ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แถลงผลการรับฟังปัญหาสถานะบุคคลกลุ่ม "คนไทยพลัดถิ่น" พบอุปสรรคเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หน่วยงานรัฐขาดบุคลากรทางทะเบียน-พิสูจน์สถานะบุคคลล่าช้า


เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2565 โดยมีหนึ่งในวาระสำคัญคือการลงพื้นที่รับฟังปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งพบอุปสรรคการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หน่วยงานรัฐขาดบุคลากรทางทะเบียน และพิสูจน์สถานะบุคคลล่าช้า

สืบเนื่องจากการที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนางปรีดา คงแป้น ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ได้ลงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 19-21 ม.ค. 2565 เพื่อรับฟังสถานการณ์และหารือถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และผู้แทนส่วนราชการภายในจังหวัด

ทั้งนี้ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา) ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ดำเนินไปด้วยความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล หรือการเข้าเรียนในสถานศึกษา

ขณะเดียวกันทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ กสม. เร่งติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สถานะ การตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด หรือการให้รับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา เป็นต้น

ในโอกาสดังกล่าว กสม. ยังได้รับทราบข้อมูลจากผู้แทนส่วนราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระนอง ระบุว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 1,200 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,700 ราย ส่วน จ.ระนอง มีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 2,900 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,400 ราย (ข้อมูล ณ ปลายปี 2564)

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหามีความล่าช้า เนื่องจากกระบวนการตรวจพิสูจน์ต้องอาศัยเวลาในการสอบพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมทั้งความเชื่อมโยงผังเครือญาติ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาบุคลากรทางทะเบียนมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งบางอำเภอสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะได้เพียงวันละ 1 รายเท่านั้น

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า เรื่องสถานะบุคคลและการตรวจพิสูจน์เพื่อรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่นำไปสู่โอกาสในเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การประกอบอาชีพ อันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับและรัฐต้องจัดหาให้อย่างเสมอภาค

ทั้งนี้ ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ข้อ 5 มีหลักการไว้ให้รัฐภาคีห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด 

ในส่วนกรณีปัญหาของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนานนี้ เป็นประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมา กสม. ชุดที่ 2 เมื่อปี 2558 เคยมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.)

ขณะที่ล่าสุด กสม. ชุดที่ 4 เมื่อเดือน ก.ค. 2564 มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูล ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้แก่คนไทยพลัดถิ่นในเชิงโครงสร้างด้วย 

"ส่วนข้อมูลสภาพปัญหาที่ได้รับฟังจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ กสม.จะประสานไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว