ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 กรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงภายหลังทำงานได้เพียง 7 วัน เนื่องมาจากความเครียด ซึ่งแน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เคสแรกและคงไม่ใช่เคสสุดท้าย

นั่นทำให้ คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (SCORP by IFMSA-Thailand) ตัดสินใจร่อนหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) สภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของแพทย์เพิ่มพูนทักษะรายนี้ รวมทั้งพิจารณาทบทวนมาตรฐานการทำงานและการพักผ่อนของแพทย์ ตลอดจนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

ตอนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว ระบุว่า จากข่าวการเสียชีวิตด้วยความเครียดสะสมจากการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะรายดังกล่าวนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการกระจายหน้าที่งานไม่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินขีดจำกัด หรือแม้กระทั่งการกลั่นแกล้งในสภาพแวดล้อมการทำงาน

รวมไปถึงปัญหาการฆ่าตัวตายในนิสิตนักศึกษาแพทย์จากภาระงานที่มากเกินจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังและยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวการเสียชีวิตของแพทย์ ทั้งกรณีของนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์จบใหม่ที่เกิดจากการฆ่าตัวตายมักจะถูกมองข้ามหรือถูกละเลย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นี่เป็นจุดที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหว

ศิริฤดี ฉันทชัยวัฒน์ หนึ่งในตัวแทนจาก IFMSA-Thailand เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า การยื่นหนังสือนั้นเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญของคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพฯ โดยมีการใช้แฮชแท็กบนโซเชียลมีเดีย #doctorbutalsohuman ที่มีผลสืบเนื่องมาจากการฆ่าตัวตายของแพทย์เพิ่มพูนทักษะเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 และทำให้ได้เห็นว่า “สิทธิของแพทย์” ยังคงถูก “ละเลย” โดยเฉพาะในประเทศไทย

แต่ทว่านั่นเป็นเพียงแค่เหตุผลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจุดประสงค์หลักจริงๆ คือต้องการให้สนใจสิทธิของแพทย์ที่ถูกละเลยในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน หรือแม้กระทั่งการถูกบูลลี่ในที่ทำงานก็ตาม

เราไม่มีช่องทางให้ผู้ที่ถูกบูลลี่มาร้องทุกข์

ศิริฤดี อธิบายต่อไปว่า แม้การแก้ปัญหาเรื่องการถูกบูลลี่ในที่ทำงานยังไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม แต่ทว่ากระแสที่เกิดขึ้นจะทำให้แพทย์ นิสิตนักศึกษาแพทย์ได้ตระหนักในสิทธิของตนเอง รวมไปถึงมีความมั่นใจในสิทธิของตัวเองมากขึ้น

คาดว่าในส่วนของคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพฯ จะมีการติดตามเรื่องนี้ต่อไป จริงๆ แล้วผลลัพธ์ที่เราต้องการจะเห็นในระยะยาว ก็น่าจะเป็นการมีความตระหนักรู้ในหมู่นิสิตนักศึกษาแพทย์ในการปกป้องสิทธิของตัวเอง และมีหน่วยงานหรือองค์ที่จะมาดูแลเรื่องสิทธิของแพทย์รวมถึงนิสิตนักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะ

แพทย์แบกรับภาระงานหนักเกินไป

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ต่อที่ประชุม กมธ.สาธารณสุข โดยถ้อยแถลงในครั้งนั้นเป็นการอ้างอิงมาจากการแถลงการณ์ว่าด้วยระบบสาธารณสุข ที่สมาพันธ์ฯ ใช้เข้าร่วมในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 และร่างนโยบายของสมาพันธ์ฯ ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ศิริฤดี อธิบายถึงแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวตอนหนึ่งว่า 1. ขอเรียกร้องให้มีการส่งเสริมการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขของประเทศไทยให้เอื้อต่อการทำงานของแพทย์ เพื่อให้แพทย์ไม่ต้องรับภาระงานที่หนักจนเกินไป เนื่องจากเห็นภาระงานในระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนแล้ว ควรจะต้องมีการพัฒนาเชิงระบบ การบริหาร หรือการนำเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้แพทย์ที่มีสถานะเป็นบุคคลต้องรับแบกรับหน้างานที่หนักเกินไป

จริงๆ แล้วภาระงานไม่ควรจะอยู่กับบุคคลมากเกินไป ควรจะแบ่งเบาภาระนี้ให้ถูกรองรับโดยการบริหาร และการกระจายทรัพยากรที่เหมาะสม

2. ขอเรียกร้องให้นำการสร้างแรงจูงใจมาปรับใช้ เพราะสิทธิในการเลือกที่จะทำงานและการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ดังนั้นแทนที่จะเป็นการบังคับในกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไข ก็ควรที่จะมีมาตรการใช้แรงจูงใจอย่างเช่นการให้สวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งในจุดนี้หากให้แพทย์จบใหม่ที่ต้องถูกเลือกเป็นเป้าหมายหลักในการกระจายไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นก็อาจจะเป็นการตอบปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า

3. ขอเรียกร้องให้มีการพิจารณาศึกษาและทบทวนมาตรฐานชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแพทย์ รวมไปถึงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของแพทย์ที่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน

แพทย์ก็เป็นกำลังหลักสำคัญในการส่งเสริมให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ เมื่อแพทย์มีชั่วโมงการทำงานที่ไม่เหมาะสม การที่แพทย์ทำงานมากขึ้นก็จะอาจจะทำให้แพทย์ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น

4. จากข้อเรียกร้องเรื่องชั่วโมงการทำงานในข้างต้น ขอเรียกร้องให้มีการร่วมมือผลักดันการบังคับใช้กรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ตามประกาศของแพทยสภาที่ 104/2560 ให้เป็นร่างกฎหมาย เพราะจากประกาศที่แพทยสภาออกมานั้นไม่ได้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีประกาศนี้ออกมา แต่ในเชิงปฏิบัติก็ไม่ได้มีการทำตามประกาศ ซึ่งประกาศก็จะมีการจำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์อยู่

ศิริฤดี อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมในวันนั้นมีตัวแทนจากแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กรมสุขภาพจิต คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้าร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจากการอ่านแถลงการณ์ทางที่ประชุมก็ได้รับทราบและเห็นใจในสิ่งที่แพทย์ต้องเผชิญ แต่อย่างไรก็ดีทางคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภายใต้สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ฯ ก็ยังไม่ได้ยื่นจดหมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ชื่นชมระบบสุขภาพ แต่ไม่เคยคำนึงถึง ‘บุคลากร

ศิริฤดี อธิบายว่า ส่วนตัวมองว่าระบบสาธารณสุขไทยได้รับการชื่นชมจากหลายทีเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังรู้สึกว่าระบบนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย เพราะยังขาดการคำนึงถึงผู้ที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อน-อุ้มชูระบบนี้อยู่ และเป็นองค์ประกอบของระบบที่ไม่สามารถมองข้ามได้

จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเพียงแค่แพทย์ แต่ก็ยังมีบุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ในขณะนี้กำลังเป็นผู้แบกรับภาระของระบบสาธารณสุขไทยเพื่อบริการประชาชน

มากไปกว่านั้นในปัจจุบันยังมี “เทรนด์” ที่กำลังเกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขนั่นก็คือ “การหมดไฟ” ของเหล่าบุคลากรสาธารณสุข หากไม่มีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่จะทวีคูณขึ้นเช่นกัน และสุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบสาธารณสุข

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังว่าจะอยากจะเห็นในเร็วๆ นี้ “ศิริฤดี” ตอบว่า เรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์ และการจับสลากใช้ทุน เนื่องจากเป็นประเด็นที่เห็นว่ามีหน่วยงาน-กลุ่มบุคคลอื่นๆ สนใจร่วมด้วย ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เห็นผลได้ง่ายและเป็นรูปธรรม

แพทย์เป็นอาชีพที่หลายคนเข้ามาเรียนเพราะมีใจรัก อยากช่วยเหลือคน แต่เมื่อจบก็จะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาทำให้คนที่จบออกไปไม่มีความสุขกับการทำงานที่อาจจะบั่นทอนแรงบันดาลใจที่มี ก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีการพัฒนาเพื่อรักษาแรงบันดาลใจที่ยังมีอยู่จากการที่เลือกเข้ามาเรียนแพทย์ตอนแรก

มีหลายๆ รุ่นสะท้อนว่านิสิตนักศึกษาแพทย์ในรุ่นนี้ค่อนข้างกล้าแสดงออก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นเชิงที่คิดว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ แล้วก็ต้องหาทางการแก้ไขเพราะเราก็ต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเราก็ไม่อยากอยู่นิ่งเฉยในเมื่อมีทางออกที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ก็เลยอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้แทน IFMSA-Thailand ระบุ