ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลชุดใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าโรคระบาดโควิด-19 ได้หยุดบริการควบคุมและจัดการ “โรคมาลาเรีย” ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแถบประเทศแอฟริกา

ตามรายงาน World malaria report ของ WHO เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่ามีจำนวน “ผู้ติดเชื้อ” มาลาเรียประมาณ 241 ล้านคนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 14 ล้านคนเมื่อเปรียบเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้า

ขณะที่จำนวน “ผู้เสียชีวิต” จากโรคมาลาเรียก็ได้เพิ่มขึ้น 69,000 รายในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม  627,000 รายในปี 2563

สำหรับ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น หรือประมาณ 47,000 คน มีความเกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของบริการสาธารณสุขด้านมาลาเรียในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้บริการส่งเสริมป้องกันโรคมาลาเรีย การตรวจ และการรักษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

WHO ยังคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งภูมิภาคดังกล่าวเป็นแหล่งพบผู้ติดเชื้อเป็นอัตราส่วน 95% และผู้เสียชีวิตเป็นอัตราส่วน 96% ของจำนวนทั่วโลก โดยที่ 80% ของผู้เสียชีวิตในภูมิภาคนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลเสียต่อความพยายามของนานาประเทศในการหยุดยั้งโรคมาลาเรีย ซึ่งก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกเคยมีความก้าวหน้าจากจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียที่ลดลงถึง 27% และผู้เสียชีวิตที่ลดลงเกือบ  51% ในระหว่างปี 2543-2560

“ต้องขอบคุณองค์กรด้านสาธารณสุขที่ทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรีย ซึ่งผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อการจัดการโรคมาลาเรียยังไม่จบลง” นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลก กล่าว

“เราต้องใส่พลังและความตั้งใจในการตีกลับผลกระทบนี้ และเดินหน้าขบวนการหยุดยั้งโรคมาลาเรียให้ได้ต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวเสริม

ทั้งนี้ รายงานของ WHO ระบุว่า 15 ประเทศที่มีภาระสุขภาพจากโรคมาลาเรียสูงที่สุด มีอัตราการตรวจคัดกรองโรคลดลงถึง 20% เปรียบเทียบช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ในปี 2562 และ 2563

อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของโรคมาลาเรียนั้นกระจุกตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเมื่อพิจารณาภูมิภาคอื่นๆ ที่มีระบบสุขภาพแข็งแรงกว่า เช่น จีน เอลซัลวาดอร์ และอิหร่าน กลับมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียเป็น “ศูนย์” ในช่วงวิกฤติโควิด

ขณะที่ประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจาก 650,000 ราย เป็น 82,000 ราย ในระหว่างปี 2555 และ 2563

“รัฐบาลของประเทศแอฟริกาและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความพยายามในการขจัดโรคมาลาเรียให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะไม่สูญเสียความสามารถในการหยุดยั้งโรคนี้” นพ.มาซิดีโซ โมเอติ (Matshidiso Moeti) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแอฟริกา กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายของ WHO ที่ต้องการให้ทั่วโลกลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากมาลาเรีย ให้ได้ 90% ภายในปี 2573 เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้เครื่องมือและแนวทางใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

หนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การให้วัคซีน RTS,S/AS01 หรือ RTS,S ซึ่งสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากปรสิตในมนุษย์ รวมถึงเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม โดยวัคซีนชนิดนี้เริ่มมีการแจกจ่ายในแถบประเทศแอฟริกาใต้แล้ว

ขณะที่การใช้ “มุ้งกันยุง” ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และมีต้นทุนต่ำ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าการแจกจ่ายมุ้งไปยังประเทศที่มาลาเรียระบาดนั้น ประสบปัญหาการขนส่งที่ติดขัด ทำให้มุ้งที่เตรียมไว้สามารถแจกจ่ายได้ประมาณ 3 ใน 4 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม WHO ยังเสนอให้เพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อยกระดับ “ระบบปฐมภูมิ” และระบบสุขภาพในภาพรวม รวมทั้งสร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งจะประกันการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมาลาเรียในทุกกลุ่มประชากร

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนทั่วโลกมากถึง “สามเท่า” จึงจะเกิดผล โดยเพิ่มจาก 1.1 แสนล้านบาทต่อปี ในปี 2563 เป็น 3.5 แสนล้านบาทต่อปี ในปี 2573

ในส่วนของประเทศไทย นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 โดยมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเป็นอุปสรรค

นั่นได้รวมถึงโรคมาเลเรีย ซึ่งทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรียได้รับการดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการให้ยารักษาโรค ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้ 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกำจัดเชื้อมาลาเรียรุนแรงให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2566

จากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ทำให้มีจำนวนอำเภอที่แพร่เชื้อมาลาเรียลดลง จาก 119 อำเภอในปี 2560 เหลือ 85 อำเภอในปี 2563 ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียก็มีจำนวนลดลง จาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือ 3,939 รายในปี 2563

แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมานี้ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน พร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ที่ ส่งผลให้การขจัดโรคมาลาเรียของประเทศไทยสำเร็จไปได้

อ้างอิง:
https://www.who.int/news/item/06-12-2021-more-malaria-cases-and-deaths-in-2020-linked-to-covid-19-disruptions/

อ่านรายงาน World malaria report ฉบับเต็มที่นี่