ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การที่แพทย์ถูกเฆี่ยนตีด้วยชั่วโมงการทำงานอย่างสาหัสสากรรจ์ เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมายาวนานกินเวลาหลายปี แต่ทว่าจวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีสิ่งใดเข้ามาช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกทุกข์ระทมเหล่านั้นได้

นั่นทำให้แพทย์บางคนยังคงต้องก้มหน้ารับชะตาควงกะยาวๆ ถึง 48 ชั่วโมง

แม้แพทยสภาจะออกประกาศเมื่อปี 2560 ที่ว่าด้วยเรื่องการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีผลในทางบังคับใช้

ความอึดอัดคับข้องดังกล่าว ผลักดันให้เหล่าบรรดาแพทย์จบใหม่-แพทย์ใช้ทุน-แพทย์ประจำบ้าน ร่วมกันก่อตั้ง สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ขึ้นมา หวังผลักดันให้เกิด “กฎหมายควบคุมการทำงานของแพทย์” ขึ้นมา

รวมไปถึงเหล่า “ว่าที่แพทย์ อย่างนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่ตบเท้าออกมาอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) สภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งที่ว่า ให้มีการร่วมมือผลักดันการบังคับใช้กรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ตามประกาศของแพทยสภาที่ 104/2560 ให้เป็นร่างกฎหมาย

“The Coverage” พูดคุยกับ นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในแพทย์ที่แสดงจุดยืน “สนับสนุน” ให้เกิดกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์

เมื่อเหนื่อยล้า ความตั้งใจก็หล่นหาย

นพ.แมนวัฒน์ บอกว่า ส่วนตัวสนับสนุนการผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เพราะการทำงานเกินเวลา เกินขอบเขตที่แพทย์จะทำได้เต็มความสามารถ ย่อมมีผลเสียโดยตรงกับทั้งต่อตัวแพทย์และคนไข้  

สำหรับกลุ่มแพทย์ที่มีปัญหาเรื่องงานหนักมากที่สุด คือแพทย์จบใหม่ใช้ทุนปีแรกที่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะต้องอยู่เวรของแผนก ทั้งเวรตรวจทั่วไปและเวรในห้องฉุกเฉิน ซึ่งเดือนหนึ่งจะต้องอยู่มากถึง 15 วันหรือครึ่งหนึ่ง

นี่แค่ยืนพื้น บางคนหนักๆ ก็ต้องเข้ามากกว่า 20 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละโรงพยาบาล

นั่นทำให้แพทย์จบใหม่เครียด-เหนื่อยล้า ความตั้งใจอยากทำเพื่อส่วนรวม-เพื่อผู้ป่วยที่เคยมี รวมไปถึงอยากเป็นแพทย์ที่ดีอาจจะหายไป และในส่วนนี้ยังส่งผลไปถึงผู้ป่วยอีกด้วย เพราะเมื่อแพทย์ที่ดูแล ร่างกาย-จิตใจไม่พร้อม การเชื่อมประสานระหว่างกันรวมไปถึงการรักษาต่างๆ ก็ย่อมขาดประสิทธิภาพตามไปด้วย

นพ.แมนวัฒน์ อธิบายว่า สมัยก่อนสถานการณ์แย่กว่านี้ เพราะจำนวนแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลมีน้อยกว่ามาก ทำให้สัดส่วนเวรที่ต้องอยู่ หน้าที่รับผิดชอบต่างๆ เกินกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่แพทย์หลายคนในรุ่นก่อนๆ ลาออก เพราะอยู่ในระบบไม่ได้

ในช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่ สงกรานต์ หรือตอนน้องไม่มาช่วยอาจต้องอยู่ต่อเนื่องรวดเดียวเป็นสัปดาห์ และทำงานต่อเลย เคยต้องอยู่คนเดียวต่อเนื่อง สองสัปดาห์ ซึ่งหนักมาก

ความแย่คือเวลาขับรถกลับบ้านที่กรุงเทพ เกิดหลับใน รถวิ่งเข้าเกาะกลางอยู่หลายหน แต่ก็แก้อะไรไม่ได้ ถ้าไม่ทน ก็จะไม่มีหมอประจำเหลือดูแลคนไข้เลย

อย่างไรก็ดี ในอดีตโรงพยาบาลใหญ่มีสตาฟ-แพทย์ใช้ทุนน้อย ทำให้บางโรงพยาบาลมีแพทย์อยู่เวรคนเดียวทุกวอร์ด และอยู่เวรแทบทุกวัน เวลาวิกฤตจะตามพี่ๆ มาช่วยก็ยาก ทำให้ต้องตัดสินใจดูแลผู้ป่่วยที่ซับซ้อนเองทั้งที่เพิ่งจบใหม่

นพ.แมนวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า หากเปรียบเทียบความหนาแน่นของเวร หรือหน้าที่จากอัตราส่วนของแพทย์ตอนจบมาใหม่ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน ที่โรงพยาบาลมีแพทย์เพียง 3-4 คน รวมผู้อำนวยการ แต่เมื่อเพื่อนแพทย์ใช้ทุนลาออกไป 2 คน และได้แพทย์จบใหม่เข้ามาช่วยแทนเดือนละ 1-2 คน การอยู่เวรแทบจะเป็นวันเว้นวัน และดูทั้งโรงพยาบาลคนเดียว แต่ในปัจจุบันมีแพทย์ได้เพิ่มมาเป็นแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางรวมกันประมาณ 20 คน

จำนวนแพทย์อยู่เวรแต่ละวันมากกว่าหนึ่งคน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบกัน ความถี่และความหนักของเวรจึงลดลง

มีความพยายามส่งเสียง มีการเสนอให้เปลี่ยนระบบการทำงานมานานแล้ว แต่ถูกกลบไว้ด้วยระบบอาวุโส ระบบราชการ วัฒนธรรมของรุ่นก่อน แต่ปัจจุบันค่านิยมต่างๆ เปลี่ยนไปน้องๆ Gen Z กล้าที่จะแสดงความเห็นมากกว่าพี่ๆ

กม.คุมชั่วโมงการทำงาน ควรรวม ทุกสายงานในโรงหมอ

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวคิดว่าปัญหาเรื่องการควงเวรนั้นสามารถทำให้ดีขึ้นได้ แต่หากจะจัดการทีเดียวให้จบอาจจะมีผลกระทบกับผู้ป่วยมาก เพราะเราไม่สามารถปิดโรงพยาบาลรับเฉพาะเคสฉุกเฉิน หรือทำการนัดแพทย์แบบจำกัดคิว ที่ต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อรอพบแพทย์เหมือนในต่างประเทศได้

นพ.แมนวัฒน์ บอกว่า สำหรับกฎหมายการควบคุมการทำงานคงไม่ใช่เฉพาะของแพทย์เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึง “ทุกสายงานในโรงพยาบาลซึ่งล้วนแต่ทำงานหนักกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดนี้

เพื่อที่อย่างน้อยก็เป็นหลักเอาไว้อ้างอิง แต่อาจจะต้องมีการยืดหยุ่น ข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดปัญหากับผู้ป่วยได้

ถ้าใครเกินกำหนดต้องได้ค่าตอบแทนพิเศษ มีลิมิตสูงสุดที่ห้ามเกินเด็ดขาด มีความยืดหยุ่นของเวลาทำงาน จัดกะกันเองได้ ไม่ใช่นับเวลาทำงานแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น และเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนต่าง ๆ มาให้

เหน็ดเหนื่อยกับระบบทำให้แพทย์ ลาออก

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้แพทย์ต้อง “ลาออก” นพ.แมนวัฒน์ บอกว่า เหตุผลยังคงคล้ายเดิม คือไปเรียน เบื่อระบบราชการ ขาดความก้าวหน้า-แรงจูงใจ ออกไปอยู่เอกชน หรืองานอื่นตามความต้องการ เป็นต้น

“เรื่องความหนักของเวรและภาระงานอาจจะหนักสุดช่วงแรกตอนใช้ทุนปีหนึ่ง และช่วงสองตอนทำงานในสาขาหรือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนหมอ”  

ส่วนเรื่องความ “Toxic” ในที่ทำงานก็มีผล แบะเป็นปัญหามากในตอนใช้ทุนปีแรก แต่หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น คนที่ลาออกส่วนมากคือต้องการจะลาออกอยู่แล้ว และระบบราชการ-ระบบการทำงานอื่นๆ มีผลทำให้แพทย์รุ่นใหม่เบื่อหน่ายกับการทำงานจนนำไปสู่การลาออก

นพ.แมนวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า แพทย์เฉพาะทางรุ่นพี่ก็มีปัญหาจากเวรไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างที่โรงพยาบาล ในขณะนี้มีแพทย์สูตินรีเวช 2 คน สลับเวรกันอยู่สัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดูทั้งเคสในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ก่อนหน้าที่จะมีหมอคนที่สองมาช่วย ต้องอยู่คนเดียวรับปรึกษาทุกวันเป็นเดือนๆ ติดต่อกัน

เมื่อก่อนเคยต้องช่วยน้องๆ อยู่เวร ER ในตอนนั้นก็รู้สึกแย่ เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางนั้นห่างกับเคสนอกสาขามานานแล้ว

ปัญหามันมากกว่าที่หลายคนพูดว่าพี่กินแรงน้อง หมอเฉพาะทางโยนเวรให้ Intern ตัวหมอแผนกต่างๆ เองก็รู้สึกถูกบังคับ ไม่ต่างกันที่ถูกจัดไปอยู่เวรฉุกเฉิน หรือตรวจคนไข้ทั่วไป ความรู้เรื่องนอกสาขาไม่อัพเดต งานรับผิดชอบสาขาตัวเองก็ไม่ใช่น้อย ถ้าสาขาที่คนน้อยก็อยู่เวรบ่อย และอาจจะต้องรับส่งต่อจากทั้งจังหวัด เป็นงานที่หนักมากอยู่แล้ว”

บางทีการเพิ่มตำแหน่งหมอประจำเวชปฏิบัติทั่วไปในโรงพยาบาลจังหวัด การเพิ่มหมอฉุกเฉิน  หรือส่งเสริมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ทั่วไป เป็น specialist GP อาจจะเป็นอีกทางออก ที่ดีกว่าการบังคับแพทย์ใช้ทุนรับเวรหนัก หรือบังคับหมอเฉพาะทางมานั่งตรวจหวัด หรือดูแลห้องฉุกเฉิน