ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการ "Cancer Anywhere" หรือ "ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม" เป็นนโยบายที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดยกระดับบริการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น เมื่อเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้นก็จะสามารถรักษาได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ลดอาการแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

การจะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งฝั่ง "ผู้ให้บริการ" ที่ต้องปรับระบบการตรวจวินิจฉัยและส่งต่อ และฝั่ง "ผู้ซื้อบริการ" อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเพื่อเอื้อให้เกิดบริการ รวมถึงฝั่ง "ผู้รับบริการ" ที่ต้องเข้าใจในระบบบริการ

การเชื่อมโยงทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ในพื้นที่บริการ "ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ" เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เปรียบเสมือนศูนย์บริการบัตรทองที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วยและโรงพยาบาล ให้ข้อมูลแนะนำเรื่องสิทธิ ตลอดจนรับคำร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังคอยทำงานขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อยู่หลังบ้าน

นางอันธิกา คะระวานิช รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลตราด และอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของ รพ.ตราด ซึ่งสร้างผลงานจนได้รับรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศ ตลอดจนเป็นกรรมการคัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯ ดีเด่นระดับประเทศในปีต่อๆ มา

ทั้งนี้ เธอได้ให้ความเห็นถึงบทบาทของ "ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ" ต่อการขับเคลื่อนนโยบาย Cancer Anywhere โดยระบุว่างานของศูนย์ฯ ไม่ใช่การจัดบริการ แต่ทำหน้าที่เพื่อสร้างการรับรู้สิทธิและดูแลการเข้าถึงบริการที่เป็นการคุ้มครองผู้ป่วย ตลอดจนการวางระบบประกันคุณภาพบริการให้กับประชาชน

"งานเหล่านี้ไม่ได้ทำเฉพาะแค่ฝั่งประชาชนเท่านั้น แต่ต้องทำให้หน่วยบริการ บุคลากรในหน่วยบริการ รับรู้ด้วยว่าถ้าจะทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจการใช้สิทธิ หน่วยบริการเองต้องทำอย่างไร" นางอันธิกา ระบุ

เมื่อโฟกัสมาที่นโยบาย Cancer Anywhere นางอันธิกา ระบุว่า เดิมทีการรักษามะเร็งเป็นบริการที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่นโยบายนี้ได้มุ่งยกระดับบริการให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ลดอาการแทรกซ้อนและการเสียชีวิต รวมถึงเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดในมะเร็งบางชนิดได้

ในส่วนบทบาทของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯ นอกจากการรับรู้นโยบายที่เป็นการปรับระบบบริการแล้ว ยังมองภาพรวมในงานที่ต้องขับเคลื่อนทั้งหมด ที่ต้องสอดรับการให้บริการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการขับเคลื่อนในส่วน "หลังบ้าน" เพื่อสนับสนุนการจัดบริการจึงได้เริ่มขึ้น

"เรามองเป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่ทีมแพทย์ เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจะต้องส่งผู้ป่วยเข้ารับบริการในนโยบายนี้ ห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บที่ต้องปรับระบบเพื่อผู้ป่วยได้รับผลตรวจยืนยัน และเข้าสู่บริการรักษาโดยเร็ว เช่นเดียวกับแผนกเอกซเรย์, ซีทีสแกน, MRI และอัลตร้าซาวด์ ที่แยกระดับความรุนแรงผู้ป่วยในการรับบริการ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจโดยเร็ว" นางอันธิกา อธิบาย

เธอระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีในส่วน "ศูนย์ส่งต่อ" ที่ปรับระบบทำใบส่งต่อให้ผู้ป่วยเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้ส่งต่อได้ตลอดที่ต้องไปรับบริการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็ง จากแต่เดิมต้องทำใบส่งตัวทุก 3 เดือน

"การรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ รพ.ตราด มีนโยบายที่เน้นส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากการซื้อยามะเร็งเพื่อรักษาผู้ป่วย รวมถึงการให้ยาเคมีบำบัด จะทำให้โรงพยาบาลมีต้นทุนบริการที่สูงเพื่อดูแลผู้ป่วยจำนวนไม่มาก ดังนั้นการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็งที่อยู่ใกล้เคียง อย่างโรงพยาบาลพระปกเกล้า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า" นางอันธิกา ให้เหตุผล

อย่างไรก็ดีการจะให้ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายนี้ได้ จะต้องดำเนินการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่เป็นอำนาจสูงสุด โดยศูนย์หลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ จะคอยทำหน้าที่สนับสนุนผู้ที่ทำงานในแผนกผู้ป่วยมะเร็งในการนำเสนอ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เธอเน้นย้ำคือ การสื่อสารกับผู้บริหารกับแพทย์ว่าเรื่องนี้คือ "Health Need" ที่ประชาชนต้องการ และสื่อสารกับห้องแล็บว่าจากที่รอผลตรวจเป็นรายเดือน จะขยับเป็นรายสัปดาห์ได้หรือไม่ โดยให้มี Track พิเศษสำหรับคนไข้ที่เร่งด่วน สื่อสารในเรื่องรายการยา โดยยามะเร็งบางรายการไม่ต้องซื้อแต่ใช้วิธีส่งต่อ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในฝั่งของประชาชน ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯ จะมีหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสาร ทำงานร่วมกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) และเครือข่ายภาคประชาชน ให้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานของหน่วยบริการ

"อย่างที่บอกว่าการขับเคลื่อนนโยบายนี้มีงานหลังบ้านที่ต้องทำเยอะมาก เมื่อมีการประกาศนโยบาย Cancer Anywhere เราต้องพูดคุยกันว่าอย่าเพิ่งร้องเรียนกัน ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยว่าไม่ใช่ประกาศแล้วจะมารับบริการได้เลย เพราะยังมีงานจัดระบบหลังบ้านเยอะมาก ซึ่งต้องขอเวลาก่อน อย่างไรก็ตามจากผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ถือได้ว่าเป็นการทำงานที่คุ้มค่า" นางอันธิกา ให้มุมมอง

"การทำงานของศูนย์หลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล เราจะทำงานกันในรูปแบบนี้ ลักษณะนี้ เป็นการ Back up ข้อมูลและขับเคลื่อนการทำงานต่างๆ ไม่เพียงแต่ Cancer Anywhere ซึ่ง Cancer Anywhere เป็นเพียงแค่งานเล็กๆ ส่วนหนึ่งของการทำงานของศูนย์ฯ เท่านั้น เมื่อมองภาพรวมภาพรวมการบริการทั้งระบบ" เธออธิบายเสริม

ในตอนท้าย นางอันธิกา ได้สรุปว่าบทบาทหน้าที่ของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ จะมีหน้าที่ Back up ทั้งหน่วยบริการและภาคประชาชน ให้เกิดบริการที่พึงประสงค์ตาม Health Need และเป็นกลไกหนึ่งที่จะประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนไปผลักดันหน่วยบริการ เพื่อให้สามารถตอบสนอง Health Need ของประชาชนได้