ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในต่างประเทศ โรงพยาบาลที่บังคับแพทย์ทำงานเกินเวลาอาจถูกฟ้องร้อง

ถ้าหมอทำงานพลาดเพราะทำงานหนักเกินไป โรงพยาบาลจะมีความผิดสถานเดียว

แต่ในประเทศไทย ไม่ใช่

การออกประกาศ-แนวทาง-ข้อเสนอแนะจากแพทยสภา เรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์อาจไม่ใช่ทางออก ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการออกกฎหมายที่จะมากำกับบังคับใช้

นี่คือประโยคที่ รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ แพทยสภา กำลังบอกเล่าผ่านการบรรยายเรื่อง “สิทธิของแพทย์” ให้กับนิสิตนักศึกษาแพทย์ฟัง ในเวทีที่จัดขึ้นโดยชมรมสมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IFMSA-MDCU) ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภายใต้สมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (SCORP-IFMSA Thailand)

อาจารย์สมชาย บรรยายต่อไปว่า การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากไปกว่าคือ “การบังคับใช้” กฎหมาย

“The Coverage” จับเข่าคุยกับ รศ.นพ.สมชาย ถึงปมปัญหาคาราคาซังอันเป็นบ่อเกิดของความ “ไม่ง่าย” ในการออกกฎหมาย รวมไปถึงความหวังต่อการคลี่คลายปัญหา และการลุกขึ้นสู้ของแพทย์รุ่นใหม่

ความพยายามของแพทยสภาที่ดูไร้ผล

รศ.นพ.สมชาย ยกตัวอย่างกรณีแพทย์ประจำบ้านในต่างประเทศว่า ต่อให้แพทย์รักษาผู้ป่วยอย่างดี แต่เมื่อไหร่ที่มีคนไปร้องเรียนว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ใช้แพทย์เกินเวลา โรงพยาบาลอาจจะถูกฟ้อง กลายเป็นว่าแพทย์ที่ขยันเรียนแบบคนไทย เมื่อต้องไปทำงานที่นั่นก็จะโดนอาจารย์แพทย์ตำหนิในวันรุ่งขึ้นและไล่กลับบ้านทันที เพราะหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้โรงพยาบาลจะมีความผิด

การบังคับแบบนี้จะเห็นชัดเลยว่าไม่มีทางที่หมอจะอยู่เกิน 16 ชั่วโมง และถ้าเกิดอะไรขึ้นโรงพยาบาลผิดสถานเดียว เพราะว่าใช้หมอเกินเวลา กลายเป็นว่าหมอที่ทำพลาดอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบเพราะว่าเขาอาจจะอ้างได้ว่าเขาอยู่เกินเวลา เขาเริ่มเหนื่อย สมองเขาไม่แล่นแล้ว แต่เขาถูกใช้ให้ต้องมาทำแบบนี้

แพทยสภามีความพยายามที่จะออกประกาศหรือให้ข้อแนะนำในการกำหนดแนวทางการทำงานของแพทย์มาอย่างยาวนาน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ย้อนกลับไปในสมัยที่ สมัย ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกแพทยสภา ที่ในตอนนั้นก็มีเรื่องที่แพทย์ถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก

รศ.นพ.สมชาย อธิบายว่า ส่วนหนึ่งแพทย์ทำเวชปฏิบัติไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ และความคาดหวังของสังคม รวมไปถึงการที่แพทย์เหนื่อยล้าจากการทำงาน มากไปกว่านั้นการที่แพทย์ต้องงานหนักอาจส่งผลจนทำให้เกิดความผิดพลาด และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีการตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของแพทย์” ขึ้นมา และมีการออกประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานของแพทย์ 7 ข้อ

ได้แก่ 1. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ภาครัฐไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ 2. ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ 3. ระยะเวลาเวรปฏิบัติการไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมง 4. ถ้าระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมงต้องมีเวลาหยุดพัก 8 ชั่วโมง 5. การอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 7 เวร/เดือน 6. การตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไป ควรใช้เวลาประมาณ 5 นาที/คน (12 คน/ชั่วโมง) และ 7. แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี เป็นต้นไปควรงดอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ

รศ.นพ.สมชาย อธิบายต่อไปว่า ประกาศดังกล่าวนั้นดูไร้ผล ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซ้ำร้ายบางข้อกลับถูกพูดถึงในเชิงจับผิดที่ว่าแพทย์จะปฏิเสธไม่ยอมรักษาผู้ป่วย จะไม่ยอมทำงาน แต่ไม่ได้มองว่าการที่แพทย์ทำงานหนักขนาดจน overload นั้นเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ทำให้เกิดความผิดพลาด และถูกร้องเรียน

ถ้าไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุ เขาก็เหนื่อยและทำงานหนักอยู่แบบนั้น ประชาชนก็ไม่เข้าใจอยู่อย่างนั้น มากลางคืนทั้งๆ ที่ปวดหัวมา 7 วัน แต่มาวันนี้ตอนตี 2 เพราะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่าออกประกาศมาก็กลายเป็นการถูกนั่งจับผิดว่าตั้งเงื่อนไขที่จะทำให้ตัวเองสบายและปฏิเสธคนไข้ได้ แล้วก็ไม่เกิดการปฏิบัติจริง

จากประกาศ 7 ข้อ ที่ระบุไว้ว่าอยากให้แพทย์ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปพักการอยู่เวร เพราะเริ่มสูงวัย และประสิทธิภาพเริ่มถดถอย หากต้องอยู่เวรข้ามคืนอาจมีโอกาสเกิดความผิดพลาด แต่เมื่อดูความเป็นจริงหากเป็นแบบนั้นจะเหลือแพทย์ที่ต้องอยู่เวรน้อยมาก

แต่ก็เริ่มมีบางโรงพยาบาลหรือบางโรงเรียนแพทย์ที่เอาไปใช้ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีใครทำอะไรอยู่ดี การอยู่เวรน็อครอบคือ 24 ชั่วโมงแล้วเช้าต้องทำงานก็ยังเป็นเหตุที่เกิดขึ้นกับหมอรุ่นใหม่ จนถึงรุ่นกลางตลอดเวลา เพราะเป็นแค่ประกาศ

ถัดมากในสมัยที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ที่ในขณะนั้นก็มีปัญหามากมาย เช่น แพทย์ใช้ทุนลาออก ฆ่าตัวตาย หรือถูกทำร้ายโดยผู้ป่วย

จนทำให้ต้องกลับมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวกันอีกครั้ง ด้วยการออกประกาศแพทยสภา ที่ 104/2560 เรื่องการกำหนดกรอบเวลาในการทำงานของแพทย์ภาครัฐ 2 ข้อ

ได้แก่ 1. แพทย์เพิ่มพูนทักษะ มีเวลาการทำงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และ 2.แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี เป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ ลดลงจาก 7 ข้อที่เคยได้ประกาศออกไปก่อนหน้า

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง

เหตุผลที่บอกแบบนั้นก็เพราะว่าเราพยายาม แพทยสภาพยายามเสนอแนะ แต่เมื่อไม่เป็นข้อบังคับหรือไม่เป็นกฎหมาย สถานพยาบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ยึดปฏิบัติเพราะมีปัญหาเรื่องจำนวนแพทย์ ร่วมกับการไม่ปฏิบัติก็ไม่ผิด

เข้าใจข้อจำกัด - ต้องหาจุดกึ่งกลาง

การออกกฎหมายเพื่อควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ จำเป็นต้อง “หาจุดกึ่งกลาง” ที่เหมาะสม ซึ่งถ้าหากทำตามคำแนะนำ 7 ข้อข้างต้นอย่างเคร่งครัด “รศ.นพ.สมชาย” คิดว่าห้องฉุกเฉินในหลายโรงพยาบาลอาจต้องปิดตัวลงตอนกลางคืน เพราะถือว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ทำงานหนักเกินไปแล้ว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีแพทย์มากพอที่จะมาสำรองจัดเวรตามนั้นได้

ตอนผมอยู่โรงพยาบาลชุมชน หากแพทย์คนไหนไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนที่มีหมอ 2 คน ก็ต้องผลัดกันอยู่เวรคนละครึ่งเดือน คือ 15 วัน ส่วนคนที่อยู่โรงพยาบาลที่มีแพทย์ 3 คน เลยอยู่เวรกันคนละ 10 วันต่อเดือน ฉะนั้นโรงพยาบาลไม่ได้มีหมอเยอะพอที่จะทำแบบนั้น

รศ.นพ.สมชาย ขยายความว่า การที่แพทย์ต้องอยู่เวรติดต่อกันไม่ได้หมายความว่าวันรุ่งขึ้นจะได้หยุดพัก เพราะจะต้องเข้าห้องผ่าตัด หรือตรวจผู้ป่วยนอกต่อ ฉะนั้นหากจะจัดการก็คือในวันที่มีแพทย์ได้หยุด โรงพยาบาลจะต้องมีแพทย์เพียงพอที่จะมาทำงานแทนในวันนั้น

ทว่าในความแบบจริงมันทำไม่ได้ เพราะหากในวันรุ่งขึ้นมีผู้ป่วยนอก จำนวน 200 รายมารอตรวจอยู่ สมมติว่าในโรงพยาบาลมีแพทย์จำนวน 4 คน หากต้องหายไป 1 คนก็เท่ากับว่าแพทย์ที่เหลือจะต้องรับผู้ป่วยคนละประมาณ 70 รายในเช้าวันนั้น ซึ่งหมออาจต้องตรวจไปถึงบ่าย ไม่ได้กินข้าว มันก็เข้าอีหรอบเดิม หมอก็อาจจะเหนื่อย เพลีย หิว อารมณ์เสีย อาจทำให้เกิดการรักษาผิดพลาด เริ่มไม่ไหว มันก็จะวนลูปนั่นจึงทำให้ปัญหายังคงวนอยู่แบบนี้ และแก้ไข้ได้ยาก เพราะการกระจายของจำนวนแพทย์ยังเป็นข้อจำกัด

รศ.นพ.สมชาย อธิบายว่า ปัญหาการทำงานของแพทย์เริ่มจากในอดีตจำนวนแพทย์มีไม่เพียงพอ จึงทำให้ไม่สามารถใช้ร่างประกาศแนวทางการกำหนดภาระการทำงานของแพทย์ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขฯ แนะนำได้ เพราะการจะให้แพทย์ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งอยู่เวรนอกเวลาได้ไม่เกิน 7 เวรต่อเดือนจะต้องใช้จำนวนแพทย์มากพอสมควร

ในตอนนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการผลิตแพทย์เพิ่ม จนถึงขณะนี้ก็ยังคงทำอยู่ ทั้งที่ความเป็นจริงหากนำจำนวนแพทย์มาเฉลี่ยต่อประชากรจะเห็นได้ว่าตัวเลขก็ไม่ได้น่าเกลียดเหมือนในอดีตแล้ว ตอนนี้ทุกโรงเรียนแพทย์ผลิตแพทย์จนเต็มที่ อยู่ประมาณปีละเกือบ 3,000 คน

ปัญหาวนลูป เหนื่อย-ลาออก-แพทย์ไม่พอ-โดนโพสต์ด่า

เมื่อแพทย์ไม่ได้ขาดแต่ทำไมบางโรงพยาบาลถึงไม่มีแพทย์ ปัญหาเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงไปถึง “ปัญหาการกระจายแพทย์” ที่ยังไม่ทั่วถึง โรงพยาบาลที่ขาดแพทย์ก็ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งที่งานหนัก กลางคืนต้องอยู่เวรที่ไม่มีทางได้หลับได้นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แพทย์กลุ่มหนึ่งจึงทนไม่ไหว ไม่อยากให้ชีวิตวนลูปอยู่แบบนี้ บางคนก็ตัดสินใจลาออก โรงพยาบาลก็ขาดแพทย์

รศ.นพ.สมชาย อธิบายว่า แพทย์ส่วนหนึ่งก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ของคลินิกเสริมความงาม หรือเป็นมือปืน (แพทย์ออกตรวจโรคทั่วไปตอนกลางคืนในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง) ที่ทำงานได้ไม่กี่วันแต่ได้เงินมากกว่าตอนอยู่ทำอยู่ในระบบราชการ มากไปกว่านั้นแพทย์บางคนก็กลับมาทำงานในกรุงเทพฯ แทนที่จะทำงานในต่างจังหวัด

เมื่อไปทำงานโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงหนังก็ไม่มี คุณภาพชีวิตก็จะไม่เหมือนกับอยู่เมืองใหญ่ ในขณะที่ต่างประเทศพื้นที่ชานเมืองมีความเจริญใกล้เคียงกับเมืองใหญ่ และมีสวัสดิการที่ดีที่เอื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากเกินไป

อย่างไรก็ดี การที่แพทย์ไม่ได้ถูกกระจายไม่ได้หมายความว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้พยายาม หรือไม่ทำอะไร เพราะ สธ.เอง ก็มีช่องให้แพทย์จับสลากลงไปใช้ทุนอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาล ก. ที่อยู่ในอำเภอนี้ ตามกรอบต้องมีแพทย์ 5 คน แต่ในขณะที่โรงพยาบาลนั้นมีแค่ 2 ฉะนั้นก็สามารถเติมได้อีก 2 คน แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะมีรุ่นพี่ที่ไปอยู่มาบอกกันปากต่อปากว่าเวรหนัก ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เด็กก็ไม่เลือกที่จะไป

มากไปกว่านั้น หากจับสลากได้โรงพยาบาลที่อยู่ไกลหรือค่อนข้างทุรกันดาร บางครอบครัวก็ใช้เงินแทนไม่ยอมให้ลูกไป เพราะไม่อยากให้ลูกต้องไปอยู่ตรงนั้น

รศ.นพ.สมชาย กล่าวต่อไปถึง “สื่อ” องบางครั้งก็มีส่วนทำให้แพทย์ลาออกเนื่องจากเสนอข่าวออกไปโดยยังไม่ได้หาข้อเท็จจริง ฉะนั้นก็จะต้องมาจูนให้ตรงกันว่าคุณช่วยหาข้อเท็จจริงก่อนปล่อยข่าวหรือนำเสนอข่าวได้หรือไม่

เมื่อแพทย์ไม่มีสิทธิ์ตอบ หรือกว่าจะออกมาตอบโต้ก็โดนทัวร์ลงไปมากแล้ว เขาก็คิดว่าเขาไม่อยู่ต่อแล้ว ทำไมทำงานหนักแล้วมาโดนด่าแบบนี้ เวลาที่เขาโดนด่าเป็นพันๆ คอมเมนต์ สื่อไม่ได้ไปดูต่อ แต่จากการนำเสนอข่าวว่าหมอไม่ยอมรักษาคนไข้ ปล่อยให้คนไข้รอนาน ทุกคนก็ไปด่าว่าหมอเฮงซวย หมอห่วย ก็ยิ่งทำให้แพทย์ถอดใจและลาออกไปเยอะ

จริงใจและ action ช่วยสร้างขวัญกำลังใจได้

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นกลายเป็นปมขนาดใหญ่ที่มีปมปัญหาเล็กๆ ผูกติดอีกหลายปม “รศ.นพ.สมชาย” อธิบายว่า ต้องใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งถ้าแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้เห็นว่ารัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์โรงเรียนแพทย์มาระดมสมองกันหาวิธีแก้ปัญหา ตรงนี้ก็อาจจะทำให้แพทย์เกิดขวัญและกำลังใจได้

มันอาจจะคลายทีเดียวไม่ได้ ผมว่าทุกปมควรจะถูกสางออกหมด แต่ว่ารัฐจะทำได้หรือไม่ เช่น ทำอย่างไรให้จังหวัดนั้นมีความปลอดภัย ทำอย่างไรให้ความเจริญไปถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เมื่อแพทย์ไปอยู่ไม่เกิดความรู้สึกว่าตกเย็นไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีอะไรที่เจริญหูเจริญตา ทำได้เพียงแค่ฟังเสียงยอดหญ้าแตกยอดออกมา อันนี้เป็นคำพูดที่พูดกันมาเรื่อยๆ ว่ามันเงียบไม่มีอะไรจนกระทั่งได้ยินเสียงยอดหญ้าแตกออกมา

ฉะนั้นปัญหาทั้งหมดจะแก้ปมเดียวไม่ได้ หรือบางปัญหาอาจจะต้องแก้ทีหลังเพราะมีความยาก ซึ่งอาจจะต้องเขย่าองคาพยพทั้งหมด

ตอนท้ายของการสนทนาก็ได้มีการพูดถึงการลุกขึ้นสู้ของแพทย์รุ่นใหม่ที่รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ผลักดันให้เกิดการกฎหมายควบคุมการทำงานของแพทย์ ซึ่ง “รศ.นพ.สมชาย” ก็ให้กำลังใจและมองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปัญหาในส่วนนี้ เพราะที่ผ่านมาแพทยสภาก็ได้เสนอไปอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล บางครั้งอาจจะต้องมีกลุ่มคนมาช่วยกันกระตุ้นมาช่วยกันเกื้อหนุนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ในการเรียกร้องสิทธิก็ต้องอย่าลืมหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้เป็นความจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะการเรียกร้องสิทธิที่พึงมีสามารถทำได้ แต่ความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ยังจำเป็นต้องมีอยู่

ผมว่าปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับคนในหลายภาคส่วนและระบบมากมาย ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็เป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานเพื่อที่จะหาทางร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้ทั้งแพทย์ได้ทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้ป่วยก็ไม่เสียโอกาสที่จะได้รับการบริบาลเมื่อมีความต้องการหรือมีความจำเป็นจริงๆ อันนั้นคงเป็นสิ่งที่ต้องบาลานซ์ รศ.นพ.สมชาย ระบุ