ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้โรคระบาดโควิด 19 ยังไม่จบลง แต่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างคลายมาตรการควบคุมโรคลง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตประจำวันใกล้เคียงปกติมากที่สุด

Christina Pagel ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ให้ความเห็นในบทความเผยแพร่ผ่าน The Conversation ว่า อาจต้องใช้เวลาอีกสักพัก หรือจนกว่าเชื้อโควิดจะกลายพันธุ์เทียบเคียงได้กับเชื้อไข้หวัดทั่วไป ชีวิตปกติแบบก่อนเกิดโรคระบาดนั้นจึงจะกลับมา

อย่างไรก็ดี เป็นโชคดีของมนุษย์ที่พัฒนาระบบสาธารณสุขมายาวนานต่อเนื่องกว่า 150 ปี จึงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของโรคที่เคยคร่าชีวิตคนไปมาก ไม่ว่าจะเป็น โรคขาดสารอาหาร โรคหัด โรคมะเร็ง หรือแม้แต่โรคจากการสูบบุหรี่

มนุษย์ยังได้พัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพ เช่น การคิดค้นผลิตวัคซีน และเทคโนโลยีลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดการกับโรคโควิด 19 จึงเป็นหนึ่งในหลากหลายความท้าทายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่สุดท้ายแล้ว มนุษย์จะสามารถหาทางออกให้กับความท้าทายนี้

แสงสว่างที่ปลายทางพอจะเห็นแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนานาประเทศสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด 19 และนำองค์ความรู้นี้มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมกับการคิดค้นวัคซีน วิธีการรักษา และนวัตกรรมต่างต่างนานาที่ควบคุมการระบาด

Pagel เสนอองค์ความรู้ 8 ข้อ ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับโควิดได้ในตอนนี้ และอนาคตข้างหน้า

1. มนุษย์เรียนรู้ว่าการอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท เช่น พื้นที่นอกอาคาร ค่อนข้างปลอดภัยและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกันภายในอาคารได้เช่นกัน ด้วยการปรับปรุงระบบระบายอากาศในตัวอาคาร แม้จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุน แต่ก็มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงแพร่กระจายของเชื้อโควิดผ่านอากาศ

2. การคิดค้นวัคซีนต้านโควิด คือจุดเปลี่ยนของโรคระบาดครั้งนี้ เพราะช่วยลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิดได้ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศยังคงต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร และต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านสายพันธุ์โควิดตัวใหม่ๆ

3. หลายประเทศเรียนรู้ว่า การตอบสนองต่อโรคระบาดอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีการที่หยุดยั้งการกระจายตัวของเชื้อข้ามกลุ่มประชากรและเขตแดนประเทศได้ดีที่สุด ทุกประเทศจึงควรลงทุนพัฒนาระบบสอบสวนติดตามโรค เพิ่มศักยภาพตรวจจับโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

4. เกือบทุกประเทศมีระบบสอบสวนติดตามโรคติดต่ออยู่แล้ว ซึ่งใช้ตอบสนองต่อโรคที่มีอยู่เดิม เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด ทั้งยังมีแผนผ่อนคลายผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาด ประเทศเหล่านี้เพียงต้องบรรจุโรคโควิด 19 เข้าสู่ระบบสอบสวนติดตามโรคเดิม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือโคิสายพันธุ์ใหม่

5. เรายังมีองค์ความรู้ด้านผลกระทบจากการติดเชื้อโควิดในระยะยาวไม่มากนัก แต่เราก็พอรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ที่อวัยวะบางส่วนในร่างกายโดนทำลายในระหว่างที่เป็นโรค จึงควรทำงานวิจัยในด้านนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบของโควิด 19 ต่อร่างกายในระยะยาว

6. แต่เดิม ระบบสุขภาพในหลายประเทศมีศักยภาพจำกัดอยู่แล้ว เมื่อยิ่งเจอวิกฤติ ยิ่งทำลายศักยภาพในการฟื้นตัว การเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในระบบสุขภาพจึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

7. กลุ่มคนเปราะบางได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่สามารถกักตัวที่บ้าน เพราะอยู่แออัดร่มกับสมาชิกครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะงานที่ไม่สามารถทำจากบ้านได้ และจำเป็นต้องใช้รถสาธารณะในการเดินทาง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งสิ้น

ประชากรกลุ่มนี้มักมีสภาวะสุขภาพเดิมแย่อยู่แล้ว จากวิถีชีวิตที่ขาดสุขอนามัย ไม่สามารถซื้อความสะดวกสบายได้ จึงมีแนวโน้มมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มเข้าไม่ถึงวัคซีนต้านโควิดอีกด้วย

นี่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากร ที่รัฐบาลในทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ การแก้ไขปัญหานี้มิใช่พิจารณาเพียงความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงระบบสุขภาพ แต่ยังต้องมองปัญหาสิทธิด้านที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และคุณภาพการศึกษา จึงจะลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม สร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม ทำให้สมาชิกจากทุกกลุ่มประชากรสามารถรับมือผลกระทบจากโรคระบาดในอนาคต

8. เป็นที่แน่ชัดว่าโรคระบาดยังไม่มีวันจบ และยังคงมีแนวโน้มเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทุกประเทศจึงต้องยกระดับแผนจัดการโรคระบาดระดับชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยกเครื่องระบบสอบสวนและติดตามโรค ที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด เกิดองค์ความรู้ที่นำมาใช้ออกแบบนโยบายตอบสนองต่อโรค

แผนระดับชาตินี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มงวดที่สร้างผลกระทบมหาศาล เช่นที่เห็นจากการทำมาตรการการปิดเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Pagel สรุปตอนท้ายของบทความว่า การปฏิเสธที่จะอยู่ร่วมกับโควิด คือความเสี่ยงที่จะพาสังคมไปสู่มาตรการควบคุมโรคอันเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง มนุษย์จึงต้องต้องก้าวเดินออกจากสภาวะปฏิเสธความจริง และยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้วจากวันแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรก

การยอมรับครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถควบคุมโรคด้วยมาตรการที่สมเหตุสมผล สามารถปรับพฤติกรรมอยู่ร่วมกับเชื้อโควิดได้อย่างปลอดภัย ไปพร้อมๆ กับการมีชีวิตอิสระและสุขภาพดี