ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

11 องค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพ ลงนามความร่วมมือด้านโรคไข้เลือดออก "Dengue-Zero" วางเป้าหมาย 5 ปี ผลักดันประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก ส่งเสริมทั้งระดับชุมชน-ระดับนโยบาย


ภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก "Dengue-Zero" เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ส่งเสริมองค์ความรู้แก่ชุมชน พัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมการระบาดและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก

สำหรับกรอบการทำงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ได้ตั้งเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ 25% หรือไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2. ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย 3. ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน

ในส่วนของกรอบการทำงานภายใต้ความร่วมมือนี้ จะมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 ซึ่งองค์กรพันธมิตรจะร่วมกันเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลังป้องกันและลดความเสี่ยงต่อไข้เลือดออก รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออก

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ไข้เลือดออกส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งสร้างภาระทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ ซึ่งการไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ทำให้ไข้เลือดออกกลายมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ

"การสร้างความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค เป็นกุญแจสำคัญที่จะต่อสู้กับโรคนี้ โดยพันธมิตรทั้ง 11 องค์กรที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ทั้งจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จัดทำการคาดการณ์พื้นที่ความเสี่ยงสูง สื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย และพัฒนาโครงการให้ความรู้สำหรับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย" ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

ด้าน มร.ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งในแต่ละปีมีประชากรทั่วโลกติดเชื้อ 390 ล้านคน โดยจำนวนผู้ป่วยกว่า 96 ล้านคนมีอาการป่วยอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยเองก็พบว่ามีอัตราการติดเชื้อนั้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ไม่เคยหายไป และยังคงสร้างความสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพยากร

"จึงเป็นโอกาสที่พวกเราจะรวมพลังกันต่อสู้กับไข้เลือดออก โดยการจะเอาชนะโรคนี้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานหรือใครเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก บริษัทจึงมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการมอบสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่คนไทย" มร.ปีเตอร์ กล่าว

อนึ่ง พันธมิตร 11 องค์กรที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ ประกอบด้วย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมควบคุมโรค, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมอนามัย, กรุงเทพมหานคร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรงพยาบาลเอกชน, สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เมื่อเป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ ขณะที่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่พบมาก ได้แก่ กระถางต้นไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงลาย

ในส่วนของผู้ที่ติดเชื้อ มักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดีกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ