ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้วที่โลกใบนี้ต้องต่อสู้กับ “โควิด-19” โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้าและยังหมายรวมไปถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ “หมอคนที่หนึ่ง” ที่ต้องทำหน้าที่อย่างเหนื่อยล้าจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับยกย่องให้เป็น “ฮีโร่” ในวิกฤตการณ์

เนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 20 มี.ค. ของทุกปี “The Coverage” จะพาผู้อ่านทุกท่านมาดูการทำงานของ อสม. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน รวมไปถึงความต้องการในเรื่องของค่าตอบแทนอีกด้วย

วิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ ประธานชมรม อสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมฉายภาพการทำงานของ อสม. ว่า บทบาทหน้าที่หลักของ อสม. คือการคัดกรองผู้ที่เข้า-ออกในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ฉะนั้น อสม. จะรู้และรายงานต้องว่ามีใครบางที่มาจากพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของ ศบค. จังหวัด ให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบ รวมไปถึงการลงพื้นที่คัดกรองในชุมชน-ค้นหาผู้เข้าเกณฑ์รับวัคซีนอีกด้วย

ฉะนั้นการดูแลตรงนี้กลุ่มเสี่ยงก็ไม่เกิดขึ้น และสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงการคัดกรองผู้ที่มีสัมผัสเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ดี บางครั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ได้คิดว่าตนเองนั้นป่วย จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมถึงจะต้องกักตัวเหมือนผู้ป่วย ในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ในบางครั้งหากการอธิบายไม่เป็นผลก็จำเป็นจะต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายอยู่ในมือมากำกับดูแล

วิลัยวัลย์ เล่าว่า ทุกๆ หมู่บ้านจะมีประธาน อสม. อยู่แล้ว เพราะในทำเนียบจะมีประธานหมู่บ้าน-ประธานตำบลคอยส่งต่อกันเป็นโครงสร้างในการทำงาน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้การประสานงานสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

มากไปว่านั้น ลักษณะการทำงานของ อสม. จะควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รับผิดชอบร่วมกันตามพื้นที่ที่แบ่งไว้ เพราะ อสม. ถือได้ว่าเป็นหมอคนที่ 1 ส่งต่อให้กับหมอคนที่ 2 นั่นก็คือเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และส่งต่อให้กับหมอคนที่ 3 นั่นก็คือแพทย์จากโรงพยาบาล ทำให้ภาพรวมของการทำงานสามารถส่งต่อได้อย่างเป็นระบบ

เรามีพี่เลี้ยงเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เราจะทำงานคู่กัน อสม. เป็นนักปฏิบัติในพื้นที่ แล้วก็เป็นคนที่เข้ารั้วบ้านชาวบ้านที่ตนเองดูแลอยู่ ความละเอียดของข้อมูลชาวบ้านแต่ละคนเขาจะมีอยู่แล้ว แต่ช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่ลงตัวเรื่องของการป้องกันหรือคัดกรอง แต่พอไปสักระยะทุกคนก็จะเข้าใจบริบทว่าเราต้องทำหน้าที่แบบไหน

นับเป็นความโชคดีที่ อสม. ในเขต 9 ทั้ง 4 จังหวัดได้รับการดูแลจาก สบส. ผ่านการบริหารจัดการของศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา) ในการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย สำหรับลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ด้วยการจัดสรรให้ตามตำบล และ รพ.สต.

ส่วนเรื่องสวัสดิการอื่นๆ ก็จะมีเงินเยียวยาที่รัฐบาลให้ที่เป็นเดือนละ 500 บาท เขาก็มีความภูมิใจที่ได้รับ อย่างน้อยไม่ได้เป็นค่าตอบแทนแต่เป็นเงินเยียวยาอยู่ในภาวะโรคระบาด

วิลัยวัลย์ บอกว่า ส่วนตัวคิดว่าค่าป่วยการ-เงินเดือน-ค่าเสี่ยงภัยเพียงพอในระดับหนึ่ง เพราะเทียบจากจำนวนแล้ว จะเห็นว่า อสม. มีเยอะ หากเพิ่มก็อาจจะเกิดแรงกระเพื่อมในสังคมได้ เพราะจำนวน อสม. มีกว่าล้านชีวิต ยกตัวอย่างในพื้นที่เขต 9 เรามี อสม. ถึง 129,320 สมมติว่าเพิ่มอีกคนละ 1 บาท เท่ากับว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 129,320 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่ดูแล อสม. หรือกระทรวงฯ ก็เล็งเห็นความสำคัญของ อสม. โดยจะมีการจัดอมรมเชิงปฏิบัติการ หรืออบร่วมร่วมกับหน่วยงาน-บริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้และพัฒนาศักยภาพด้านสาธารสุข รวมไปถึง อสม. ก็ได้ผ่อนคลายซึ่งก็นับว่าเป็นโบนัสเช่นเดียวกัน

แต่ว่าความคาดหวังต่อการที่เราจะทำหน้าที่ตรงนี้ เราอยากจะให้ทางรัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของพี่น้อง อสม. ทั้งหมด คำว่าเงินเยียวยาก็อยากให้ปรับจากเงินเยียวยาเป็นเงินค่าป่วยการ จะได้ไม่ต้องขอมติจากคณะรัฐมนตรีทีละ 6 เดือน คือพี่น้อง อสม. ก็จะไม่มั่นใจว่าจะได้รับไหม แต่ก็ไม่ได้คิดว่าต้องได้ขนาดนั้น ในความเห็นส่วนตัวก็อยากให้ผนวกเป็นเงินค่าตอบแทนมากกว่า เพื่อให้ขาเกิดความมั่นใจมากขึ้น วิลัยวัลย์ ระบุ

ทางด้าน ชลศรา โพธิ์พิณ ประธาน อสม. ตำบลห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา สะท้อนภาพการทำงานตลอด 2 ปีในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาเริ่มมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น จนมาถึงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ตำบลห้วยบงต้องรับศึกหนัก เพราะมีผู้ป่วยโควิดมากถึง 31 รายภายในวันเดียว

ความหนักหนาเกิดจากการที่ต้องระดมแบ่ง อสม. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลงพื้นที่สอบสวนไทม์ไลน์ 14 วันย้อนหลัง และค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงภายในวันนั้นเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด และในวันเดียวกันนั้นก็ยังต้องส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาตัวในชุมชน (Community isolation) ให้ครบ 31 ราย ซึ่งในตอนนั้นเธอมีเพียงชุดกันฝนเพื่อใส่ป้องกันเชื้อเท่านั้น เพราะชุด PEE ได้ถูกส่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ใส่ก่อน เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากกว่า

ในวันนั้นเรากินข้าวเช้าตอนหกทุ่ม เพราะเราต้องใส่ชุดป้องกัน ถ้าเรากินน้ำดื่มน้ำเราต้องเปลี่ยนชุดเปลี่ยนทุกอย่าง ตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน หมอและเจ้าหน้าที่จะได้กินข้าวกันตอน 4-5 ทุ่ม

ชลศรา อธิบายให้ฟังอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคในเรื่องของระยะทาง เพราะตำบลห้วยบงนั้นอยู่ไกลกว่าโรงพยาบาลด่านขุนทดที่เป็นโรงพยาบาลอำเภอกว่า 40 กิโลเมตร นั่นทำให้ อสม. และเจ้าหน้าที่จะต้องปรึกษากันตลอดเวลาเพื่อตั้งรับเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่สัญญาณโทรศัพท์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การทำงานเกิดอุปสรรค เพราะใน ต.ห้วยบงบริเวณพื้นที่ รพ.สต. หนองใหญ่สัญญาณโทรศัพท์จะไม่ค่อยติด ทำให้เวลาต้องโทรหาผู้สัมผัสเสี่ยงที่ต้องกักตัวที่บ้านต้องอาศัย อสม. ที่อยู่ในพื้นที่ต่อสายกลับมา หรือถ้าอยู่ในละแวกใกล้เคียงก็จะลงพื้นที่ไปหาด้วยตัวเอง ซึ่งเธอบอกว่าส่วนมากจะเป็นอย่างหลัง เพราะการสื่อสารโดยตรงจะทำให้รู้ความต้องการของกันและกันมากกว่า

ทว่าการต้องคุยกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงบางครั้งก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น นั่นทำให้ต้องมีการพึ่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยซ้ำ เพราะบางคนก็ไม่ได้เชื่อ อสม. เพราะเขามองว่า อสม. ไม่ใช่แพทย์

ช่วง 31 รายในวันเดียวท้อมาก เพราะเราจะต้องทะเลาะกับกลุ่มเสี่ยง ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำอย่างไรไม่ให้วงกว้าง ตอนนั้นท้ออยู่ 3-4 วัน เจ้าหน้าที่ก็ท้อ โดนโพสต์ด่า โดนโทรศัพท์ด่า ทุกคนท้อหมด เราแต่ก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าตื่นมาเดี๋ยวก็หาย

แต่ความตึงเครียดเหล่านั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิดความไม่เชื่อก็ถูกคลาย กลายเป็นว่าชาวบ้านเชื่อและรัก อสม. มากขึ้น

ชลศรา เล่าว่า ในช่วงนั้น อสม. ต้องทำงานหนักมาก เพราะในพื้นที่ไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยโควิดเท่านั้น แต่ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ส่งอายุที่ อสม. ต้องคอยส่งยา-ดูแลถึงที่บ้าน นั่นทำให้ในฐานะประธานเธอจัดแจงการทำงานออกเป็นกลุ่ม เพื่อที่จะดูแลชาวบ้านในชุมชนได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

อสม.บางคนก็เหนื่อยแต่เขาชอบก็อาสามาทำ บางคนก็มีทะเลาะกับครอบครัว และอีกอย่างตัวเราทุ่มเทกับงานนี้มาก ลูกน้องที่เป็น อสม. ก็จะเห็นว่าเราเต็มที่กับเขา

ชลศรา บอกว่า ที่ผ่านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ได้เข้ามาดูแล อสม. ไม่ว่าจะเป็นการให้อุปกรณ์เพื่อป้องกัน เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้ อสม. ต้องใช้งบประมาณของตัวเอง รวมไปถึงมีนักการเมืองในพื้นที่ระดมทำประกันโควิดให้แก่ อสม. ทุกคนในอำเภอ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของเธอคืออยากให้ขึ้นค่าป่วยการของ อสม. มากกว่า 1,000 บาท เพราะบางครั้ง อสม. ก็ทำงานโดยไม่ได้ค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นงานบวช-งานแต่ง-งานศพ รวมไปถึงการระดมฉีดวัคซีนสุนัข และแมวอีกด้วย

อุปกรณ์ที่ดูแลป้องกัน อสม. อันนี้เขามีอยู่ เหลืออย่างเดียวคืออยากได้ค่าป่วยการที่มากไปกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ 1,000 บาท บางคนก็ไม่ได้รับ 1,000 บาท เพราะจะต้องหักค่าฌาปนกิจ 200 – 300 ถ้าครั้งไหนต้องจ่ายค่าฌาปนกิจของจังหวัดของอำเภอ เดือนนั้นค่าป่วยการหมด บางคนรอค่าป่วยการไปจ่ายค่าไฟ เลยอยากได้สิ่งนี้มากที่สุด ชลศรา ระบุ