ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมโรคไต-พยาบาลโรคไตฯ ออกแถลงการณ์ร่วม แนะผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทองพิจารณาวิธี “ฟอกไต” ที่เหมาะสมรอบด้านระหว่าง “การฟอกเลือด-ล้างไตช่องท้อง” ให้คำนึงค่าใช้จ่ายแฝง-การเดินทาง ย้ำภาครัฐให้ความสำคัญมาตรฐาน-เพิ่มบุคลากร-สร้างแนวปฏิบัติ ยันปลายทางคือการ “ปลูกถ่ายไต” ต้องรณรงค์การบริจาคเพิ่มมากขึ้น


สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ถึงกรณีนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและมีสิทธิเลือกการฟอกไตที่เหมาะสมกับตนเอง สอดคล้องกับวิถีชีวิตภายใต้บริบทข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสม โดยจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน

ทั้งนี้ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis หรือ HD) เป็นการฟอกไตที่ต้องนำเลือดออกจากเส้นเลือดผ่านตัวกรอง (dialyzer) และเครื่องฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับการนำเลือดออกจากร่างกายระหว่างฟอกเลือดก่อน ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่าหากมีปัญหาเพิ่มเติม

สำหรับข้อดีคือ ไม่ต้องทำเอง อาศัยพยาบาลไตเทียมที่ต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางให้การรักษา ใช้เวลาฟอกเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อครั้ง ส่วนข้อเสียคือต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกไตเทียมบ่อย เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีปัญหาความดันตกง่าย หรือหากมีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจบางชนิด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างการฟอกเลือด

ขณะที่การล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis หรือ PD) เป็นการฟอกไตที่อาศัยผนังในช่องท้องเป็นตัวกรองในการเอาของเสียออกจากร่างกาย ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดวางสายล้างไตที่ผนังหน้าท้องก่อน เพื่อเป็นช่องทางลำเลียงน้ำยาเข้า-ออกจากร่างกาย สามารถทำเองได้ที่บ้าน มี 2 แบบ คือ ทำเอง (CAPD) หรือใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)

ในส่วนของข้อดี คือ ทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อย มีโอกาสติดเชื้อน้อยมากหากทำถูกต้องตามขั้นตอน ไม่เสี่ยงต่อความดันตกขณะฟอก สำหรับข้อเสีย คือ ต้องพกเอาน้ำยาติดตัวหากเดินทางไปต่างจังหวัดหรือพักค้างคืนที่อื่น อาจติดเชื้อหากทำผิดหรือข้ามขั้นตอน หรือมีการปนเปื้อน

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ระบุว่า การเลือกวิธีฟอกไตควรพิจารณาปัจจัยรอบด้าน เช่น โรคประจำตัว ระยะทางระหว่างบ้านและโรงพยาบาล ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทางไป-กลับ ระหว่างโรงพยาบาลหรือคลินิกไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 รอบหรือมากกว่าหากมีปัญหา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิธียังไม่มีความแตกต่างของความยืนยาวของชีวิตผู้ป่วยฟอกไตอย่างชัดเจน ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 การเลือกวิธีการรักษาที่อยู่กับบ้านเป็นหลัก (home-based therapy) โดยการล้างไตทางช่องท้อง เป็นวิธีการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อขณะฟอกเลือด

“นโยบาย สิทธิบัตรทองฟอกเลือด จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความพร้อมเชิงระบบเพื่อรองรับผู้ป่วยฟอกเลือดที่อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยังคงมาตรฐานและคุณภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงระหว่างการฟอกเลือด” เนื้อหาตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย จึงมีความเห็นร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมีประสิทธิผล โดยเป็นการดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพของการฟอกไตไม่น้อยไปกว่าปริมาณ โดยคงมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ถือปฏิบัติมานาน และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจะได้เร่งการตรวจรับรองคุณภาพของศูนย์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พร้อมดำเนินการปรับเกณฑ์การรับรองมาตรฐานภายใต้คณะอนุกรรมการตรวจรับรองมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ตรต.) ของแพทยสภา

2. ขยายการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลวิชาชีพ เพื่อเพิ่มบุคลากรในระบบที่ยังขาดแคลน รวมทั้งประสานกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์เร่งผลิตศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำเส้นเลือดฟอกไต 3. สร้างแนวปฏิบัติในการเริ่มการบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 วิธี คือการฟอกเลือด และการล้างไตทางช่องท้อง และมีการนำไปใช้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับข้อมูลการฟอกไตทั้ง 2 วิธีอย่างครอบคลุม

เนื้อหาตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการบำบัดทดแทนไตที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ประหยัดงบประมาณของรัฐ คือการให้ผู้ป่วยไม่ว่าฟอก ไม่ว่าฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ได้รับการปลูกถ่ายไตให้ไวที่สุด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ต้องพึ่งพิงการฟอกไปตลอดชีวิต แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนอวัยวะไตบริจาคจากผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 500 ไต ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยฟอกไตที่มีจำนวนหลักแสน

“ดังนั้นควรรณรงค์การบริจาคไต และให้ความสำคัญกับการปลูกถ่ายไตควบคู่กันไป และในขณะเดียวกันควรป้องกันไม่ให้ประชาชนชาวไทยต้องมาป่วยเป็นโรคไตและต้องฟอกไต ด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดการบริโภคเค็ม หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้อักเสบปวดข้อ (NSAIDs) และยาสมุนไพร โดยไม่จำเป็น และท้ายที่สุดภาคีองค์กรฯ จะเร่งดำเนินการสำรวจความพร้อม ศักยภาพ และหนทางการปฏิบัติเพื่อสนองนโยบายรัฐต่อไป” ตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุ