ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ย้ำดูแลค่าใช้จ่ายล้างไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง ตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง-ให้สิทธิเลือกวิธีการล้างไตด้วยตัวเอง ตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ด้านนายกสมาคมโรคไตฯ แนะผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องเดิม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาฟอกเลือดเพราะได้ผลเท่ากัน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการปรับระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตว่า โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สามารถทำให้ล้มละลายได้ ดังนั้นรัฐต้องได้เข้ามาดูแล

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นในการให้สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนั้น สปสช.พยายามขอให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งใช้วิธีล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระและลดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดูแลในเรื่องนี้ รวมทั้งเน้นที่ตัวระบบเป็นหลัก โดยมีกติกาว่าถ้าผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้องและไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเชื่อได้ว่าระบบสุขภาพมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีการฟอกเลือดมากขึ้น เช่น การพัฒนาคน พัฒนาอุปกรณ์ สามารถทำได้ง่ายกว่าในอดีต ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงมีมติเห็นชอบให้ สปสช. เข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้อง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา 

"ดังนั้น สรุปว่าไม่ว่าจะผู้ป่วยล้างไตวิธีไหนก็ตาม สปสช.จะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ยังเน้นให้ความสำคัญกับการยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางแทนการมองระบบเป็นหลัก โดยให้ผู้ป่วยและแพทย์ร่วมพูดคุยและพิจารณาว่าวิธีไหนล้างไตแบบไหนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น บางคนอาจเหมาะกับการล้างไตทางหน้าท้องเพราะไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาล หรือบางคนอาจเหมาะกับการฟอกเลือดเพราะหน้าท้องมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ ประเด็นเหล่านี้ต้องหารือร่วมกันโดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ผู้ป่วย

"การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปตามปรัชญาของ สปสช. ที่จะดูแลไม่ให้ต้องมีการล้มละลายจากการเจ็บป่วย คณะกรรมการ สปสช.คำนึงถึงจุดนี้และให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการล้างไตตามความจำเป็นของผู้ป่วยและความจำเป็นทางการแพทย์ ดังนั้น ผู้ป่วยบัตรทองไตวายเรื้อรังที่เดิมต้องจ่ายเงินฟอกเลือดเอง สามารถติดต่อหน่วยบริการเพื่อใช้สิทธินี้ได้เลย และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามที่หน่วยบริการหรือหากยังไม่ชัดเจนสามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 ของ สปสช. ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หากผู้ป่วยจ่ายเองจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้นการที่ สปสช.เข้ามาดูแลในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้มาก อย่างไรก็ตาม การเลือกว่าจะใช้วิธีบำบัดทดแทนไตอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตัวผู้ป่วย

"บางคนสามารถล้างไตทางหน้าท้องด้วยตัวเองได้ บางคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โอกาสที่จะความดันต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะระหว่างฟอกเลือดสูง แพทย์ก็จะแนะนำให้ล้างไตทางหน้าท้องเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งปัจจุบันมีการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติซึ่ง สปสช. เริ่มทดลองใช้แล้วได้ผลดี เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการล้างไตเฉพาะช่วงกลางคืน กลางวันก็สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่บางคนอายุมากแล้ว สายตาไม่ดี ไม่มีผู้ดูแล ก็ไม่เหมาะที่จะล้างไตทางหน้าท้อง ต้องไปฟอกเลือดที่โรงพยาบาล" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่ปัจจุบันใช้วิธีล้างไตทางหน้าท้องและกำลังสับสนว่าจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการฟอกเลือดดีกว่าหรือไม่ แนะนำว่าการล้างไตทางช่องท้องให้ผลการรักษาเท่ากับการฟอกเลือด ดังนั้นถ้าผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอยู่แล้วและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่มีการติดเชื้อ ผนังช่องท้องยังมีสภาพดีอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นการฟอกเลือด ยกเว้นจะเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีการดำรงชีวิตหรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็น

นพ.สุรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนความพร้อมของหน่วยไตเทียมนั้น ขณะนี้มีหน่วยไตเทียมสำหรับฟอกเลือดประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งยังสามารถรับผู้ป่วยใหม่ได้มากขึ้นในขณะนี้ แต่ในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้า ถ้าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยไตเทียมที่มีก็อาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะบุคลากร เช่น พยาบาล แพทย์โรคไต หรือศัลยแพทย์ตัดต่อเส้นเลือด

"ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องหาบุคลากรมาอยู่ในตำแหน่งนี้มากขึ้น ให้ทุนมาฝึกอบรมมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อมีบุคลากรและหน่วยไตเทียมมากขึ้น ก็ต้องมีการดูแลเรื่องคุณภาพ เช่น มีการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการรับรองมาตรฐานการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ภายใต้แพทยสภา" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว