ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สูตินรีแพทย์ เสนอ สปสช. เพิ่มช่องทางให้บริการถุงยางอนามัย-ยาคุมชนิดรับประทาน พร้อมทั้งปรับลดช่วงอายุกลุ่มเป้าหมายให้ต่ำกว่า 15 ปี เพื่อเข้าถึงการคุมกำเนิดมากขึ้น


นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา เปิดเผยกับ “The Coverage” ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คิกออฟนโยบายแจกยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการให้บริการยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัยอยู่แล้ว โดยผู้ที่มารับถุงยางอนามัยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยในคลินิก HIV หรือกลุ่มอาชีพพิเศษ ส่วนยาคุมกำเนิดจะเป็นกลุ่มวัยทำงานและเป็นผู้ป่วยที่ตรวจติดตามกับคลินิกนรีเวช ไม่ใช่ผู้ที่มาขอรับยาคุมโดยเฉพาะเจาะจง

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาหลักที่คนไม่เข้ามารับบริการ แม้ว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะพัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนจนทำให้สังคมมีการยอมรับมากขึ้นในเรื่องการคุมกำเนิด แต่ข้อเท็จจริงคือคนยังรู้สึกอายไม่กล้ามาขอ โรงพยาบาลเป็นที่ที่เอาไว้รักษาโรค ไม่ใช่มารับยาคุมหรือถุงยาง ถ้าถามคนไข้ถึงเรื่องสถานที่ที่เหมาะสมในการรับบริการดังกล่าว คำตอบของคนส่วนใหญ่จะนึกถึงร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อมากกว่าโรงพยาบาล

“ถ้านักเรียนจะเข้ามาขอถุงยาง หรือขอยาคุมกำเนิดในโรงพยาบาล ยังคงเป็นเรื่องไม่ปรกติอยู่ดี ตามบริบทของประเทศไทย คนไปโรงพยาบาลคือคนป่วย มิติของการสร้างเสริมหรือป้องกันยังน้อยกว่ามาก ต่อให้สนับสนุนและฟรี แต่ถ้าต้องลางานลาเรียนมาต่อคิวทั้งวันเพื่อตรวจแล้วรับถุงยาง 10 ชิ้น ยาคุม 3 แผง คนไข้ไม่น่าจะสะดวก” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การนำเอาเทคโนโลยีออนไลน์เข้ามาช่วยในการเข้าถึง โดยใช้แอพเป๋าตังในการขอรับยาคุมไม่เกิน 3 แผงต่อครั้ง 13 แผงต่อปี หรือใช้ line มาช่วยในการขอรับถุงยางอนามัยไม่เกินอาทิตย์ละ 10 ชิ้น ของ สปสช. นับว่าตอบโจทย์มากในเรื่องการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนไข้วัยทำงาน และนักเรียน แต่จะดียิ่งขึ้นหากสามารถเลือกสถานที่รับยาคุมหรือถุงยางอนามัยได้ทางไปรษณีย์ ทางร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ ในขณะนี้เกณฑ์อายุในการขอรับบริการคืออายุเกิน 15 ปี การปรับลดอายุลงกว่านี้ น่าจะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการคุมกำเนิดมากขึ้น

“แนวทางต่างๆ ของสปสช. ในการสนับสนุนการคุมกำเนิดนั้นมีความชัดเจน เห็นถึงการให้ความสำคัญ แต่อย่างไรก็ที่ผ่านมายังมีปัญหาของสถานบริการในการดูแลคนไข้อยู่บ้าง เช่น เรื่องการไม่ให้ใช้สิทธิ์ฝังยาคุมกำเนิดฟรีในผู้ที่อายุเกิน 20 ปี การเรียกเก็บค่ายาฝังคืนจากคนไข้หากต้องการเอายาฝังออกก่อน การฝังยาคนไข้วัยรุ่นโดยไม่อธิบายผลข้างเคียงและให้ทางเลือกในเรื่องการแจกยาคุมและถุงยางนี้ก็เชื่อว่าจะมีปัญหาบ้างแน่ๆ ซึ่งจำเป็นต้องประเมินผล และแก้ไขกันต่อไป” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว