ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ทพ.สุชิต พูลทอง คือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกทันตแพทยสภา ในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ ภายหลังได้รับการโหวตในที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 10 พ.ศ. 2565-2568 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา

ด้วยคะแนนเสียงที่ล้นหลามจากทันตแพทย์ทั่วประเทศ ที่ออกมาร่วมกันใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้กลุ่มทันตแพทย์จากทีม "Well Mixed" ของ “ทพ.สุชิต” ได้รับเลือกรวม 21 คน จากจำนวน 23 เก้าอี้ ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่านโยบายหรือแนวทางการทำงานของทันตแพทย์กลุ่มนี้ คือสิ่งเดียวกันกับที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ต้องการ

"The Coverage" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ทพ.สุชิต” ถึงแนวทางการดำเนินงานของทันตแพทยสภา ซึ่งจะมีพันธกิจและหน้าที่หลักในการรับรองปริญญา รับรองหลักสูตร ดูแลการขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพของทันตแพทย์ ขณะเดียวกันยังจะทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดในกรณีที่มีการร้องเรียนทันตแพทย์จากประชาชน

นายกทันตแพทยสภาป้ายแดงรายนี้ ได้บอกเล่าถึงหน้างานหลัก และภารกิจรองอื่นๆ เช่น การสร้างมาตรฐานเรื่องของการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด 19 หรือจำนวนบุคลากรทันตแพทย์ในประเทศ ซึ่งเขามองว่าทันตแพทยสภาจะมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเรื่องที่มีการถกเถียงในวิชาชีพ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและออกมาเป็นหนึ่งเดียว สำหรับประเทศไทย

จากนโยบายและเป้าหมายจำนวนมากมายที่นายกทันตแพทยสภาหมายมั่นปั้นมือ บรรทัดถัดจากนี้คือส่วนหนึ่งที่เขาได้กลั่นกรองและรวบยอดให้ฟังถึงทิศทางของการดำเนินงานนับจากนี้

‘ผู้ช่วยทันตแพทย์-ทันตาภิบาล ต้องก้าวหน้า

ทพ.สุชิต เริ่มต้นให้ภาพการทำงานภายหลังเข้าสู่ตำแหน่งตามนโยบายที่ได้มีการวางเป็นโรดแมปเอาไว้ โดยเป็นการพัฒนาและปรับปรุงในสิ่งต่างๆ ซึ่งมีที่มาจากการความต้องการที่แท้จริงของทันตแพทย์ ซึ่งสะท้อนผ่านการเดินสายรับฟังเสียงบุคลากรทั่วประเทศก่อนหน้านี้

หนึ่งในงานใหญ่ที่ “ทพ.สุชิต” พูดถึง คือการดูแลบุคลากรทางด้านทันตกรรม ซึ่งนอกจากทันตแพทย์แล้ว ยังรวมไปถึงผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขต่างๆ ที่ล้วนเป็นมือไม้สำคัญของทันตแพทย์ ซึ่งเขายอมรับว่าขณะนี้ยังค่อนข้างเคว้งคว้าง และไม่มีสภาหรือใครที่ดูแลกลุ่มเหล่านี้โดยตรง ขณะเดียวกันก็ยังขาดความก้าวหน้าในสายงาน

สำหรับ ทันตาภิบาล ซึ่งเรียนจบ 2 ปี และออกมาทำงานในด้านการป้องกันเป็นหลัก พบว่ามีปัญหาในเรื่องของความก้าวหน้าทางสายงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ บางรายแม้จะทำงานมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี กลับยังคงมีเงินเดือนเท่าเดิม ในช่วงหลังจึงมีการเปลี่ยนเรียนหลักสูตรจาก 2 เป็น 4 ปี เพื่อให้สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข และมี Career Path ที่เติบโตได้

"แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นเรียน 4 ปีหมดแล้ว แต่ก็ยังกลุ่มที่ค้างท่ออยู่อีกมาก เราจึงต้องพยายามเร่งให้เขา โดยอาจขอให้มหาวิทยาลัยช่วยเปิดเป็นหลักสูตรพิเศษ นำเอากลุ่มที่ค้างท่อมาอัพเกรดให้เติบโต และสามารถเข้าระบบ สธ.ได้" ทพ.สุชิต อธิบาย

ขณะที่ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เรียน 1 ปี ก็ยังไม่มีเส้นทางอาชีพที่ดี แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการและขาดแคลนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนทันตแพทย์มีเยอะ แต่ผู้ช่วยทันตแพทย์มีไม่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีบางส่วนที่ไปฝึกกันเอง ซึ่งไม่ได้มีหลักสูตรรองรับ เหมือนฝึกจากโรงเรียน อาจส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานในการทำงาน จึงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงนักรังสีทันตกรรม และช่างแล็บทางทันตกรรม ซึ่งเป็นอีกสองกลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแลด้วยเช่นกัน

ทุกกลุ่มที่ว่ามานี้ทำงานสนับสนุนเราหมด แต่เขาไม่เติบโต อย่างผู้ช่วยทันตแพทย์ ถ้าหมอฟันทำงานโดยไม่มีเขาอยู่ข้างๆ ก็ทำไม่ไหว ประสิทธิภาพตก เพราะผู้ช่วยคนหนึ่งสามารถช่วยงานได้เยอะมาก ฉะนั้นเราจึงต้องดูแลคนข้างๆ ให้มีเส้นทางการเติบโตและวิน-วินไปกับเรา แต่ตอนนี้เหมือนเรายังวินอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งมันก็จะลำบาก

เขาเล่าด้วยว่า นอกจากการแก้ไข Career Path แล้ว ยังต้องคิดไปถึงการดูแลกลุ่มเหล่านี้ ว่าจะนำเข้ามาอยู่ภายใต้ทันตแพทยสภาด้วยหรือไม่ หรือจะมีสภาที่ดูแลกลุ่มของเขาเอง เพราะอย่างในส่วนของทันตาภิบาลที่ทำงานอยู่กับ สธ. หากถูกกรณีฟ้องร้องแล้วจะไม่มีใครดูแล เพราะเขาไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และทำงานภายใต้ใบประกอบฯ ของทันตแพทย์

"สมมติว่าทันตาภิบาลถูกฟ้อง ทันตแพทย์จะต้องขึ้นศาลแทน เพราะเขาทำอยู่ภายใต้ใบประกอบวิชาชีพของทันตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ จึงนับเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ที่อาจกลายเป็นว่าทันตาภิบาลผู้ให้การรักษา แต่ทันตแพทย์ต้องรับโทษแทนในฐานะเจ้าของใบประกอบวิชาชีพที่ให้เขาใช้ ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่เราต้องมานั่งคิดว่าเขาควรจะอยู่กับสภาเรา หรือควรมีสภาของเขาเอง" ทพ.สุชิต ให้ภาพ

สมาร์ทการ์ด เก็บชั่วโมงการอบรมทันตแพทย์

กลับมาที่ปัญหาของตัวทันตแพทย์เอง “ทพ.สุชิต” สะท้อนว่าส่วนมากจะเป็นปัญหาในเชิงการปฏิบัติงาน โดยหนึ่งในนั้นคือปัญหาในแง่ของการฝึกอบรมภายใต้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองและตรวจประเมินคุณภาพ  ที่มีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนทันตแพทย์ที่ต้องการศึกษาต่อเฉพาะทาง

"ด้วยความที่มี Demand คนต้องการเรียนเยอะ แต่ Supply คือมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลที่เปิดสอนมีไม่เพียงพอ จึงมีการไปฝึกอบรมกับโรงเรียนข้างนอกที่เปิดขึ้นมาโดยบางแห่งไม่มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองตามหลักวิชา " ทพ.สุชิต ระบุ

เขาอธิบายเพิ่มว่า ส่วนที่ต้องแก้ไขอีกประการคือการสร้างสมดุลระหว่างสาขาที่จำเป็น แต่ทันตแพทย์ไม่นิยมเรียน เช่น รังสี หรือรอยโรคในช่องปาก รวมทั้งทันตสาธารณสุข ทำอย่างไรที่จะมีการส่งเสริมให้ทันตแพทย์เข้ามาเรียนมากขึ้นได้ เพราะเป็นที่ต้องการของประชาชน ขณะที่บางสาขาซึ่งเป็นหัตถการที่มีความนิยม เช่น ใส่ฟัน จัดฟัน เหล่านี้ทันตแพทย์แย่งกันเรียน แต่มีเปิดสอนไม่เพียงพอ จึงต้องทำให้เกิดสมดุลที่ดีระหว่าง Demand และ Supply ของทั้งสองส่วนนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการเป็น Dental Hub ของประเทศ

สิ่งนี้เป็น Pain Point ของทั้งแพทย์และทันตแพทย์ เมื่อหลักสูตรที่เป็นที่นิยม มีไม่พอกับความต้องการ ทำให้แพทย์และทันตแพทย์ไม่ได้รับการศึกษาต่อ ก็อาจส่งผลเสียหายไปสู่ประชาชน เราจึงต้องยื่นมือเข้าไปดูแลเพิ่มขึ้น 

อีกหนึ่งภารกิจหลักที่ ทพ.สุชิต ยกเป็นประเด็นสำคัญ คือการปรับระบบที่เท่าทันกับยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับการพัฒนาแพลทฟอร์มที่ช่วยให้การทำงานของทันตแพทย์นั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีตัวอย่างหนึ่งคือการที่ทันตแพทยสภานำระบบ e-voting มาใช้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 50% จากแต่เดิมที่มีเพียง 20-30%

ในอีกทางหนึ่งคือใบประกอบวิชาชีพของทันตแพทย์ ที่มีอายุ 5 ปี และเมื่อครบกำหนดแล้วทันตแพทย์ก็จะต้องไปเข้ารับการฝึกอบรม เก็บคะแนนสะสม เพื่อนำมาใช้ในการต่อใบประกอบวิชาชีพ ในส่วนนี้อาจสามารถเปลี่ยนเป็นแพลทฟอร์มดิจิทัล โดยให้ทันตแพทย์ถือสมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียว เมื่อเข้ารับการอบรมก็นำไปแตะเพื่อสะสมเป็นเครดิต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะวิ่งเข้ามาที่ทันตแพทยสภา ทำให้รับรู้ทันตแพทย์แต่ละรายอบรมอะไรไปแล้วกี่ชั่วโมง เป็นต้น

ปรับแก้ กม.โฆษณา หมอฟัน บอกสรรพคุณตัวเองได้

อีกหนึ่งเป้าหมายลำดับต้นๆ ที่ “ทพ.สุชิต” และทีมยังได้แสดงความตั้งใจไว้ คือการปรับกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่อาจล้าสมัยและไม่ทันกับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเรื่องของการ "โฆษณา" ซึ่งนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของกฎหมายไทย ที่ยังมีส่วนที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ทพ.สุชิต อธิบายว่า กฎข้อนี้ถูกเขียนขึ้นมาเป็นเวลานาน ที่ไม่ว่าแพทย์หรือทันตแพทย์ของประเทศไทย จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้คำที่อาจเป็นการอวดอ้างสรรพคุณของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น จะใช้คำว่า “ฟันสวย” ไม่ได้ ซึ่งยุคสมัยเปลี่ยนทั้งเรื่องของถ้อยคำและในมุมของวิธีการช่องทางและความเร็วการสื่อสาร ที่น่าจะถึงเวลาที่จะต้องทบทวนให้เข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ดังประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อกำหนดที่ไม่ทันกับโลกยุคดิจิทัลที่เป็นโลกของการโฆษณาในปัจจุบัน จึงอาจเกิดการเอาผิด ร้องเรียน หรือกระบวนการทำโทษที่ไม่เท่าเทียม กันระหว่างประเทศ  ส่งผลให้ทันตแพทย์ไทยอาจเสียเปรียบทันตแพทย์เพื่อนบ้าน ในกรณีกระทำการโฆษณาที่เหมือนกัน แต่อยู่ภายใต้กฏหมายที่ไม่เหมือนกัน ในเรื่องนี้จะต้องมีการไปศึกษากฏหมายที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้ทันตแพทย์ไทยเสียเปรียบหากมีการเคลื่อนย้ายเสรีของทันตแพทย์ในอาเซียนเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานที่ “ทพ.สุชิต” และทีมตั้งเป้าทำให้ได้ภายใน 3 ปีนี้ แม้บางเรื่องอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่านั้น แต่พวกเขาก็ได้ตั้งเป้าที่จะวางรากฐานเพื่อให้เกิดการผลักดันต่อไป และเน้นย้ำว่าทิศทางการดำเนินงานแต่ละอย่างนี้จะไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมการสภาฯ เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรับฟังมุมมองจากสาธารณะที่รอบด้าน ทั้งมุมของทันตแพทย์และประชาชน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายต่อไป