ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เราอาจเคยเห็นหรือเผชิญกับอารมณ์ของแพทย์ที่ผันแปรเป็นคนละคน จากที่เคยใจเย็นในบางครั้งกลับกลายเป็นคนที่ฉุนเฉียว-เหวี่ยงวีน หรือแพทย์ที่สุขุม สงบ เรียบร้อย กลับกลายเป็นอีกบุคลิกหนึ่งเมื่ออยู่ตกอยู่ภายใต้อีกสถานการณ์

ความเครียด ความกดดัน และความรับผิดชอบ ทำให้แพทย์แสดงออกผ่านพฤติกรรมในขั้วตรงข้าม และที่สำคัญคือที่สุดคือ การทำงานข้ามวันข้ามคืน โดยไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกินความรู้สึก-จิตใจ-ร่างกายของแพทย์ มาเป็นเวลานาน

แพทย์จำนวนมากในประเทศไทย ต้องทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้นอน บางรายต้องควงเวรนานถึง 48-56 ชั่วโมงติดต่อกัน ยังไม่นับการถูกตามตัวแบบฉุกเฉินทันทีทันใด เมื่อผู้ป่วยอาการทรุดลง

ความเหนื่อยล้าทั้งกายและจิตใจ นอกจากทำร้ายตัวของแพทย์โดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็ต้องเสี่ยงถูกฟ้องร้องคดีความ 

สิ่งเดียวที่แพทย์ทำได้นั่นคือยอมจำนน และก้มหน้ารับชะตากรรมในสิ่งที่เขาเองก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น  แต่เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะแพทย์เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขาเหล่านี้นพยายามฝืนทำต่อไปเพื่อมุ่งหวังคืนผู้ป่วยกลับสู่อ้อมอกของญาติอย่างปลอดภัย

การกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ “เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์ได้มีเวลาพักผ่อนตามสมควร” อาจเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหานี้ได้ตั้งแต่ต้นทาง “The Coverage” มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ เป็นท่านหนึ่งซึ่งพยายามผลักดันประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องนับสิบปีตลอดเวลาที่ทำงานให้กับแพทย์ทั่วประเทศในฐานะ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา

อีกทั้งยังเป็นผู้ร่างกฎหมายเพื่อหวังปฏิรูปคุณภาพชีวิตการทำงานของแพทย์หลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ความพยายามในการผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมของแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้มีโอกาสพักผ่อนก่อนปฏิบัติหน้าที่ตามสมควร โดยคาดหวังว่าจะต้องออกเป็นกฎหมายแบบที่มีสภาพบังคับดังเช่นประเทศในฝั่งตะวันตกรวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วมีกัน

ถูกบังคับทำงาน เมื่อผิดพลาด ต้องรับผิดชอบเอง

รศ.นพ.เมธี เล่าว่า ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป มีมานานแล้วหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนที่ตนเองเรียนจบแพทย์เสียด้วยซ้ำไป ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ที่สำคัญคือความรุนแรงและผลกระทบที่ตามมานั้นดูจะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ตามภาระงานที่มากขึ้นและความคาดหวังที่สูงเกินจริงของประชาชน ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงที่ฝั่งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องประสบอยู่ ผลของความไม่เข้าใจและความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความจริงนี้ ทำให้ตามมาด้วยการร้องเรียน การฟ้องร้องต่อคนทำงาน ซึ่งยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจและเป็นแรงผลักดันให้คนเหล่านั้นหนีออกจากระบบนี้ไปมากขึ้น

เมื่อแพทย์ยังต้องทำงานโดยไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ นอกจากจะส่งผลเสียต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของแพทย์ด้วย เคยมีผลสำรวจออกมาว่า แพทย์จำนวนมากยอมรับว่าตนเองนั้นต้องดื่มเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณที่มากเพื่อให้ตาตื่นและพร้อมจะรับสภาพการทำงานที่หนักหน่วงนี้อยู่ตลอดเวลา

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยต่างมีความเสี่ยงทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นคำถามก็คือ หากเราเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาล เราโอเคหรือไม่ที่จะได้รับการรักษาจากแพทย์ที่ขาดการพักผ่อนอย่างพอเพียงหรือไม่ ?

นอกเหนือจากความเสี่ยงที่ผู้ป่วยต้องได้รับแล้ว แพทย์ที่ถูกบังคับให้ทำงานทั้งๆ ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ยังต้องรับผลตามมาหากเกิดความผิดพลาดที่ไม่ต้องการให้เกิด และสิ่งที่แพทย์กังวลมากที่สุดคือ “การฟ้องร้องทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา โดยเฉพาะการตกเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดโดยประมาท” ซึ่งในมุมมองของนักกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะบทบัญญัติที่เป็นตัวหนังสือในกฎหมายนั้น เขียนไว้เช่นนั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว การประมาทนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การที่แพทย์ต้องถูกบังคับให้รับอยู่เวรทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้รับโอกาสในการพักผ่อนให้เพียงพอก่อน แต่เมื่อเกิดปัญหา กลับกลายเป็นตัวผู้ปฏิบัติงานที่ต้องรับผลที่ตามมาเพียงฝ่ายเดียว  

นอกเหนือจากปัญหาการไม่ได้รับโอกาสให้พักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้แพทย์หนีออกไปจากระบบ (จากราชการไปอยู่เอกชน หรือไปทำงานสายอื่นเลย) คือปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความรับผิดชอบ

ทุกวันนี้สาธารณชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า แพทย์รวมทั้งพยาบาลที่ต้องอยู่ปฏิบัติงานนอกเวลากลางคืนนั้นได้รับค่าตอบแทนรายชั่วโมงเพียงไม่เกินร้อยบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับภาระความรับผิดชอบ

ลองเปรียบเทียบค่าตอบแทนระหว่าง หมอที่รักษาคนไข้และต้องรับผิดชอบผลงานถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล กับหมอดูที่รับพยากรณ์ชีวิต แล้วเราจะทราบทันทีว่า ทำไมหมอส่วนหนึ่งถึงพยายามหนีออกจากระบบนี้ให้ได้ถ้ามีโอกาส

กฎหมายลักลั่นและล้าสมัยคือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ

หลายคนที่เคยเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นจะทราบดีว่า จะมีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องมาตราฐานชั่วโมงการปฏิบัติงานและการเปิดโอกาสให้ได้รับการพักผ่อนที่พอเพียง เช่น นักบินและลูกเรือ คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่ต้องเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือการควบคุมเครื่องจักรอันตราย หรือแม้แต่คนขับรถทัวร์ที่เราอาจเคยได้ยินไกด์ทัวร์กำชับลูกทัวร์ให้ตรงต่อเวลานัดหมาย เพราะหากล่าช้า อาจต้องเดินกลับโรงแรมเอง เพราะคนขับรถทัวร์จะหยุดปฏิบัติหน้าทีทันทีเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องหยุดพัก

กลับมาที่ประเทศไทย ความจริงแล้วก็มีกฎหมายแนวนี้บังคับใช้อยู่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แต่ในมาตรา 4 ให้มีการยกเว้นมิให้บังคับใช้กับราชการ โดยให้เป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าส่วนราชการแทน ซึ่งในอดีตนั้นยอมรับได้เพราะเราขาดแคลนแพทย์มาก และความคาดหวังของผู้ป่วยก็ไม่สูงเหมือนในปัจจุบัน

ที่สำคัญคือหากเกิดปัญหามักจบลงด้วยการพูดคุยรับทราบปัญหาของระบบ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นแพทย์มิได้ขาดแคลน หากแต่เป็นเพราะรัฐ (ราชการ) ไม่สามารถจูงใจให้คนอยู่ในระบบได้ต่างหาก

ประกอบกับแรงจูงใจเรื่องเงินที่ได้จากการร้องเรียนหรือฟ้องร้อง ทำให้ความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างสองฝ่ายเลือนหายไป

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ทุกอาชีพ/วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคนส่วนมาก ล้วนแต่มีกฎหมายบังคับ ที่ต้องให้ได้รับโอกาสในการพักผ่อนอย่างพอเพียงก่อนปฏิบัติงาน แต่วิชาชีพแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นตาย กลับไม่ได้รับโอกาสนี้เลย

แพทย์ไม่ได้ขาด แต่รัฐผลักออกนอกระบบ

รศ.นพ.เมธี อธิบายต่อไปว่า หลายครั้งที่ได้รับเชิญให้ไปให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ และมักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “แพทย์ไม่พอและต้องการให้มีการผลิตแพทย์เพิ่ม” ซึ่งแสดงว่าผู้พูดนั้นอาจไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัตรากำลังผลิตแพทย์ และอัตรากำลังพลแพทย์เลย

ข้อเท็จจริงในปัจจุบันนี้ แพทยสภาได้ผลิตแพทย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 หมื่นคน แต่หากคิดเฉพาะแพทย์ที่อยู่ในวัยต่ำกว่า 60 ปี เราจะมีแพทย์อยู่ที่ 4 หมื่นคนโดยประมาณ และเมื่อรวมกับอัตรากำลังผลิตแพทย์ในปัจจุบัน เราผลิตแพทย์ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

คาดการณ์ว่าภายในอีก 10 ปีเราจะผลิตแพทย์เพิ่มได้อีกเกือบ 4 หมื่นคน ดังนั้นภายในสิบปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีแพทย์ที่อยู่ในวัยที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้ประมาณเกือบ 8 หมื่นคน 

เมื่อหันกลับมาดูมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้กำหนดไว้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วควรมีแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน ดังนั้นหากคิดตัวเลขปัจจุบันที่เรามีประชากรประมาณ 60 ล้านคน แสดงว่าในปัจจุบันนี้เรามีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรทั้งประเทศ ห่างจากเกณฑ์มาตรฐานไม่มากนัก

แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด จะพบว่าปัจจุบัน กทม. มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:400 หรือพูดง่ายๆ ว่า ในพื้นที่ กทม. เราไม่มีปัญหาขาดแพทย์ แต่มีปัญหาแพทย์ล้นเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานไปสองเท่า นั่นหมายความว่าแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม. และส่งผลให้ในต่างจังหวัดเกิดการขาดแพทย์รุนแรงขึ้น   

ทั้งนี้ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดจะมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:3,000 (ต่ำกว่ามาตรฐาน 3 เท่า) และหากเป็น โรงพยาบาลอำเภอ ที่มีประชากรหลักหมื่นคน แต่หลายแห่งมีแพทย์เพียง 1-2 คน ซึ่งหมายความว่าแพทย์ 1 คนต้องรับงานเกินมาตรฐานไปไม่ต่ำกว่า 10 เท่า ในขณะที่รับเงินเดือนเท่ากับคนเพียงคนเดียวตามระเบียบราชการ

ประเด็นนี้เองทำให้เกิดคำถามแรงๆ ในหมู่แพทย์รุ่นใหม่ๆ ว่า ทำไมเขาต้องโดนบังคับให้ทำงานที่ไม่ต่างจากแรงงานทาส และหากเกิดปัญหาแล้ว ยังต้องเป็นผู้รับกรรมไปเองเพียงฝ่ายเดียว

รศ.นพ.เมธี ระบุอีกว่า เมื่อแพทย์เรียกร้องไปยังฝ่ายนโยบาย คำตอบที่ได้รับคือ รัฐบาลมีนโยบายจำกัดตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งเป็นคำตอบที่ได้ยินเสมอๆ ผ่านผู้แทนของ ก.พ. ซึ่งล่าสุดก็ได้กล่าวเช่นนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงด้านสถิติชี้ชัดแล้วว่า ทุกวันนี้แพทย์ต้องรับภาระงานมากกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น 3-10 เท่า ในขณะที่รับค่าตอบแทนเท่ากับคนเพียงคนเดียว แถมยังต้องอดนอน ขาดการพักผ่อน ส่งผลเสียต่อสุขภาพตนเอง อันส่งผลให้คุณภาพการรักษาด้อยลงและตามมาด้วยการฟ้องร้อง และเมื่อไปถึงโรงถึงศาลกลับถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายฐานเดียวกันความผิดฐานประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษถึงติดคุกติดตาราง

ทั้งๆ ที่ความประมาทนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับนโยบาย และเมื่อเรียกร้องให้เพิ่มอัตรากำลังเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะข้อเท็จจริงที่มีคือ เราไม่ได้ขาดแพทย์มากมายขนาดนั้น แต่ต้นตอคือระบบราชการเองที่ไม่จูงใจให้คนทำงาน คิดแต่ว่าเมื่อลาออกไป ก็รอแพทย์รุ่นใหม่จบมาทำงานแทน ทั้งๆ ที่ประสบการณ์ทำงานเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตราการรอดชีวิตคนไข้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบสนอง

หากออกจากระบบราชการ แพทย์จบใหม่จะไปอยู่ที่ไหน?

เดิมแพทย์ส่วนใหญ่จะไปทำงานในภาคเอกชนหรือการเปิดคลินิกส่วนตัว แต่สถานการณ์ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนไม่นิยมรับแพทย์จบใหม่ เพราะขาดประสบการณ์ในการรักษาโรคและการรับมือกับผู้ป่วย ซึ่งหากเกิดปัญหาจะตามมาด้วยการฟ้องร้อง ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องการรับความเสี่ยง

อีกทั้งแพทย์ที่จบเฉพาะทางมีจำนวนมากที่ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ครั้นจะไปทำงานให้ใช้ทุนให้กับภาครัฐเหมือนในอดีตเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนเหมือนในอดีต ก็มีปัญหาราชการไม่บรรจุตำแหน่ง เพราะรัฐไม่มีเงินสนับสนุน ซึ่งประเด็นนนี้เคยถูกพูดถึงมาตั้งแต่สิบปีที่แล้วว่าจะเกิดปัญหาแพทย์จบใหม่ไม่มีงานในภาครัฐในรองรับอีกต่อไปดังเช่นที่เป็นข่าวเรื่องการต้องจับสลากใช้ทุนและแย่งที่ทำงานกันในปัจจุบัน

เมื่อโรงพยาบาลรัฐไม่มีที่ลง และโรงพยาบาลเอกชนไม่เปิดรับ ทำให้แพทย์หลายคนเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาคลินิกเสริมความงามแทน ทั้งๆ ที่หลายคนไม่อยากทำเพราะรู้ดีว่าหากเข้าไปในวงจรนี้แล้ว อาจส่งผลต่อโอกาสในการกลับมาเรียนต่อเฉพาะทาง และตลาดนี้ก็มีการแข่งขันกันสูงมาก จนล่อแหลมต่อการทำผิดจรรยาบรรณแพทย์

ตลกร้าย! ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลระหว่างรัฐ vs เอกชน

รศ.นพ.เมธี กล่าวต่อไปว่า ดังที่ทราบกันดีว่าวิชาชีพแพทย์นั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมาควบคุมการทำงานเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยสูงสุด นอกเหนือจากกฎหมายแล้วยังมีองค์กรภายนอกคอยตรวจสอบให้การันตีว่าโรงพยาบาลนี้ได้มาตรฐาน เช่น ICU ต้องมีสัดส่วนพยาบาลต่อผู้ป่วยเท่าใด ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดอะไรๆ หลายอย่างล้วนแต่มีมาตรฐานกำกับ

โดยเฉพาะเรื่องกำลังคนต่อจำนวนผู้ป่วย หากไม่ได้เกณฑ์ตามที่ระบุ โรงพยาบาลนั้นจะตกเกณฑ์ความปลอดภัยทันที แต่ตลกร้ายที่สาธารณชนไม่ทราบคือ มาตรฐานเหล่านี้ส่วนใหญ่กำกับใช้แต่โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐจะได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นที่ไม่ต้องใช้มาตรฐานเหล่านี้

คำถามคือ เราควรมีสองมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลแบบนี้ต่อไปหรือไม่ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี?

แพทยสภาทำอะไรได้บ้าง

รศ.นพ.เมธี เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เข้ามาช่วยงานแพทยสภาสิบกว่าปี ยืนยันได้ว่าปัญหานี้อยู่ในความสนใจของแพทยสภามาโดยตลอด แต่ปัญหาคือ แพทยสภาไม่มีอำนาจตามกฎหมายโดยตรงในการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายมาตรฐานชั่วโมงการทำงานและการเปิดโอกาสให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

มุมมองโดยส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหานี้ต้องมาจากระดับนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยมุ่งไปยังภาคราชการที่เป็นจุดเกิดของปัญหาใหญ่ โดยไม่ต้องไปข้องแวะกับภาคเอกชนเพราะทุกวันนี้มาตรฐานของภาคเอกชนนั้นสูงกว่ารัฐมาก โดยเฉพาะเรื่องกำลังพลและค่าตอบแทนที่เขาใช้หลักการ demand supply มา balance ตรงนี้ได้ดีอยู่แล้ว

หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าแพทยสภาได้พยายามส่งเสริมให้แพทย์มีคุณภาพชีวิตในระหว่างปฏิบัติงานให้ดีขึ้นในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภา คือการผลักดันให้มีการออกประกาศขอความร่วมมือให้ผู้บริหารโรงพยาบาล จัดตารางการทำงานมิให้แพทย์ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (OT) เกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมทั้งการออกประกาศหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย เพื่อให้สาธารณชนมีความตระหนักรู้ในปัญหาเหล่านี้

แต่จากผลการสำรวจเรื่องภาระงานในบุคลากรด้านสาธารณสุข 5 วิชาชีพเมื่อสามสี่ปีก่อน ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามเกินหมื่นคน จัดได้ว่าเป็น sample size ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจในประเด็นนี้ พบว่า ทุกวันนี้แพทย์ในภาครัฐเกิน 90% ยังประสบปัญหาภาระงานที่เกินกว่าแพทยสภาประกาศออกไป  

ที่น่าตกใจคือ จะมีแพทย์ประมาณ 5% ทำงานสัปดาห์ละ 200 ชั่วโมง ผลสำรวจยังบอกอีกว่า มีแพทย์ถึง 90% ที่ทำงานติดต่อกันกิน 24 ชั่วโมงและไม่ได้พักผ่อน ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นกับแพทย์ใช้ทุนและแพทย์จบใหม่ในช่วงสี่ห้าปีแรก และเกือบทั้งหมดล้วนทำงานให้กับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ ก.พ.บอกว่าตำแหน่งเต็มแล้ว

ส่วนแพทย์เอง 90% ก็ยอมรับว่าหมดไฟ ไม่ได้พัก และยอมรับว่าตัวเองรักษาคนไข้ไม่เหมาะสม และเกิดการผิดพลาด ดังที่เห็นตามข่าว แต่ข่าวที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ความผิดพลาดเกือบทั้งหมดล้วนไม่เป็นข่าวเพราะแพทย์และโรงพยาบาลพยายามจัดการปัญหาในจบในรั้วโรงพยาบาล

อีกสถานที่ภายในโรงพยาบาลที่มักเป็นประเด็นปัญหาความไม่พอใจคือ ห้องฉุกเฉิน ผลสำรวจออกมาว่า โดยเฉลี่ยแล้วแพทย์ในต่างจังหวัดต้องรับมือกับผู้ป่วยประมาณไม่น้อยกว่า 50 คนต่อเวร ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่แพทย์จะรับงานหนักขนาดนี้โดยไม่ผิดพลาด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการนั้น ประมาณ 70% หรือเกินครึ่งไม่ได้เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินจริงในทางการแพทย์

นั่นทำให้เกิดการวิวาทะความไม่พอใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยหรือญาติ เพราะผู้ป่วยหรือญาติเองมองปัญหาส่วนตนว่าฉุกเฉินแทบทุกกรณี ในขณะที่แพทย์ยึดตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ และแพทย์เองตกอยู่ในภาวะที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ล้ามาจากการทำงานตั้งแต่เช้า

หรือพูดง่ายๆ คือ แพทย์ตกอยู่ในสภาวะ burnout หมดไฟในการทำงาน จนเลยเถิดไปถึงการแสดงออกทางอากัปกริยาต่อผู้ป่วยหรือญาติ ซึ่งต้องยอมรับไม่เหมาะสม แต่แพทย์เองก็เป็นปุถุชน โดยเฉพาะแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่แนวโน้มความอดทนจะไม่เท่ากับแพทย์รุ่นอาวุโส

อุปสรรคในการมี กม.มาตรฐานชั่วโมงการทำงานและการพักผ่อน

รศ.นพ.เมธี ชี้ประเด็นว่า ผลสำรวจชี้ว่าสิ่งที่แพทย์ต้องการมากที่สุดคือ การกำหนดให้มีมาตรฐานการทำงานที่เหมาะสม เพื่อเขาจะได้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่และปลอดภัยที่สุด

แพทย์ทุกคนไม่ต้องการปฏิเสธผู้ป่วย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการโอกาสในการพักผ่อนอย่างเหมาะสม หนึ่งในข้อเรียกร้องที่แพทย์ตอบแบบสอบถามมามากที่สุดคือ การได้รับโอกาสให้หยุดพักโดยไม่ถูกตามตัวใดๆ หากลงเวรดึก และการได้รับวันหยุดทันทีภายหลังทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง

ทางออกเรื่องนี้ “รศ.นพ.เมธี” ให้ข้อมูลว่า ตนเองได้ร่างเป็นกฎหมายไว้ตั้งแต่สิบปีก่อนและพยายามผลักดันมาตลอด ทั้งในเรื่องการเปิดโอกาสให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างเหมาะสมและหากจำเป็นต้องให้แพทย์ทำงานเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ควรจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้ทางออกที่ตอบโจทย์ทั้งสองฝ่ายมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการสั่งการจากระดับนโยบายเพียงฝ่ายเดียวแบบที่ผ่านมา

แต่ปัญหาคือ ทุกครั้งที่ประเด็นนี้ จะมีคำถามว่า “แล้วจะเอาใครมาทำงาน” “จะเอาค่าตอบแทนที่ไหนมาให้” “แพทย์จะทิ้งคนไข้หนักไปทันทีหรือไม่หากครบชั่วโมงการทำงาน” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เหมือนคำตอบปฏิเสธต่อการพยายามปฏิรูประบบให้ถูกที่ถูกทาง

ทั้งที่จริงๆ แล้ว การออกกฎหมายเรื่องนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างพอเพียงก่อนปฏิบัติงาน ไม่ใช่ส่งเสริมหรืออนุญาตให้แพทย์ละทิ้งคนไข้หนักไปเฉยๆ ส่วนประเด็นว่าจะเอาใครมาทำงานนั้น คำตอบคือยังมีแพทย์อีกมากมายที่ออกจากระบบราชการไปเพราะทนสภาพแวดล้อมการทำงานแบบนี้ไม่ได้

ดังนั้นหากมีการปฏิรูปมาตรฐานชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม ก็จะเป็นการดึงแพทย์เข้าสู่ระบบและชะลอการสูญเสียแพทย์ออกไปจากระบบ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้น รัฐคงต้องเป็นผู้ตอบคำถามเองว่าจะทำอย่างไร แต่เชื่อว่ารัฐคงมีแนวทางที่เหมาะสมแบบเดียวกับหลายโครงการที่รัฐเคยจัดทำและหามาได้ 

นอกเหนือจากทัศนคติในแง่ลบดังกล่าวแล้ว อุปสรรคสำคัญคือความไม่ต่อเนื่องของฝ่ายนโยบายหรือผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันกฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในต่างประเทศที่เจริญแล้ว เมื่อเกิดกรณีปัญหาความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล เขาจะสอบสวนหาสาเหตุ และการสอบสวนเขาล้วงไปถึงระดับนโยบาย

ในอดีตเคยมีการสอบสวนพบว่า ความผิดพลาดเกิดจากระดับนโยบายที่ไม่เปิดโอกาสให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายมาตรฐานการทำงานของแพทย์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย  แต่ในบ้านเรามักลงเอยด้วยการสอบและลงโทษแต่ผู้ปฏิบัติงาน     

กฎหมายที่ร่าง เคยได้รับการเสนอเข้าคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุขตั้งแต่สมัย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข แต่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับบริหาร ทุกอย่างก็หายไปกับสายลม ขึ้นกับว่าผู้มารับช่วงต่อจะเอาด้วยหรือไม่ และมักลงเอยด้วยการไม่ถูกพูดถึงอีกเลยจนกว่าจะมีกรณีผู้ป่วยเสียหายและเป็นข่าวออกมา จึงจะพูดหยิบมาพูดใหม่และลืมเลือนไปเมื่อเวลาผ่านไปอีก 

ส่วนตัวแล้วค่อนข้างกังวลว่า ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาหรือไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ผลเสียก็จะตกอยู่กับคนไข้ เรานับหนึ่งวันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะแก้ปัญหาได้ในปีหน้า อาจจะใช้เวลาในการแก้ถึง 4-5 ปี ดังนั้นถ้าเราไม่นับหนึ่งเลยตั้งแต่ตอนนี้ มันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายคนไข้ที่ได้รับความเสียหายอาจกลายเป็นคนรู้จักหรือญาติเราเองในที่สุด