ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทำงานเยี่ยงทาส บางรายถูกบังคับให้ควงกะยาวถึง 48 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้พัก การทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง หรือกว่าวันละ 17 ชั่วโมง กลายเป็นเรื่องไม่ปกติที่เป็นปกติของ “แพทย์” ในประเทศไทย

เรื่องชั่วโมงการทำงานอันสาหัสสากรรจ์ของแพทย์ เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังดำรงอยู่และดูจะหนักหนาขึ้นด้วย ที่ผ่านมามีข้อเสนอมากมาย หนึ่งในนั้นคือความพยายามออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองแพทย์ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ผลพวงจากการทำงานหนักข้ามวันข้ามคืน แน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายแพทย์ ความเครียด ความเหนื่อยล้าเหล่านั้น ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้ แพทย์จำนวนมากกำลัง “หมดไฟ” ส่วนหนึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับระบบ ลาออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการแพทย์ประเทศไทย เมื่อแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ใช้ทุน จับมือกันก่อตั้ง สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานขึ้นมา หวังเขย่าโครงสร้างของปัญหา และขยับปรับแก้ในทุกอย่างดีขึ้น

ประเด็นสำคัญที่สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานเตรียมขับเคลื่อน พุ่งไปที่ “ชั่วโมงการทำงานของแพทย์” เป็นหลัก

“The Coverage” จับเข่าคุยกับ นพ.เกียรติยศ นายแพทย์ปฏิบัติการ ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และ พญ.ปริญรศา แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

2 แพทย์ Intern ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ที่จะบอกเล่าถึงการวางอิฐก้อนใหม่ และเปลือยใจถึงความระทมของแพทย์ ที่คนทั่วไปไม่รู้

เวรแน่น เวรหนัก เวรโหลด

นพ.เกียรติยศ เริ่มต้นเล่าว่า ปัจจุบันทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่ค่อนข้างไกลและอยู่บนเขา มีแพทย์ประจำแค่ 2 คน คือตนเองและผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฉะนั้นเวรที่โรงพยาบาลจึงค่อนข้างโหลดเพราะจะต้องแบ่งกันอยู่คนละ 15 วัน

ถ้านับเป็น OT เดือนหนึ่งผมก็จะได้ประมาณ 34-40 OT ซึ่ง 1 OT ก็เท่ากับ 8 ชั่วโมง เคยอยู่ติดกันสูงสุดติดกัน 4 วันและต่อเวรเช้าอีกวันหนึ่ง แต่ด้วยความที่โรงพยาบาลอยู่ค่อนข้างไกลตัวอำเภอ คนไข้ช่วงกลางคืนจะน้อย บางคืนอาจจะได้นอนนพ.เกียรติยศ กล่าว

 นพ.เกียรติยศ เล่าต่อไปว่า ความจริงปัญหาเรื่องเวรโหลดนั้นเป็นปัญหาที่บุคลากรในระบบสาธารณสุขค่อนข้างจะเจอเหมือนกันหมด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น เช่น พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เวรเปล แต่บุคลากรสาขาอื่นจะนับเป็นเวรแยกเช้า-บ่าย-ดึก และสลับกันเป็นกะ ในกรณีเกินชั่วโมงทำงานตามเวรราชการของเดือนนั้นก็จะนับเป็น OT โดยที่มีข้อจำกัดยิบย่อย เช่น ห้ามอยู่เวรดึก(0.00 น - 08.00 น.) ต่อเวรเช้า (08.00น.-16.00น.)

ทว่าสำหรับแพทย์จะต้องอยู่เวรเช้าทุกวันตั้งแต่ 08:00 – 16:00 น.ตามเวลาราชการ หากอยู่นอกเวลาราชการก็จะนับเป็นเวรทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้นว่าอยู่มาทั้งคืนแล้วจะได้กลับไปนอน แพทย์ต้องอยู่ต่ออย่างน้อยๆถึง4โมงเย็น ฉะนั้นเมื่อมาคิดดูแล้วแพทย์จะอยู่เวรค่อนข้างมากและไม่มีข้อจำกัดเพื่อให้โอกาสได้พักผ่อน

ทางด้าน พญ.ปริญรศา เล่าว่า โรงพยาบาลที่ประจำอยู่นับว่าเป็นด่านหน้า เนื่องจากอยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ซึ่งช่วงนี้ก็มีเรื่องของโควิด-19 และภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้เมื่อเทียบในช่วงชีวิตของแพทย์แล้วช่วงที่มีภาระงานมากๆ จะเป็นช่วงเพิ่มพูนทักษะ ปี 1 (Intern) หรือช่วงที่จบมาปีแรกที่แพทย์จะต้องกระจายไปอยู่ทั่วประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่หนัก รวมไปถึงแพทย์รุ่นพี่ที่เรียนต่อเฉพาะทางก็หนักไม่แพ้กัน

พูดในฐานะ Intern 1 ชั่วโมงการทำงานค่อนข้างหนัก เช่น เวลาทำงานในเวลา 8 โมงเช้า ถึง 4-5 โมงเย็น และก็จะต้องอยู่เวรเพิ่มขึ้นด้วย เวรก็จะหมายถึงตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 8 โมงเช้าของอีกวัน และในเดือนหนึ่งก็จะมีเวรประมาณ 10-16 เวร แล้วแต่ว่าอยู่ในวอร์ดอะไร พญ.ปริญรศา กล่าว

พญ.ปริญรศา ขยายความว่า สำหรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก ในแต่ละปีจะต้องวนแต่ละสาขาครบทุกแผนกเป็นแพทย์ทั่วไป ได้แก่ สูตินรีเวช ศัลยกรรม กุมารเวช อายุรกรรม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นงานเบื้องต้นที่จะต้องทำ

สำหรับการพักผ่อนจะขึ้นอยู่กับดวงของแต่ละคน หากโชคร้ายเจอเคสผู้ป่วยหนักๆ ก็อาจจะไม่ได้นอนเลย แต่ถ้าโชคดีก็อาจจะได้พักบ้าง ว่ามี 15 เวร ก็จะหมายถึงการอยู่ข้ามคืน 15 วัน พญ.ปริญรศา กล่าว

ควักกระเป๋าจ้างเพื่อนเพื่อซื้อเวลานอน

พญ.ปริญรศา เล่าต่อไปว่า การที่พักผ่อนน้อยไม่ได้ส่งผลกระทบถึงสภาพการทำงาน ร่างกาย จิตใจของแพทย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพราะหากต้องอยู่เวรติดต่อกันเวลานานก็อาจจะทำให้แพทย์ไม่ไหว รวมไปถึงการตัดสินใจก็อาจจะมีข้อผิดพลาดได้

ท่านอาจจะเคยได้ยินข่าว ว่ามีแพทย์ที่พูดจาด้วยอารมณ์ร้อน วางตัวไม่เหมาะสมนัก โดยเฉพาะในเคสนอกเวลาที่แพทย์ประเมินว่าไม่เร่งด่วน แต่ว่าตรงนี้จะเกี่ยวโยงกับความรู้พื้นฐานของคนไข้ และประชาชนด้วย คนไข้อาจจะไม่ทราบ เพราะคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินตี 2-3 ก็อาจจะคิดว่ามีแพทย์ที่พร้อมจะให้บริการ เหมือนคนที่ทำงานเวลากลางวัน แต่โดยส่วนมากแพทย์ที่อยู่เวรกลางคืนก็คือผ่านการทำงานทั้งวันมาแล้ว พญ.ปริญรศา ระบุ

เธอ อธิบายต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ สิ่งที่ทำได้คือการจัด-แบ่งเวลา และการจัดการอารมณ์ของแต่ละคน

นพ.เกียรติยศ เล่าเสริมว่า สำหรับเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับว่าผลกระทบนั้นมาก หรือร้ายแรงขนาดไหน

ผมเคยอยู่ติดกัน 3 วัน คืนที่ 3 มีเคสผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นตอนตี 2 แต่วันนั้นผมไม่ไหวแล้ว ผมสลบไปเลย โชคดีที่มีอาจารย์มาช่วยดูแทน กรณีเช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากนะ ถึงแม้จะมีแพทย์เวรหลายระดับในวันเดียวที่คอยช่วยกัน แต่ก็จะทำให้การช่วยเหลือของเคสฉุกเฉินช้าลง นพ.เกียรติยศ กล่าว

นพ.เกียรติยศ เล่าย้อนว่า ในสมัยที่เป็นใช้ทุนปีแรกอยู่โรงพยาบาลทั่วไป ตอนนั้นภาระงานค่อนข้างหนัก จึงทำให้ต้องใช้วิธี “ขอเงินพ่อมาขายเวร” ซึ่งการขายเวรนั้นจะเป็นยกเวรให้เพื่อนแพทย์คนอื่นมาอยู่แทน โดยต้องมีการจ่ายเงินค่าเวรให้แพทย์คนนั้น

เวรดูแลคนไข้ผู้ป่วยใน 8 ชั่วโมงได้ 550 บาท หรือเวรฉุกเฉินอาจจะได้ 1,100-2,200 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล นพ.เกียรติยศ ระบุ

นพ.เกียรติยศ เล่าต่อไปว่า จากค่าเวรปกติที่รพ.ผมได้ 2,200 บาท/8ชั่วโมง ช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 4,000-4,500 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลราคาก็อาจจะสูงถึง 6,000-7,000 บาท ซึ่งการขายเวรก็เคยมีสถิติสูงสุดที่เพื่อนผมขายอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 10,000 บาท เพื่อเป็นการแก้ปัญหาไม่มีเวลาพักผ่อน แม้ว่าความจริงแล้วสำหรับแพทย์ใช้ทุนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเวรก็ตาม

‘แพทย์ต้องทำงานหนักกว่าอาชีพอื่น 3 เท่า

พญ.ปริญรศา เล่าว่า ส่วนตัวแล้วมีเพื่อนแพทย์ที่รู้จักกันลาออกไปทำงานในคลินิกเสริมความงาม ซึ่งความจริงแล้วเพื่อนก็ไม่ได้อยากจะออกไปทำงานเสริมสวยตั้งแต่แรก แต่ด้วยความที่ภาระงานที่ค่อนข้างหนัก และค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เหมาะสม ก็เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ต้องออกเหมือนกัน

นพ.เกียรติยศ เล่าเสริมว่า สำหรับรายได้ที่คลินิกรับสมัครกันอยู่ตอนนี้ ถ้าเป็นคลินิกเล็กๆ ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณเริ่มต้นที่หลักแสนบาท แต่ถ้าหากมีการศัลยกรรม มีลูกค้าเยอะก็อาจจะได้หลายแสนบาท

ขณะที่ตอนนี้ผมอยู่โรงพยาบาลรัฐ หนึ่งเดือนต้องอยู่เวร 15 วัน มีรายได้อาจจะเยอะกว่าเงินเดือนเริ่มต้นของอาชีพอื่น2-3เท่า ในขณะที่ออกไปทำงานตามคลินิกเสริมความงามก็อาจจะเริ่มทำงาน 11 โมงเช้าหรือเที่ยง ซึ่งอาจจะเลิกงาน 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเวลาเขาจะยืดหยุ่นกว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่เวรข้ามคืนแต่รายได้เขามากกว่าผมอีกหลายเท่า ภาระงานที่หนักกว่า เวลาพักผ่อนไม่มี ค่าตอบแทนที่น้อย ไม่แปลกที่จะมีแพทย์ออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ นพ.เกียรติยศ ระบุ  

ถ้าเกิดเทียบผมกับคนที่ทำงานทั่วๆไปคนหนึ่งที่ปกติทำงาน 8โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เดือนหนึ่ง 160 ชั่วโมง แต่แพทย์อย่างผมทำงาน 400 กว่าชั่วโมงต่อเดือน รายได้ที่ได้มากกว่าอาชีพอื่น 2-3 เท่า นั้นก็มาจากชั่วโมงการทำงานที่เยอะกว่าอาชีพอื่นๆ 2-3เท่านี้แหละครับ นี่ยังไม่คิดเรื่องที่ขายเวรนะ"  นพ.เกียรติยศ กล่าว

‘อยากลาออกคือคำพูดติดปาก

นพ.เกียรติยศ เล่าว่า ในช่วงก่อนเดือนสุดท้ายตอนที่ยังเป็นแพทย์ใช้ทุนปีแรก ส่วนตัวอยู่ที่วอร์ดอายุรกรรม ซึ่งเป็นวอร์ดที่มีผู้ป่วยหนักอยู่มาก และด้วยความที่ตนเองมีทั้งเวรฉุกเฉิน เวรตรวจ OPD ผู้ป่วยนอกเวลา รวมไปถึงเวรวอร์ด ตอนนั้นก็รู้สึกแล้วว่าไม่ไหว จึงตัดสินใจปรึกษากับพ่อว่าขอลาออก

“แต่พ่อก็จะพูดกับผมตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าทนๆไป เราได้เป็นข้าราชการ ด้วยความที่เขาเป็นยุค baby boomer ที่เขาเห็นว่าข้าราชการเป็นตำแหน่งที่มั่นคง สำหรับพ่อแม่หลายๆคน คงมองว่าการที่มีคนในครอบครัวได้เป็นข้าราชการเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เขามักจะพูดเสมอว่ายุคนี้สบายกว่าเขา ทำให้ผมก็ไม่อยากปรึกษากับครอบครัว จะคุยกับเพื่อนทุกคนก็เหนื่อยพอๆ กัน นพ.เกียรติยศ ระบุ

นพ.เกียรติยศ เล่าต่อไปว่า เขาต้องขายเวรบ่อยมากเพราะทั้งร่างกายและจิตใจไม่พร้อม การขายเวรแต่ละครั้งก็มักจะต้องให้เงินเพื่อนๆเพิ่มเพื่อสร้างแรงจูงใจในการขาย ถ้าบางเวรเจออาจารย์ดุๆ ที่เรียกกันว่า “กินหัว” เพื่อนก็จะไม่มีใครอยากซื้อ จึงจำเป็นต้องเพิ่มราคาขายสูงขึ้นไปอีก บางเดือนขายจนเงินเดือนไม่พอจนต้องขอเงินพ่อมาขายเวร

จนช่วงหนึ่งผมไม่ไหวแล้ว คือด้วยความที่เป็นซึมเศร้าตั้งแต่สมัยเรียน มีอยู่คืนหนึ่งผมพยายามฆ่าตัวตาย แต่มาเปลี่ยนใจหลังจากกินยาเข้าไป เลยเดินกลับไปที่ห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นผมก็สลบไปประมาณ 5 วันนพ.เกียรติยศ ย้อนความหลัง

นพ.เกียรติยศ เล่าว่า หลังจากออกจากห้องพิเศษก็มีอาจารย์เดินมาบอกว่าต้องอยู่เวรชดใช้ที่ขาดไปช่วงนอนโรงพยาบาล 1 อาทิตย์ไปอยู่ในเดือนถัดไปแทน

“ผมพึ่งออกจากโรงพยาบาลเพราะฆ่าตัวตาย แต่ผมต้องอยู่เวรเพิ่มขึ้นเป็น 20 วัน จากเดิม16วัน ก็เลยบอกพ่อว่าขอเงินมาขายเวรนะ ไม่ไหวจริงๆ มีบางจังหวะที่เราคิดว่า เราไม่ควรเดินกลับมาห้องฉุกเฉินเลย เดือนนั้นผมขายจนเงินเดือนเดือนก่อนหมด พ่อให้มาเท่าไหร่ก็ขายอีกจนหมด แต่ก็ยังเหลือเวรที่ผมต้องอยู่อีกหลายเวร” นพ.เกียรติยศ กล่าว

พญ.ปริญรศา เสริมว่า ส่วนตัวเพิ่งจะทำงานได้เพียง 6 เดือน แต่เพื่อนแพทย์หลายคนก็จะมีแนวโน้มหมดไฟอยู่มาก ทำให้เพื่อนแพทย์หลายคนจะมีความในใจว่า “อยากลาออก” ซึ่งเป็นคำที่พูดล้อเล่นกันจนเป็นเรื่องปกติ

“ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากนะ ที่เดินสวนกันแล้วพูดว่าอยากลาออก จนแทบจะเป็นคำทักทายกัน” พญ.ปริญรศา ระบุ

ตั้งสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ผลักดัน กม.ชั่วโมงการทำงาน

นพ.เกียรติยศ เล่าว่า ส่วนตัวนั้นเข้ามาอยู่ในสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ก็เพราะได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ใช้ทุน โดยได้รับคำชักชวนว่ากำลังจะผลักดันเรื่อง “ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ให้เป็นกฎหมาย” ซึ่งก็เพิ่งเริ่มคุยกันอย่างจริงจังเมื่อนานมานี้ ในขณะนี้มีแกนนำอยู่ประมาณ 20 กว่าคน จากต่างสถาบัน ต่างรุ่นทั่วประเทศโดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“ตอนนี้ทางเราก็คือมีแผนที่จะเปิดตัวสมาพันธ์กำลังพยายามระดมแพทย์ใช้ทุน แพทย์ที่กำลังเรียนต่อเฉพาะทาง มีสต๊าฟ(อาจารย์แพทย์)มาช่วยรวมความคิดกันว่าเราจะผลักดันในเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็กำลังเตรียมวางแผนทำแคมเปญเพื่ออธิบายถึงภาระงานที่เรายังต้องเจออยู่ และระหว่างนี้ก็เตรียมร่างหนังสือ เตรียมเก็บรายชื่อแพทย์ เพื่อยื่นเสนอให้เกิดการสร้างข้อกฎหมายนี้ขึ้นมา นพ.เกียรติยศ กล่าว

นพ.เกียรติยศ อธิบายว่า เป้าหมายสูงสุดที่ตั้งเอาไว้คือการผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายมาตรฐานชั่วโมงการทำงานของแพทย์ แต่หากตัวกฎหมายจะยังไม่ออกมา ก็อยากให้ภาคประชาชน หรือคนในสังคมได้เห็นและรับรู้ว่าระบบสาธารณสุขยังมีปัญหานี้ แม้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเร็วๆ นี้ แต่หากทุกฝ่ายยอมรับว่ามีปัญหา สักวันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

“เป้าหมายของการยื่นหนังสือของกลุ่มเราครั้งนี้ คือการเปิดโอกาสให้แพทย์ได้พักผ่อนเพื่อทำงานได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่นักบินมีกฎหมายให้พักผ่อน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีกฎหมายบังคับแล้วแพทย์จะทิ้งคนไข้ไปเลย อย่างน้อยๆขอแค่ข้อจำกัด ไม่ให้แพทย์ที่ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน มาตรวจคนไข้ สั่งยาผิดๆถูกๆด้วยความล้า”

พญ.ปริญรศา เสริมว่า ไม่อยากให้มองว่าการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เป็นแค่กลุ่มแพทย์ที่อยากได้เวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วหากมีกฎหมายออกมาก็จะเป็นการลงทุนเพื่อให้แพทย์ได้ทำงานในสภาวะที่เหมาะสม และดึงให้แพทย์จะอยู่ในระบบต่อไป ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้การรักษาประชาชนดีขึ้นเช่นกัน

“จุดเริ่มต้นก็คือตั้งสมาพันธ์ที่เป็นแผนงานของเราก่อน ผลักดันให้มีกฎหมายนี้ออกมา หวังว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้ภาคประชาชนเข้าใจและมองเห็นปัญหานี้มากขึ้น” พญ.ปริญรศา ระบุ