ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางพิจารณาเตรียมพร้อมให้โรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" หลังสถานการณ์เหมาะสม-เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมเห็นชอบจัดตั้งคลินิกวัคซีนในผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่า 0.1% การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10% และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80% เป็นต้น

2. เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง โดยมาตรการที่ สธ.ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์โรคประจำถิ่นที่กำหนด สธ.จะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวนทั้งสิ้น 5.8 ล้านคน ขณะนี้มีวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย ส่งมอบลอตแรกแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 จำนวน 3 แสนโดส และจะทยอยจัดส่งต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมฉีดให้เด็กจำนวน 2 เข็ม

ทั้งนี้ จะเริ่มในกลุ่มเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รักษาในโรงพยาบาล (Hospital-based vaccination) เพื่อป้องกันเด็กป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จากการแพร่และรับเชื้อ ตั้งแต่ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และขยายไปยังเด็กกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งให้บริการที่โรงเรียน (School-based vaccination) ในระดับประถมศึกษา สังกัดหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงเด็กที่เรียนผ่านระบบ home school ด้วย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในส่วนผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะฉีดให้ตามสูตรที่กำหนด เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง โดยยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี รวมทั้งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือน ก.พ. จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด