ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์การให้บริการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง (Continuous renal replacement therapy - CRRT) ของหน่วยบริการตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)” โดยมีข้อค้นพบว่า อัตราการเบิกจ่ายที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการให้บริการ

งานวิจัยฉบับดังกล่าว ระบุว่า ทุกวันนี้ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันสิทธิบัตรทองจะได้รับสิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตในหลายวิธีตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย อย่างไรก็ดีทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยวิกฤตที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน อย่างน้อย 5 ภาวะสุขภาพ ควรได้รับการบำบัดทดแทนไตแบบ CRRT คือการฟอกเลือดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการบริการเฉพาะทางที่ต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรค่อนข้างสูง ส่งผลต่อต้นทุนการให้บริการโดยตรง

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยที่ต้องใช้บริการ CRRT มีทั้งสิ้นปีละ 3,563 ราย จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 1 ราย จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย CRRT ประมาณ 57,000 บาท แบ่งเป็น การใส่สายฟอกเลือด 3,750 บาท การเตรียมอุปกรณ์ 419 บาท และกระบวนการระหว่างการทำ CRRT 53,333 บาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์และค่าลงทุน โดยรัฐจะต้องใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 204 ล้านบาทหากคิดเฉพาะต้นทุนค่าวัสดุ หรือ 383 ล้านบาทหากคิดต้นทุนค่าวัสดุและค่าแรง และ 416 ล้านบาทหากคิดรวมต้นทุนค่าวัสดุ ค่าแรงและค่าลงทุน(เฉพาะครุภัณฑ์)

นอกจากนี้ จากการสำรวจความพร้อมและศักยภาพของหน่วยบริการที่ให้บริการ CRRT จำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีโรงพยาบาลที่ให้บริการ CRRT จำนวน 53 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ร้อยละ 88 เห็นตรงกันว่า ภาครัฐควรสนับสนุนค่าบริการ CRRT เพิ่มขึ้น เฉลี่ยรายละ 25,563 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลบางส่วน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยไตวายได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ทีมวิจัย HITAP ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้ 1. กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการ CRRT กรณีผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันในระยะวิกฤต ในชุดสิทธิประโยชน์ ตามที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้จัดทำแนวทางไว้ 5 ข้อ 

2. ปรับปรุงการชดเชยค่าบริการ CRRT ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผ่านระบบบริการกรณีเฉพาะซึ่งเคยดำเนินการมาก่อน หรือแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้อาจพิจารณากำหนดอัตราชดเชยตามจำนวนวันที่ให้บริการ เพื่อให้สะท้อนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลจัดบริการให้เหมาะสม 

3. หากปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ข้างต้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายชดเชยให้แก่โรงพยาบาลผู้ให้บริการประมาณ 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้ สปสช.จะสามารถประหยัดงบประมาณส่วนหนึ่งที่สนับสนุนจากการเบิกจ่ายชดเชยบริการรักษาทดแทนไตในระบบวินิจฉัยโรคร่วมอยู่แล้วในปัจจุบัน 

4. ควรพิจารณาต่อรองราคาน้ำยาล้างไตสำหรับบริการ CRRT ในระดับประเทศ เพราะเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของค่าวัสดุ ซึ่งปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลทำการจัดซื้อเอง

5. จัดให้มีการประเมินการเข้าถึง ผลกระทบงบประมาณ และประสิทธิผลของการให้บริการในชีวิตจริง เช่น อัตราการรอดชีวิตและอัตราการเกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การปฏิบัติตามของผู้ให้บริการต่อหลักเกณฑ์การให้บริการรักษาทดแทนไตแบบต่อเนื่องที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับปรับปรุงนโยบายนี้ให้มีความคุ้มค่าสูงสุดต่อไป

อนึ่ง 5 ภาวะสุขภาพที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำว่าควรทำ CRRT ได้แก่ 1. ผู้ป่วยภาวะสมองบวมหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองบวม 2. ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่ยังเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการฟอกเลือดชนิดชั่วคราว เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง 3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ด้วยการใช้ยาหรือวิธีการฟอกเลือดชนิดชั่วคราว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีน้ำส่วนเกินมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักเดิม 4. ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมปริมาณน้ำและสมดุลกรดด่างรวมถึงเกลือแร่ในเลือดอย่างต่อเนื่อง 5. ผู้ป่วยที่ยังมีความดันโลหิตต่ำแม้จะได้รับยากระตุ้นความดันโลหิตในขนาดสูงและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต