ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานฉบับล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่า แม้ทั่วโลกจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังเป็นอัตราขยายตัวที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น และอาจส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งโลกได้ ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

ในรายงานการติดตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Tracking universal health coverage 2021 Global Monitoring Report ซึ่งจัดทำโดย WHO ระบุว่าหากไม่มีวิกฤติโควิด-19 กระบวนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนให้ประชากรทั้งโลกก็อาจไม่สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติได้ตั้งตัวชี้วัดด้านสุขภาพในเป้าหมาย SDGs โดยกำหนดว่าจะต้องมีคนเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น 1 พันล้านคน ภายในปี 2566 ซึ่งนั่นหมายถึงคนเหล่านี้จะเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และไม่ล้มละลายด้วยค่าใช้จ่ายสุขภาพ

หากแต่แนวโน้มในปัจจุบันชี้ว่า อาจมีจำนวนคนที่เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 270 ล้านคนเท่านั้น

ทั้งนี้ รายงานยังได้อ้างอิงถึงการให้คะแนนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC service coverage index ซึ่งเป็นคะแนนที่ชี้ความก้าวหน้าด้านการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ

พบว่าในภาพรวมทั่วโลกมีคะแนนเพิ่มจาก 45 เป็น 68 เต็ม 100 โดยในระหว่างปี 2543 และ 2562 สะท้อนว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการขยายความคลอบคลุมมากขึ้น

สำหรับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก มีคะแนนสูงสุดที่ 80 คะแนน ตามด้วยทวีปยุโรป 79 คะแนน และทวีปอเมริกา 77 คะแนน ส่วนทวีปแอฟริกามีคะแนนต่ำสุดที่ 46 คะแนน แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการดี เพราะคะแนนที่เพิ่มขึ้นถึง 22 คะแนนจากเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

ในส่วนของตัวชี้วัดด้านสุขภาพด้านอื่นๆ ก็มีค่าคะแนนดีขึ้น เช่น ตัวชี้วัดด้านอายุขัยเฉลี่ยของคน ที่เพิ่มจาก 66.8 เป็น 73.3 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศในแถบแอฟริกาก็มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11.7 ปี

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านการล้มละลายด้วยค่าใช้จ่ายสุขภาพกลับแย่ลง โดยมีประชากรที่ล้มละลายเพิ่มขึ้นจาก 940 ล้านคน เป็น 996 ล้านคนในระหว่างปี 2558-2560

สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประชากรบางส่วนมีแนวโน้มจนลง ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีผู้สูงวัย ซึ่งสมาชิกครอบครัวต้องแบกค่าใช้จ่ายประจำวันและค่ารักษาพยาบาล

นอกจากนี้ ในบางประเทศยังไม่มีมาตรการจากรัฐบาลที่แก้ไขสถานการณ์ความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประกอบกับต้นทุนด้านบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพเพิ่มขึ้นตาม

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 สถานการณ์การล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายสุขภาพอาจแย่ลงไปอีก เพราะโควิดกระทบการจ้างงาน คนที่จนอยู่แล้วยิ่งจนลงไปอีก จึงมีแนวโน้มเป็นหนี้เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

WHO ได้คาดการณ์ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะอยู่ไปอีกนานหลายปี หากรัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายลดความยากจนที่มีประสิทธิผล เช่น การให้เงินอุดหนุน และการทำโครงการรัฐสวัสดิการ รวมทั้งทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้มีรายได้น้อยก็มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในวังวนของการล้มละลาย

ทางออกของปัญหานี้ คือรัฐบาลต้องยกระดับระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง และริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสร้างพื้นฐาน “บริการปฐมภูมิ” ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินตัว

สำหรับการยกระดับบริการปฐมภูมินั้น WHO เสนอว่ารัฐบาลต้องทำแผนการพัฒนาระบบที่ชัดเจน ดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ เสริมสร้างพลังชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ ต้องลงทุนในระบบสุขภาพให้มากขึ้น รวมทั้งอัดฉีดเม็ดเงินไปที่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ทำโครงสร้างพื้นฐาน จัดหายาและเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น 

อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบาย รวมทั้งความร่วมมือของนานาประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ต้องการทรัพยากรด้านสุขภาพ และพัฒนานวัตกรรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ

ในส่วนของประเทศไทย ได้รับการยกย่องจากนานาชาติในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง แต่ก็ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเริ่มต้นกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 ที่ให้สิทธิด้านสุขภาพกับคนไทยทุกคน ควบคู่กับพัฒนาและขยายระบบบริการ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพที่จำเป็น

ข้อมูลดัชนีการลดภาระรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลของครัวเรือน (Household Health Expenditure) จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Catastrophic health expenditure: มีรายจ่ายด้านสุขภาพของมากกว่า 10% ของรายจ่ายทั้งหมดของครัวเรือน) มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จาก 7.94% (7.1 แสนครัวเรือน) ในปี 2531 เหลือ 1.97% (4.3 แสนครัวเรือน) ในปี 2562 ตามเป้าหมายไม่เกิน 2.3%

ขณะที่ครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจน ภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment: ครัวเรือนที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจน หลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล) ได้ลดลงจาก 2.36% (2.5 แสนครัวเรือน) ในปี 2531 เหลือ 0.2% (4.4 หมื่นครัวเรือน) ในปี 2562 ตามเป้าหมายไม่เกิน 0.47%

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน อันนำไปสู่การลดภาวะล้มละลายของครัวเรือนได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กลายเป็นต้นแบบการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

อ่านรายงาน Tracking universal health coverage 2021 Global Monitoring Report ฉบับเต็มที่นี่