ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ สสส. และองค์กรภาคี ช่วย “คนไทยตกหล่น” จากสถานะทางทะเบียนกว่าแสนคนทั่วประเทศ มุ่งแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิ เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมจัดเวทีสาธารณะ "คนไทยไร้สิทธิกับการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ" เพื่อทบทวนปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาด้านสิทธิและสถานะทางทะเบียน รวมถึงกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงรูปธรรมในอนาคต มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยตกหล่นที่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.ร่วมกับ สสส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์กรภาคีอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการลดปัญหาต่างๆ อาทิ หน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้จากปัญหาด้านสิทธิสถานะของคนไทยตกหล่น การเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ปัญหาคนไทยตกหล่นจากสิทธิสถานะที่นำไปสู่ปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ โดยจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 - 2564)

ซึ่งขณะนี้เริ่มการทำงานไปทีละกลุ่ม มีจุดเน้นที่การทำงานเชิงระบบเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนไทยตกหล่นที่อาจจะยังอยู่นอกเหนือการดูแลจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุนคืนสิทธิ) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนและผลักดันให้องค์กรอื่นๆ ค้นหาและดำเนินการให้คนไทยตกหล่นเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิสถานะ ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ 

ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงภารกิจของ สสส.ในการสนับสนุนการทำงานประเด็นคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนว่า การทำงานของ สสส.มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะ ผ่านการทำงานส่งเสริม ป้องกันด้านสุขภาพทางตรง และการทำงานกับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social determinants of health: SDH) ซึ่งสถานะทางทะเบียนก็เป็นปัจจัยทางสังคมหนึ่งที่ สสส.และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญในการทำงาน

ทั้งนี้จากการทำงานที่ผ่านมาของ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย คาดการณ์ว่ายังมีกลุ่มคนไทยตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนอีกจำนวนกว่าแสนคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและในชุมชนหลายแห่ง โดยมีสาเหตุ เช่น 1) พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน 2) ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ 3) ถูกจำหน่ายด้วย ทร.9 ไปอยู่ที่ทะเบียนกลาง เป็นต้น ทำให้กลุ่มคนไทยตกหล่นเหล่านี้เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการสังคมอื่นๆ อันเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาวะที่ดี  

“สสส.เล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของคนไทยตกหล่นหรือคนไทยไร้สิทธิเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันขจัดปัจจัยทางสังคมที่เป็นเงื่อนไข หรืออุปสรรคในการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ สสส.ได้ให้การสนับสนุนภาคี ทั้งในการสร้างกลไกประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไทยตกหล่น อาทิ ระบบการสำรวจข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลคนไทยไร้สิทธิ รวมทั้งการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิ” นางภรณี กล่าว 

ทั้งนี้ในเวทีประชุมฯ กลุ่มคนไทยไร้สิทธิ มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” หรือคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ 5 ข้อ คือ

1. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดการปัญหาคนไทยตกหล่นจากทะเบียราษฎร มท. พม. สธ. สปสช. ศธ. ภาคประชาสังคม, ภาคประชาชนเจ้าของปัญหา, ภาควิชาการ เพื่อทำข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาล รวมถึงตรวจสอบระบบฐานข้อมูลให้เกิดการพัฒนาสิทธิของคนไทยตกหล่นให้มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร 

2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ต้องให้มีการลงทะเบียนสำรวจสำหรับให้คนไทยตกหล่น จากการทะเบียนราษฎรทั่วทั้งประเทศ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

3.ให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มคนไทยตกหล่นจากระบบการทะเบียนราษฎรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริงและเป็นการเฉพาะ 

4.ระหว่างการพิสูจน์สถานะของคนไทยตกหล่นให้รัฐจัดสรรงบประมาณ (กองทุนคนไทยไร้สิทธิ) ในด้านสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานทางสังคมและสุขภาพให้กับกลุ่มคนไทยตกหล่น

5.สนับสนุนการพัฒนาโมเดลการทำงานแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิระดับเขตสุขภาพครอบคลุมทั้งประเทศ