ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สมุทรปราการ ปรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เน้นบริการ “เจอ แจก จบ” ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว พร้อมเปิดรับดูแลผู้ป่วยลงทะเบียน HI ที่รอหน่วยบริการตอบรับ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดเข้ารับบริการเฉลี่ย 600 ราย/วัน กว่าครึ่งถือ ATK ผลบวกติดมือมาด้วย พร้อมย้ำ รพ.ให้การดูแลผู้ป่วยทุกสิทธิ แต่กรณีสิทธิประกันสังคมขอให้ รพ.เอกชน ดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนของ รพ. เอง เพื่อแบ่งเบาการดูแลผู้ป่วย


นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวว่า รพ.สมุทรปราการให้การดูแลผู้ป่วยโควิดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่ใน รพ. ที่ขณะนี้จำนวน 250 คนแล้ว ยังให้การดูแลในระบบ Hospital จำนวน 700 เตียง และได้เปิดหอประชุม รพ. ทำเป็น รพ.สนาม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครองดูแลจำนวน 150 เตียง พร้อมกับเปิดพื้นที่ลาดจอดรถตั้งเต็นท์สีขาวเป็นคลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือคลินิก ARI เพื่อรองรับผู้ติดโควิด-19 ที่มารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งเฉลี่ยมีผู้ป่วยโควิดมารับบริการจำนวน 600 คนต่อวัน ในจำนวนนี้ประมาณ 300-400 คน เป็นผู้ป่วยที่ถือ ATK ผลบวกมารับการรักษาและเข้าสู่ระบบดูแล ส่วนที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อที่จุดประสงค์ขอตรวจ RT-PCR เพื่อนำผลไปใช้ในกรณีต่างๆ     
   
เดิมทีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ในการดูแล รพ.จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านหรือในชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) กระจายผู้ป่วยไปยังเครือข่ายบริการเพื่อติดตามและให้การดูแล แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้การดูแลแบบ “ผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน” (OP self Isolation) หรือ “เจอ แจก จบ” รพ. จึงดำเนินการให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวเข้าสู่ระบบนี้แทน ยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการมากๆ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก และผู้ที่ไม่สามารถจัดหาอาหารในระหว่างกักตัวได้ที่ต้องเข้าสู่ระบบ HI/CI เป็นต้น  

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน แตกต่างจากระบบ HI/CI นอกจากไม่ต้องให้การดูแลอาหาร 3 มื้อแล้ว เมื่อผู้ป่วยมารับบริการที่ รพ.จะได้รับการดูแลและให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร และยาขับเสมหะ เป็นต้น และให้กลับไปกักตัวดูแลที่บ้าน โดยในรายที่มีอาการมากจะให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ส่วนจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามแนวทางการรักษาโดยอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ซึ่งเราไม่ได้ให้ยานี้กับผู้ป่วยทุกราย หลังจากรับบริการกลับไปกักตัวดูแลที่บ้านแล้ว เมื่อครบ 48 ชั่วโมง รพ. จะมีเจ้าหน้าที่โทรหาผู้ป่วยเพื่อติดตามและประเมินอาการ 

“ตอนนี้ผู้ป่วยโควิดที่โทรสายด่วน สปสช. 1330 ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง หากมาที่ รพ.สมุทรปราการ เรารับดูแลผู้ป่วยทุกคน ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ได้เริ่มบริการโควิดผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้านเป็นวันแรก จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการยังไม่เพิ่มเยอะมากจนผิดปกติ ซึ่งเราคงต้องรอดูในสัปดาห์หน้าต่อไป ส่วนผู้ป่วยโควิดที่ลงทะเบียนในระบบ HI แล้วหากยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการ เชื่อว่าน่าจะมีความกังวลและร้อนใจ ก็สามารถเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้านที่ รพ.พร้อมให้การดูแล” ผอ.รพ.สมุทรปราการ กล่าว

นพ.นำพล กล่าวต่อว่า บริการโควิดผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน งานหลักคือการโทรหาผู้ป่วยหลังรับบริการครบ 48 ชั่วโมง โดย รพ.ได้จัดตั้งทีมในการโทรหาผู้ป่วย แม้ว่าตามหลักเกณฑ์บริการจะกำหนดให้โทรผู้ป่วยเพียงครั้งเดียวที่ดูแล้วเป็นงานไม่หนักมาก แต่ก็ไม่ง่ายเพราะการโทรประเมินผู้ป่วยแต่ละคนต้องใช้เวลา และผู้ป่วยเองก็มีการซักถามข้อสงสัย อีกทั้งเจ้าหน้าเราบางคนก็เกรงใจผู้ป่วย ไม่กล้าตัดสาย ดังนั้นหากผู้ป่วยมีจำนวนมากๆ การโทรติดตามประเมินอาการก็ต้องใช้เวลามากเช่นกัน 

ต่อข้อซักถามว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ประกันตน ทาง รพ.รับดูแลด้วยหรือไม่ นพ.นำพล กล่าวว่า รพ.สมุทรปราการรับผู้แลผู้ป่วยโควิดทุกสิทธิการรักษา รวมถึงต่างด้าว ทั้งที่มีประกันสุขภาพและไม่มีประกันสุขภาพ แต่ในกรณีของสิทธิประกันสังคม ด้วยในพื้นที่สมุทรปราการมีผู้ประกันตนราวถึง 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50,000 คน ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิใน รพ.รัฐ ส่วนที่เหลืออีก 950,000 คน ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่ รพ.เอกชน เบื้องต้นเพื่อแบ่งเบาการดูแลในสถานการณ์โควิด จึงขอให้ รพ.เอกชนรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา รพ.เอกชนในพื้นได้ให้ความร่วมมือเรื่องนี้ด้วยดี แต่ก็มีบางแห่งที่รับผิดชอบน้อยหน่อย ทำให้มีผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนบางส่วนทะลักมาที่เรา รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนกับ รพ.เอกชน ด้วย

นพ.นำพล กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาของ รพ.ขณะนี้ คือ เริ่มมีเจ้าหน้าที่ รพ.ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีจำนวนกว่า 200 คนแล้ว ที่ผ่านมา รพ.ได้ออกมาตรการป้องกันเพิ่มเติม เช่น ห้ามนั่งกินข้าวด้วยกัน ให้แยกกันกิน การตรวจ RT-PCR ผู้ป่วยที่เข้าผ่าตัดและรักษานอนใน รพ.ทุกราย โดยระหว่างรอจะมีศูนย์ให้พักคอยในการรอผล เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล เป็นการป้องกันไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย