเชื้อโควิดและการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ใช้เวลาอีกเพียง 4 เดือนเพื่อก้าวเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 3 

ขณะที่องค์กรอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้การรับรองวัคซีนสำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในเวลาเพียง 11 เดือน หลังจากการคิดค้นวัคซีน
 
ในทางตรงข้าม การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรคใช้เวลาพัฒนาและทดลองนานกว่า 20 ปี โดยเริ่มต้นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในปี 2547 และจะเริ่มการทดลองในระยะที่ 3 ปีหน้า โดยยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะได้รับการรับรองเมื่อไร  

เม็ดเงินลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาด้านโควิดมีมากถึง 5 ล้านล้านบาทในปี 2563  ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัณโรคมีเงินลงทุนเพียง 2.9 หมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่วัณโรคยังคร่าชีวิตคนนับล้านในแต่ละปี 

Chaisson ให้ความเห็นว่า กระบวนการวิจัยและพัฒนาด้านวัณโรคเป็นไปอย่างล่าช้า มิใช่เพียงเพราะเม็ดเงินลงทุนจำกัด แต่ยังเป็นเพราะกระบวนการพิจารณาและรับรองงานวิจัยที่มักติดขัด ใช้เวลานาน เพราะข้อกฎหมายจุกจิกและระบบราชการที่พิจารณาล่าช้า ขณะที่งานวิจัยโควิดสามารถกระโดข้ามขั้นตอนเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งหมดนี้มาจากมุมมองของสังคมและประชาคมโลก ที่ไม่เห็นวัณโรคเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงตอบสนองต่อโรคนี้ต่างจากโควิดอย่างมาก

แต่อีกด้านหนึ่ง อัตราความเร่งในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์เพื่อขจัดโควิด ก็แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะนำมาปรับใช้กับโรคอื่นๆ หากเพียงทุกองคาพยพร่วมมือและทุ่มทรัพยากรให้กับงานวิจัยและพัฒนาโรคนั้นๆ 

Chaisson เสนอว่าการเร่งกระบวนการงานวิจัยและพัฒนาด้านวัณโรคนั้น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติของรัฐบาล บริษัทยา ไปจนถึงองค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นวัณโรคเป็นประเด็นเร่งด่วน และเป็นโรคระบาดอันตรายเช่นเดียวกับโควิด ภาคส่วนเหล่านี้จึงจะเพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา และกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนในการขจัดวัณโรค

นอกจากนี้ ยังต้องลดระยะเวลาในการพิจารณาเงินลงทุน ลดขั้นตอนการพิจารณาเอกสารและกฎหมายที่ยุ่งยาก ซึ่งชะลอความก้าวหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการรักษาและป้องกันวัณโรค
รัฐบาลเองก็ต้องนำวัณโรคบรรจุในยุทธศาสตร์การตอบสนองต่อโรคระบาดระหว่างประเทศ การใช้กลไกความร่วมมือภายใต้องค์การอนามัยโลกมีความจำเป็น เพื่อสร้างพันธสัญญาขจัดวัณโรคในระดับโลก 

เพราะวัณโรคเองก็ถือได้ว่าเป็นโรคระบาดที่คุกคามชีวิตของประชาชนหลายล้านคน หากนานาประเทศไม่มองเห็นความเร่งด่วนนี้ ก็มีแนวโน้มที่เราจะเห็นโรคนี้คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 20 ล้านคนภายในสิ้นปีศตวรรษนี้