ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.รณรงค์ 21 มีนาคม “วันดาวน์ซินโดรมโลก” ให้สาธารณชนตระหนัก สนับสนุนพัฒนาการเด็กให้ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ พร้อมชูสิทธิประโยชน์บัตรทอง คัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พร้อมขยายจำนวนครั้งฝากครรภ์ไม่จำกัด


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีถือเป็น วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down's syndrome Day) ซึ่งในวันนี้องค์การดาวน์ซินโดรมทั่วโลกจะจัดและเข้าร่วมงานที่ต้องการให้สาธารณชนเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรม โดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 ที่ประเทศสิงคโปร์ และจัดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยสมาคมดาวน์ซินโดรม

สำหรับเด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันในลักษณะเฉพาะตัว อันเกิดจากยีนหรือสารพันธุกรรมบนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินเป็น 3 แท่ง ซึ่งเป็นที่มาของวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี โดยเด็กที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม จะมีปัญหาสุขภาพรวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนพัฒนาการต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากและกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งมีหลักการสำคัญคือดูแลคนไทยให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษา บริการสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นเท่าที่เด็กสามารถจะทำได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณรายปีให้กับ สปสช. เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้ โดยในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้จัดหมวดงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช. ได้จัดหมวดหมู่สิทธิประโยชน์ออกเป็นตามช่วงวัย ประกอบด้วย 1. สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 2. กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี 3. กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี 4. กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และ 5. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในส่วนการดูแลการตั้งครรภ์ในสิทธิประโยชน์ของบัตรทองนั้น ล่าสุดในปีนี้ได้มีการขยายกำหนดจากเดิมฝากครรภ์ 5 ครั้ง เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดตามดุลยพินิจของแพทย์

พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้แยกการจ่ายสำหรับบริการฝากครรภ์และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่จำเป็นออกจากกัน รวมถึงการจ่ายเฉพาะการตรวจและบริการพิเศษ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้อย่างสะดวกและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด โดยให้บริการตรวจ Lab ประกอบด้วย ตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจคัดกรองโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV และ/หรือ DCIP) และหมู่โลหิต (ABO/Rh) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจสุขภาพช่องปากและบริการขัดทำความสะอาดฟัน การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งถัดมา และตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ซ้ำอีกครั้งเมื่อใกล้คลอด ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้พ่อ-แม่สามารถวางแผนการดูแลครรภ์ หรือเตรียมความพร้อมด้วย สปสช.จึงขอเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิการรักษาสามารถไปรับบริการฝากครรภ์ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของท่านเพื่อรับการดูแลตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตามมาตรฐานการฝากครรภ์คุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข 

“ส่วนกลุ่มของเด็กแรกเกิด เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะได้รับการตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย โดยในปีนี้ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก 40 โรคด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ซึ่งปัจจุบันตรวจประมาณ 24 โรค ให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยจากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์บัตรทองที่มอบให้กับคนไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์” นพ.จเด็จ กล่าว 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso