ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวลายามบ่ายของวันที่ 9 มี.ค. 2565 ตามเวลาท้องถิ่นประเทศยูเครน โรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูโปลที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ถูกโจมตีทางอากาศโดยกองทัพรัสเซีย แม้ว่าเมืองมาริอูโปลจะเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ที่รัสเซียบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเพื่ออพยพพลเรือนก็ตาม 

จากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ระบุว่า เหตุการณ์การโจมตีในครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 17 ราย ในขณะที่หัวหน้าสำนักงานปกครองแคว้นโดเนตส์ (รวมเมืองท่ามาริอูโปล) เปิดเผยว่า ยังไม่มีการรายงานแน่ชัดว่าพบเด็กเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้

ทว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลแม่และเด็กในมาริอูโปลเป็นครั้งแรก จากคำบอกเล่าของ Viktor Liashko รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขยูเครน ระบุว่า นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร ทำให้โรงพยาบาลกว่า 61 แห่งทั่วยูเครนจำเป็นต้องหยุดให้บริการแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา Hans Kluge ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรปได้ออกมาประณามการโจมตีระบบสุขภาพครั้งนี้ โดยระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลไม่ควรเป็นเป้าในการโจมตี แม้กระทั่งในภาวะวิกฤตและความขัดแย้ง เช่นเดียวกันกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่ออกมาบอกว่า การโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลนั้นเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาโดยตรง

อย่างไรก็ดี องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนยังได้ออกมาระบุผ่านเว็บไซต์ว่า จากการพูดคุยกับโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ให้การรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้นั้นพบว่า ความขัดแย้งนี้นำมาสู่ความกดดันในการอำนวยการรักษา เพราะเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆ นั้นมีจำกัด

หลายโรงพยาบาลกำลังประสบปัญหา เพราะยา และของใช้สำคัญนั้นหาได้ยากขึ้นในพื้นที่ สวนทางกับความต้องการที่มากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลบางแห่งทางฝั่งตะวันออกของยูเครนยังรายงานว่านอกเหนือจากการดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังพบอีกว่ายาที่ต้องใช้รักษาผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น อินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเริ่มขาดแคลน เช่นเดียวกันกับเมืองมาริอูโปลที่ร้านค้าต่างๆ เริ่มหยุดให้บริการ ร้านขายยาเริ่มขาดแคลนยาในคลัง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือการเข้าถึงน้ำสะอาด สอดคล้องกับทางตอนใต้ของยูเครน ที่ระบบสุขภาพถูกรบกวนด้วยภัยสงคราม และในหลายโรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนอุปกรณ์-เวชภัณฑ์

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า เราได้ทำการส่งอุปกรณ์-เครื่องมือทางการแพทย์-เวชภัณฑ์ไปแล้ว และกำลังจะเร่งทยอยส่งรอบต่อไปอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี WHO ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์การโจมตีโรงพยาบาล สถานพยาบาล และรถพยาบาลว่ามีจำนวนตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ออกซิเจน อุปกรณ์​การป้องกันต่างๆ รวมไปถึงเครื่องมือผ่าตัดเริ่มน้อยลง  ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการ WHO ก็เคยออกมาระบุว่าโรงพยาบาลส่วนมากอาจไม่มีออกซิเจนสำรองเหลือในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า และยูเครนจำเป็นจะต้องใช้ออกซิเจนเพิ่ม 25% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการโจมตี

ท่ามกลางไฟสงครามที่กำลังลุกโชนในขณะนี้ Shorena Basilaia เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยูเครน ออกมาระบุว่า ขณะนี้เรายังมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาด 270 เตียงแห่งหนึ่ง บริเวณแนวปะทะ ที่ตอนนี้ยังไม่มีการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเธอก็ได้หวังว่าเหตุการณ์แบบนั้นคงจะไม่เกิดขึ้น เพราะสงครามมักจะตามมาด้วยผลกระทบด้านลบเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ระบบสุขภาพ

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศยูเครนมีผู้ติดเชื้อโควิดสะสมกว่า 4.8 ล้านราย ในขณะที่ยอดผู้เสียสะสมอยู่ที่ 1.06 แสนราย (ข้อมูลวันที่ 12 มี.ค. 2565) ซึ่ง Richard Horton หัวหน้าบรรณาธิการวารสารทางการแพทย์ The Lancet ก็ได้เผยแพร่เอกสารวารสารฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยออกมาแสดงความเป็นห่วงหากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะประชากรในยูเครนที่รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็มมีเพียง 35% ของประชากรทั้งหมด 44.13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2563)

ที่มา : U.S.News , pharmaceutical-technology , msf.org