ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา ปรับใช้ระบบเลือกตั้งคณะกรรมการแบบ Hybrid ทั้งจดหมาย-อิเล็กทรอนิกส์ เป็นครั้งแรกในปีนี้ พบมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 50.44% หวังในอนาคตปรับเป็นระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ช่วยประหยัดเวลา-งบประมาณ


ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภา วาระ 10 เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภาในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียง 2 ระบบ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-voting) และระบบบัตรเลือกตั้ง (Paper-voting) ที่เป็นข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2564 และเป็นการลงคะแนนเสียงที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดถึง 50.44% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 18,906 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิผ่านระบบ E-voting 7,683 คนจากผู้แสดงความจำนงทั้งหมด 9,078 คน และระบบ Paper-voting จำนวน 1,853 คนจาก 9,828 คน

“ปัญหาของการลงคะแนนผ่านบัตรเลือกตั้งคือสมาชิกไม่ได้อัพเดทข้อมูลที่อยู่ตลอด เพราะต้องเข้าใจว่าบางคนเปลี่ยนที่อยู่และไม่ได้อัพเดทเลย เราก็ประชาสัมพันธ์ว่าต้องอัพเดทข้อมูล ซึ่งจะเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปที่ต้องตรวจสอบรายชื่อ จนได้เข้ามาในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ค่อยมีคนให้ข้อมูลมากนัก และเราก็พยายามทุกวิถีทาง นั่นทำให้มีจดหมายตีกลับเยอะ” ศ.ทพ.ดร.พรชัย ระบุ

ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าวว่า สำหรับการยืนยันตัวตนผ่านระบบ E-voting ทำได้ง่ายและรัดกุม เพราะขั้นตอนก่อนการลงทะเบียนจะมีการยืนยันเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล หากผู้ใช้สิทธิจะลงทะเบียนก็ต้องมีการล็อกอินด้วยพาสเวิร์ด หรือ pin code และก่อนจะส่งคำตอบจะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องได้รับรหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการธุรกรรมทางการเงิน

อย่างไรก็ดี ระบบ E-voting จะมีการเก็บทะเบียนประวัติการใช้งานของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไว้เป็นหลักฐาน โดยบริษัทที่เข้ามาทำระบบส่วนนี้ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่ามีความปลอดภัย ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่แพทยสภา และสภาเภสัชกรรมใช้ รวมไปถึงมีการสำรองข้อมูลเป็นรายวันและรายสัปดาห์ทำให้ไม่มีปัญหาหากระบบล่ม

ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของระบบ E-voting คือมีการสื่อสารที่ง่าย เพราะผู้ที่ลงทะเบียนจะต้องมีการอัพเดทข้อมูล ฉะนั้นก็สามารถกระตุ้นการสื่อสารได้อย่างชัดเจน รวมไปไปถึงมีระบบการแปรผลที่ง่ายและไม่มีบัตรเสีย แต่ก็จะมีข้อเสียตรงที่หลายคนอาจจะยังไม่ชินกับระบบ

ขณะเดียวกันระบบ Paper-voting มีข้อเสียตรงที่ต้องมีระยะเวลาในการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมา เพราะถ้าส่งหลังจากที่ทันตแพทยสภากำหนดบัตรก็จะไม่ถูกนับเป็นคะแนน นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นระบบบัตรเลือกตั้งทำให้การยืนยันตัวตนต้องตรวจสอบรายชื่อ และเลขที่ถูกต้องให้ตรงกับซองจดหมาย หากไม่ตรงบัตรก็จะถูกนับว่าเป็นบัตรเสีย

“หากทำเครื่องหมายไม่ถูกต้องก็จะถูกนับว่าเป็นบัตรเสีย ฉะนั้นกระบวนการเกิดบัตรเสียจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังมีจำนวนนึงที่จดหมายตีกลับส่งไม่ถึงมือผู้รับ กระบวนการทำ e-voting จะทำให้เกิดความคล่องตัวมาก” ศ.ทพ.ดร.พรชัย ระบุ

ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าวต่อไปว่า การเลือกตั้ง 2 ระบบที่เป็นข้อบังคับนั้นเพิ่งออกใช้เมื่อปี 2564 และมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2565 ทำให้กระบวนการประชาสัมพันธ์ต่อสมาชิกทันตแพทยสภาอาจทำได้ไม่รวดเร็ว และทำให้กระบวนการเกิดความยุ่งยาก เพราะต้องคิดทั้ง 2 ระบบ ส่วนตัวคิดว่าต่อไปอาจจะต้องมีการบังคับให้เป็นระบบ E-voting อย่างเดียว แต่ก็ต้องมีการแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับ หรือสมาชิกคนใดเห็นว่าต้องมีระบบ Paper-voting ก็ต้องมีการลงทะเบียนเข้ามา

“บทเรียนที่ได้จากในครั้งนี้คืออยากจะทำให้ระบบ E-voting มีมากขึ้นเรื่อยๆ จน Paper voting มีน้อยถึงน้อยมากจนทำให้การนับคะแนนง่ายขึ้น ในอดีตคนลงทะเบียนประมาณ 5,000 คน ใช้เวลานับตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม กว่าจะเสร็จสินกระบวนการ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างเยอะและสิ้นเปลืองงบประมาณ” ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าว