ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้จะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองถึงกลุ่มอาการของผู้ป่วย ก็จะพบว่าส่วนมากยังอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว หมายความว่ามีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้กำหนดให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และระบบรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation) หรือที่เรียกว่า “HI-CI First”

นั่นหมายความว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน โดยมีการจับคู่กับหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรทางแพทย์

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยจำนวนมากไหลเข้าสู่ระบบ หน่วยบริการจึงต้องรับบทหนักในการดูแลผู้ป่วยที่ถาโถมเข้ามามากขึ้น ซึ่งการดูแลนี้ก็มาพร้อมกับภาระในการยื่น “เบิกจ่าย” ของหน่วยบริการ เมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมาก เอกสารที่ใช้ก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในบางช่วงของการยื่นเบิกจ่าย ก็ทำให้เจ้าหน้าต้องทำงานซ้ำซ้อนด้วยเช่นกัน

“The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับบุคลากรจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ที่มาร่วมบอกเล่าถึงการทำงานดูแลผู้ป่วยในระบบ HI พร้อมเผยถึงแนวทางการสรุปข้อมูลแบบ “One page” ตัวช่วยที่เข้ามาทำให้โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้รวดเร็ว ไม่เปลืองทรัพยากร ลดความซ้ำซ้อน และไม่สะดุดระหว่างทาง

‘One page’ ตัวช่วยที่ทำให้ รพ. ‘เบิกจ่ายง่ายขึ้น’

ในฐานะผู้รับผิดชอบศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวเองที่บ้าน (HI) เครือข่ายโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ปุณยวีร์ ปิ่นแก้ว พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.พระนั่งเกล้า เล่าว่า การยื่นเบิกจ่ายกรณีผู้ป่วย HI ในช่วงแรกนั้นมีความหลากหลายและไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ ปัญหาที่ตามมาคือการสรุปข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก ซึ่งด้วยความที่ไม่เคยใช้ระบบนี้กันมาก่อน ทาง สธ. จึงได้ออกแบบโดยยึดจาก

“โรงพยาบาลสนาม” ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างกันกับการดูแลผู้ป่วยแบบ HI

ทั้งนี้ข้อแตกต่างคือ เมื่ออยู่ในโรงพยาบาลสนาม การบันทึกข้อมูลจะละเอียดกว่า เพราะพยาบาลต้องเจอกับผู้ป่วยทุกวัน ขณะที่ผู้ป่วยในระบบ HI จะเจอพยาบาลได้เพียงช่วงที่โทรสอบถามอาการอย่างเดียว ไม่ได้เห็นหน้าผู้ป่วย ทำให้มีความซับซ้อนที่แตกต่างจากรพ.สนาม

“ถ้าเรายึดเรื่องการเบิกจ่ายเพียงอย่างเดียว. อาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง. ขณะเดียวกันถ้าเอาประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยนำ ก็จะทำให้มีความซับซ้อน เพราะข้อมูลมีจำนวนมาก และทำงานซ้ำซ้อน” เธอ ระบุ

ดังนั้นเมื่อปริมาณผู้ป่วยมีเพิ่มมากขึ้น บวกกับเอกสารที่จะต้องใช้ยื่นเบิกก็มากอยู่แล้ว นั่นทำให้ ผู้รับผิดชอบศูนย์ฯ รายนี้ มานั่งศึกษาและพิจารณาถึงประเด็นสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการเบิกจ่ายตามระบบ ซึ่งก็พบว่าจากเอกสารราว 4 แผ่นนั้น สามารถย่อยให้เหลือได้เพียงไม่กี่แผ่น

นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มใช้ “One page” ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและปรับเปลี่ยนเพียง 2 วันเท่านั้น

นอกจากนั้นการสรุปเอกสารนี้ ยังใช้ทีมเจ้าหน้าที่เวชกรรมเพียง 2-3 คน และใช้เวลาจัดการเอกสารได้แบบเรียลไทม์ โดยจะดึงแค่ประเด็นสำคัญออกมาเท่านั้น ทำให้เนื้อหายังครบถ้วน และการรักษาก็ยังคงได้มาตรฐานวิชาชีพเหมือนเดิม. เนื่องจากมีการระบุรายละเอียดอาการของผู้ป่วยอยู่ครบ

“หลังออกแบบฟอร์มใหม่นี้ขึ้นมา เราก็เปรียบเทียบกับของเก่าว่ามีข้อมูลครบภายใน 1 แผ่นหรือไม่ ซึ่งเมื่อได้คุยกับต้นสังกัดผู้ที่ทำหน้าที่เบิก ก็ระบุว่าข้อมูลที่ทำมาให้เหลือเพียง 1 แผ่นนี้สามารถเบิกได้ ไม่มีปัญหา ในขณะที่ข้อมูลสำหรับพยาบาล ก็สมบูรณ์ต่อการดูแลคนไข้ในแต่ละราย ฉะนั้นเมื่อไม่มีปัญหา เราก็ทำตามนี้” ปุณยวีร์ อธิบาย

กำลังคนเอาไม่อยู่ ต้องดึงเทคโนโลยีเข้าช่วย

ปุณยวีร์ อธิบายเพิ่มอีกว่า เมื่อได้แบบฟอร์มที่ต้องการแล้ว ก็ยังคงต้องอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่เวชกรรมในการกรอกข้อมูลผู้ป่วยอยู่ แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องถูกจำหน่ายออกวันละ 100-200 ราย ประกอบกับผู้ป่วยที่รักษาในระบบ HI ของโรงพยาบาลอยู่ราว 2,000 ราย และยังต้องรับเข้าอีกเฉลี่ยวันละ 200 ราย ทำให้เธอเริ่มรู้สึกว่ารับมือไม่อยู่ ซึ่งหากสามารถคลิกให้ข้อมูลออกมาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ข้อมูลในส่วนนี้ก็จะครบถ้วนและประหยัดเวลาได้มากขึ้น

นั่นทำให้ล่าสุด เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมพัฒนาโปรแกรมติดตามผู้ป่วย Covid Tracker ที่พัฒนาโดยบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด (Dietz) ถึงความเป็นไปได้ในการใส่แบบฟอร์มดังกล่าวเข้าระบบ เพื่อให้การสรุปข้อมูลเมื่อผู้ป่วยถูกจำหน่าย สามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยที่ข้อมูลยังครบถ้วน ซึ่งทีมผู้พัฒนาก็บอกกับเธอว่า “สามารถทำได้”

“ตอนนี้ระบบของโรงพยาบาล กับระบบที่ใช้ดูแลผู้ป่วย ยังเชื่อมต่อกันได้ไม่นิ่ง ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นลักษณะโปรแกรมของใครของมัน ยังติดระบบ SSB และแม้ในช่วงหลังจะเริ่มเชื่อมกันได้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าหากเชื่อมสมบูรณ์แบบเมื่อไร One page ก็จะออกมาสมบูรณ์ เพราะมีการประมวลผลโดยที่เราไม่ต้องคำนวณวันเข้า-เอาของผู้ป่วยเอง ระบบจะคำนวณออกมาแบบอัตโนมัติ” ปุณยวีร์ อธิบาย

พยาบาลรายนี้เล่าอีกว่า เบื้องต้นได้มีการใช้เอกสารจาก One page ในการเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว และไม่ปัญหาในเรื่องการส่งเบิกไปยังสปสช. รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กลุ่มงานประกันในโรงพยาบาลก็ไม่มีการถามหาเอกสารย้อนหลัง จึงทำให้การทำงานนั้นง่ายและสบายใจได้มากขึ้น

“เวลาเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องศึกษาให้มันลึก กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำใหม่ คือไม่ใช่ว่าต้องทำแบบเดิมไปตลอด แต่ความกล้าคิดเราต้องศึกษาให้รู้จริงก่อนว่าเราสามารถทำได้ หรือว่ามันตอบโจทย์เราไหม พอเรารู้แล้วเราลองทำ เราถึงดูอีกทีว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือไม่ ถ้าถูกเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดิม ฉะนั้นการกล้าคิดกล้าทำก็ต้องอยู่ภายใต้บริบทความถูกต้อง และความเป็นจริง” เธอถ่ายทอดประสบการณ์

งานไม่ซ้ำซ้อน ‘เคลมได้’ หายห่วง

ในขณะที่ จันทิมา ดิสสา พนักงานธุรการ กลุ่มงานประกันสุขภาพ รพ.พระนั่งเกล้า อธิบายเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบข้อมูลสำหรับยื่นเบิกจ่ายของผู้ป่วยในระบบ HI นั้น สปสช.จะขอตรวจสอบเอกสารก่อนทุกครั้งว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยจะมีอีกหน้าโปรแกรมที่เจ้าหน้าที่ต้องส่งเอกสารเข้าไปในระบบ นั่นคือตัวเลขการยืนยันตัวตน (authenticate) ของผู้ป่วย เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจริง ซึ่งปกติจะสามารถนำข้อมูลนี้ยื่นในระบบ E-claim ได้เลย

มากไปกว่านั้น ในปัจจุบัน สปสช.จะตรวจสอบข้อมูลและเอกสารเกือบ 100% ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จ่ายเงินก่อน แล้วจึงสุ่มตรวจเอกสารราว 10-20% ของที่ส่งไปทั้งหมด ในส่วนนี้เองจึงทำให้การเตรียมเอกสารเพื่อสแกนเข้าระบบมีมากขึ้น

เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การเบิกจ่ายแบบเก่าจะใช้เอกสารและทรัพยากรมาก เพราะต้องใช้กระดาษ 4-5 ใบ ในขณะที่ One page ใช้กระดาษไม่เกิน 3 ใบเท่านั้น โดยข้อมูลที่สำคัญ เช่น เลข HN ของผู้ป่วย เลข 13 หลัก วิธีการตรวจพบเชื้อ (RT-PCR หรือ Antigen Test Kit : ATK) อุปกรณ์ที่โรงพยาบาลมอบให้ผู้ป่วย อาการ แพทย์ประจำตัว และจำนวนวันที่ผู้ป่วยรักษาตัวยังครบถ้วนเหมือนเดิม มากไปกว่านั้นทำให้การอ่านหรือตรวจสอบง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

“ในเอกสารแบบก่อน สาระสำคัญบางข้อก็จะมีการทำซ้ำกันบ้าง แต่ในตอนนี้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนแล้ว เพราะทีมเวชกรรมเขาจะส่งเป็นไฟล์พร้อมกับแนบเอกสารมาให้เรียบร้อย จะมีก็เพียงการรีเช็คข้อมูลเพื่อความถูกต้องเล็กน้อยเท่านั้น” เจ้าหน้าที่ธุรการรายนี้ยืนยัน

เธอสรุปว่า การปรับรูปแบบเอกสารนั้น สปสช.ให้สิทธิโรงพยาบาลในการออกแบบอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้มีข้อความสำคัญครบถ้วน ฉะนั้นการปรับรูปแบบจึงจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งสำหรับ รพ.พระนั่งเกล้า ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานประกันง่ายขึ้น และประหยัดเวลาในการสแกนเอกสารมากขึ้นกว่าเดิม

Dietz Telemedicine ลดภาระเอกสาร ช่วยรพ. เบิกจ่ายได้ทุกสิทธิ

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร CEO and Co-founder, Dietz Telemedicine ผู้พัฒนาระบบเทเลเมดิซีนช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดและโรคเรื้อรังให้สถานพยาบาลทั่วประเทศกล่าวว่า รพ.ที่ประสบปัญหาการจัดการเอกสาร จำนวนมากในช่วงโควิด สามารถศึกษาต้นแบบหรือโมเดลการจัดทำเอกสารเบิกจ่าย ระบบเทเลเมดิซีน หรือ Home Isolation จากทางรพ.พระนั่งเกล้าได้ เพราะช่วยลดภาระงาน ลดเวลาการรวบรวมเอกสาร เบิกจ่ายได้ครบถ้วน ช่วยให้รพ.มีประสิทธิภาพในการจัดการได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ป่วย Home Isolation ที่หน่วยบริการดูแลเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องคีย์ข้อมูลการเบิกจ่ายในระบบ eclaim ทำให้มีความยุ่งยาก และข้อมูลตกหล่น รวมถึงใช้ทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการอย่างมาก

การเชื่อมต่อ api จากหน่วยบริการไปยังสปสช.เลยจะช่วยให้หน่วยบริการลดภาระในการดำเนินงาน และช่วยสปสช.ในการตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว

“หากรพ. สนใจข้อมูลเกี่ยวกับระบบเทเลเมดิซีน ทางทีมไดเอทซ์ยินดีให้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ทางอีเมล [email protected]” นายพงษ์ชัย ระบุ