ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คนที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง รัฐต้องใช้งบประมาณในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นปีละ 20 เปอร์เซ็นต์

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.ได้ขยายชุดสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยบัตรทอง ที่ป่วยเป็นโรคไตให้สามารถล้างไตทางช่องท้อง โดยผู้ป่วยสามารถทำได้ที่บ้านด้วยตนเองหรือญาติ โดย สปสช. จัดหาน้ำยาล้างไตผ่านองค์การเภสัชกรรม และจัดส่งถึงบ้านผู้ป่วย โดยบริษัทไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด

ปัจจุบันมีผู้ป่วยบัตรทองที่ต้องล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 21,266 คน ที่ สปสช.ต้องส่งน้ำยาล้างไตไปยังบ้านผู้ป่วยโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย ไม่เว้นแม้พื้นที่เกาะ พื้นที่เสี่ยงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดส่งให้เดือนละ 1 ครั้ง ในผู้ป่วย 1 รายจะใช้น้ำยาวันละ 4 ถุงต่อคนต่อวัน ซึ่งวิธีการล้างไตทางช่องท้องอยู่ที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายของค่าเดินทาง และค่าเสียเวลา

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย มีทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่อง ผู้ป่วยต้องเดินทางไป รพ. 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นภาระเพราะมีค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา ต้องนัดหมายกับหมอ จองเครื่องฟอกไต ขณะเดียวคนไข้สามารถเลือกใช้วิธีการล้างไตผ่านช่องท้องได้ โดยทำด้วยตัวเองหรือญาติ ทำได้ที่บ้าน ซึ่งทั้งคนไข้และญาติต้องผ่านการอบรม เพื่อรักษาความสะอาดระหว่างการล้างไตผ่านทางช่องท้อง โดย สปสช.จัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน ไม่ว่าคนไข้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลขนาดไหน ซึ่งปัจจุบัน สปสช. เลือกใช้น้ำยาล้างไตของ 2 บริษัท โดยหมอจะตรวจร่างกายของคนไข้ว่าเหมาะสมจะใช้น้ำยาของบริษัทไหน น้ำยานำเข้ามาจากต่างประเทศ และจะมาพักไว้ที่คลังเก็บน้ำยาย่านบางนา สปสช.มีฐานข้อมูลของคนไข้ ทั้งที่อยู่ สภาพบ้าน เพื่อส่งข้อมูลไปยังไปรษณีย์ ให้ทำการจัดส่งน้ำยาไปจนถึงบ้านผู้ป่วย รวมทั้งการยกน้ำยาวางเรียงไว้ในบ้านเพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้งาน

สำหรับการจัดส่ง บริษัทไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด จะจัดส่งให้ตามรอบเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ในผู้ป่วย 1 รายจะใช้น้ำยาล้างไตวันละ 4 ถุง ยกเว้นในรายที่มีภาวะน้ำเกินหรืออื่น ๆ ก่อนที่จะปรับการรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง

อย่างไรก็ตามแม้จะวางแผนการจัดส่งอย่างเป็นระบบ แต่บางพื้นที่ยังมีปัญหาที่น้ำยาไม่ถึงบ้านผู้ป่วย ย้อนไปในปี 2559 สปสช.ลงเยี่ยมบ้านของผู้ป่วยในพื้นที่เกาะปูยู และเกาะตำมะลังใน จ.สตูล พบว่าน้ำยาส่งไม่ถึงบ้านผู้ป่วย และผู้ป่วยยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจาการจ้างรถซาเล้งมาขนน้ำยาจากท่าเรือ แต่ด้วยความร่วมมือของเครือข่าย ท้องถิ่น ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้ว

อภิเดช ทองแดง พนักงานปฏิบัติการ 1 บริษัทไปรษณีย์ ดิสทริบิวชั่น จ.สงขลา เล่าว่าที่ผ่านมา การส่งน้ำยาบนพื้นที่เกาะจะพบว่าลังเปียกน้ำ ชื้น รวมทั้งน้ำยาถูกทิ้งไว้กลางแดดนานถึง 2-3 ชม. จึงต้องปรับเปลี่ยนแผนการจัดส่งใหม่ โดยบริษัทไปรษณีย์ฯ ได้เช่าเรือเพื่อจัดส่งน้ำยาโดยเฉพาะและห่อหุ้มลังด้วยพลาสติก โดยที่เจ้าของเรือต้องนัดหมายกับรถซาเล้งให้มารับน้ำยาจากท่าเรือทันทีเพื่อไปส่งยังบ้านผู้ป่วย วิธีนี้ใช้กับพื้นที่เกาะสาหร่าย และเกาะตำมะลัง ในการส่งน้ำยาแต่ละครั้งอยู่ที่จำนวน 100 ลัง รวมเวลาแล้วจากท่าเรือไปบ้านผู่ป้วยใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

"ไปรษณีย์ว่าจ้างเรือเอง โดยจ่ายค่าขนส่งทางเรือประมาณ 250 บาทรวมค่ารถซาเล้ง พอโทรศัพท์แจ้งบางครั้งญาติอาจมารับเองเพราะเขารอน้ำยาอยู่ และส่วนใหญ่คนบนเกาะเป็นญาติกัน ทุกคนจะเข้าใจว่า ผู้ป่วยรีบบางทีญาติมารอรับเองก็มี" พนักงานไปรษณีย์บอกเล่า

ปัจจุบันในพื้นที่ จ.สตูล มีพื้นที่เกาะที่มีผู้ป่วยโรคไตจำนวน 41 คน ในจำนวนนี้อาศัยอยู่บนพื้นที่เกาะตำมะลังจำนวน 2 ราย เกาะสาหร่าย 1 ราย เกาะปูยู 1 ราย และเกาะหลีเป๊ะ 1 ราย

กัลยา จางวาง ลูกสาวของผู้ป่วยโรคไต อาเซม จางวาง วัย 63 ปี ชาวบ้านในเกาะตำมะลัง เล่าว่า เดิมทีต้องพาพ่อไปรอฟอกเลือดที่โรงพยาบาลในจังหวัด อาทิตย์ละ 3 ครั้งนั่งเรือจากเกาะไป นั่งรถไปเวลาเป็นวัน ๆ เสียเวลามากและคนไข้ก็เครียด แต่เมื่อหมอแนะนำให้ล้างไตผ่านช่องท้องที่บ้าน จึงมาปรับบ้านทำห้องปลอดเชื้อให้ล้างไต พ่อมีความสุขกว่าแต่ก่อนมีเวลาได้เดินไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ได้เข้ามัสยิดไปละหมาด

ภายหลังจากน้ำยาออกจากคลังไปรษณีย์กลางในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จนไปถึง จ.สตูล จนไปถึงมือผู้ป่วย บริษัทไปรษณีย์ฯ ใช้ระบบตรวจสอบสิ่งของว่าถึงมือผู้รับหรือยังโดยโทรศัพท์ไปยังญาติและผู้ป่วย เหล่านี้เป็นการยกระดับการบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล.

ขอบคุณที่มา นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 ส.ค. 2561 (กรอบบ่าย)