ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พบสัญญาณ ‘ไข้เลือดออก ระบาด เตือนประชาชนเฝ้าระวังหลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า นอกจากโรคโควิด 19 ที่ประชาชนต้องระวังแล้ว ช่วงนี้ยังควรระวังโรคไข้เลือดออกอีกโรคหนึ่งด้วย เนื่องจากการคาดการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 นี้ คาดว่าจะกลับมาระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไป 2 ปี เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง โดยที่ภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง

นอกจากนี้สัญญานเตือนที่สำคัญคือ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตแล้ว 2 ราย จุดสังเกตคือ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้งสองรายเป็นผู้ใหญ่อายุ 37 ปี และ 40 ปี  เนื่องจากระยะแรกของอาการไข้ในผู้ใหญ่มักไม่ค่อยนึกถึงโรคนี้ คนป่วยซึ่งอยู่ในวัยทำงานมักไปรับการรักษาที่คลินิกหรือซื้อยามากินเอง และเมื่ออาการไม่เด่นชัดว่าเป็นไข้จากโรคอะไร มักได้รับยาที่ช่วยลดไข้ได้เร็ว ได้แก่ ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งมีผลในการทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร และโดยเฉพาะยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน หรือ ไดโครฟีแนก ยิ่งจะทำให้ให้เลือดออกรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ซึ่งการใช้ยาลดไข้ ขอให้ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นหลัก

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ป่วย 193 ราย พบมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนครปฐม  สำหรับกลุ่มอายุที่พบป่วยสูงสุดคือ อายุ 5-14 ปี จำนวน 61 ราย รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี จำนวน 48 ราย ผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 2 ราย เป็นผู้ใหญ่ทั้งสองราย  

นพ.โอภาส กล่าวว่า ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรงอาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว

ทั้งนี้หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและรวดเร็ว หรือหากพบผู้ป่วยสงสัย ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพื่อประเมินอาการและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจ โดยสามารถตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว NS1 และแอนติบอดี้ (antigen-antibody test kit) ก็จะคัดกรองโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นได้เช่นกัน

“ขอให้ทุกบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุดด้วยหลักการ 3 เก็บ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ดังนี้ 1. เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก  2. เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดบริเวณรอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้  3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ หรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น อ่างเลี้ยงไม้น้ำ” นพ.โอภาส กล่าว