ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่กำลังระบาดหนักไปทั่วทั้งโลก ได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ระดับหน่วยงานรัฐไปจนถึงประชาชนทั่วไป ว่าสรุปแล้ว โลกนั้นรู้และเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้มากน้อยเพียงใด และหนทางในการป้องกันรับมือมีอะไรบ้าง

ในประเทศไทยนั้น การระบาดตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา มีแนวโน้มไปในทางที่พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุของเทศกาลปีใหม่และมาตรการควบคุมต่างๆ ที่ยังไม่ได้ตอบสนองต่อสถานการณ์ดีพอ เมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร ชลบุรี หรือเชียงใหม่ ต่างมีรายงานพบผู้ติดเชื้อและคลัสเตอร์จำนวนมาก

อีกทั้งช่วงปลายธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้เผยแพร่ฉากทัศน์การประเมินแนวโน้มการระบาดที่ไปในทิศทางที่ว่า ถึงจุดหนึ่งประเทศไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อต่อวันถึง 3 หมื่นราย ซึ่งจะเป็นจำนวนที่สูงกว่าในช่วงที่ “อัลฟ่า” และ “เดลต้า” ที่ระบาดหนักเมื่อปี 2564

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจำเป็นต้องทราบสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับ “โอมิครอน” และควรเตรียมตัวอย่างไรในการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เมื่อโอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดของโควิด-19

อาการของ ‘โอมิครอน

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าว NBC ได้เผยแพร่ข้อมูลจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า แม้ในขณะนี้องค์ความรู้ของเกี่ยวกับโอมิครอนหลายๆ ส่วนยังเป็นปริศนา

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็เริ่มสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งจากงานศึกษาก็พบว่า โดยหลักใหญ่ใจความแล้วผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนจะ “แสดงอาการเจ็บป่วย” ได้เร็วกว่า และแตกต่างออกไปจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อื่น

นั่นหมายความว่า อะไรที่เราเคยรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์อื่นๆ สามารถนำมาใช้กับโอมิครอนได้ไม่มากมายนัก

หลักฐานจากงานศึกษาล่าสุดหลายชิ้น ระบุว่า ในผู้คนจำนวนมากที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนประเภทใดและจากผู้ผลิตไหน เมื่อติดเชื้อโอมิครอนไปแล้วจะมีอาการเจ็บป่วยเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น คล้ายๆ กับลักษณะของไข้หวัดธรรมดา และจากการประเมินงานศึกษาทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกแนวทางการเฝ้าระวังอาการของโอมิครอน ว่าถ้าติดเชื้อจะแสดงอาการหลัก ๆ ดังนี้

  • มีอาการไอผิดปกติ
  • เหนื่อยล้าง่ายกว่าปกติ
  • คัดจมูกหรือมีน้ำมูก

CDC ระบุว่า อาการใดๆ ที่เคยปรากฏกับสายพันธุ์ก่อนหน้า จะไม่เกิดหรือเกิดน้อยมากกกับโอมิครอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียความสามารถในการรับรสหรือกลิ่น แต่ทั้งหมดนั้นยังเป็นแค่การประเมินจากข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใดว่า อาการของโอมิครอนมีหรือไม่มีอะไรบ้างกันแน่ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ CDC ออกคำเตือนให้ผู้มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเฝ้าระวังอาการของตนอย่างใกล้ชิด

นี่ยังรวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ก็จะแสดงอาการหรือมีอาการเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 2 เข็ม

ด้าน ดร.บรูซ วาย ลี จาก City University of New York School of Public Health ระบุว่า ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดยังไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าอะไรจะเป็นอาการเฉพาะของโอมิครอน หรืออาการของโอมิครอนจะเหมือนกับเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ ที่สำคัญคือข้อมูลที่มียังเป็นเพียงแค่ข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่อายุน้อย สุขภาพดี และได้รับวัคซีนครบถ้วน จึงขาดมิติสำคัญอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป

เช่นเดียวกับความเห็นจาก ดร.วิลเลียม ชาฟเนอร์ จาก Vanderbilt University Medical Center ที่กล่าวว่า ถ้าได้รับวัคซีนครบถ้วน รวมถึงได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว ก็จะไม่มีอาการหรือถ้ามีก็เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น อาจจะมีอาการมากกว่าก็คือ ไอ ไข้สูง และเหนื่อยล้า ปรากฏขึ้นมากกว่าผู้ที่ได้รับ 3 เข็ม

“สิ่งที่เรายังไม่มีในตอนนี้ก็คือข้อมูลของผลจากการติดเชื้อในผู้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เราเลยยังไม่รู้อย่างรอบด้านว่าโอมิครอนทำอะไรได้บ้าง” ดร.ชาฟเนอร์ ระบุ

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในตอนนี้และเสียชีวิตจากโอมิครอน คือชายวัย 50 ปี จากเมืองฮุสตัน สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการรายงานจากหน่วยงานสาธารณสุขประจำเมือง ทำให้อย่างน้อยในเวลานี้ พบแล้วว่ามี “ผู้เสียชีวิต” จากโอมิครอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ข่าวดีก็ยังมีอยู่บ้าง นั่นก็คือ จากการเปิดเผยโดยองค์การอนามัยโลก และงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงต่างรายงานตรงกันว่า โอมิครอนเป็นเชื้อที่จะ “ไม่ลงปอด” ซึ่งหมายถึงว่าจะมีอาการติดเชื้อเพียงแค่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น (คอ – จมูก) จึงไม่รุนแรงและนำไปสู่อาการปอดบวม/อักเสบ เหมือนกับที่สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่ระบาดหนักก่อนหน้าเป็น กลายเป็นว่าในทางหนึ่ง โอมิครอนมีอันตรายน้อยกว่า

จากข้อมูลนี้จึงทำให้ ดร.ฮิวจ์ แคซเซียร์ จาก North Shore University Hospital ออกมาให้ความเห็นว่า สิ่งที่โอมิครอนต่างจากเชื้ออื่นก็คือ มันจะไม่ทำให้เกิดโรคปอดบวม แต่มันจะก่อให้เกิดอาการที่คล้ายกับ “หลอดลมอักเสบ” มากกว่า ซึ่งนี่จะทำให้ความรุนแรงของอาการและโอกาสการเสียชีวิตมีน้อย

“โดยทั่วไปแล้ว ถ้ามองจากข้อมูลนี้ก็จะทำให้สามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ ว่า เมื่อหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการหายใจติดขัดหรือหายใจช่วงสั้น กลับกันถ้าเป็นอาการปอดบวมหรืออักเสบ ก็จะแสดงอาการเหมือนที่เคยให้ระวังกันในช่วงที่ผ่านมา ก็คือมีอาการหายใจลำบาก ช่วงการหายใจสั้นกว่าปกติ” ดร.ฮิวจ์ กล่าว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ต่างได้ระบุตรงกันว่า อย่างไรก็ตาม ที่มีอาการใกล้เคียงกับหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญระบุเพียงเล็ก ก็ให้ทำการตรวจหาเชื้อโดยทันทีเพื่อลดการแพร่ระบาด

ใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะแสดงอาการ?

ข้อมูลล่าสุดที่ได้รับการยืนยัน เมื่อผู้คนได้รับเชื้อโอมิครอนแล้วจะมีพัฒนาของอาการต่างๆ ได้เร็วกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ตั้งแต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไปจนถึงเวลาเพียงแค่ 1-3 วัน เท่านั้น

นั่นจึงทำให้ตามหลักการเชิงระบาดวิทยาแล้ว เชื้อที่แพร่และติดง่ายอย่างโอมิครอนจะมีช่วงเวลาในการพัฒนาและแสดงอาการที่สั้น เพราะเป้าหมายของตัวมันที่กลายพันธุ์มาคือต้องการให้ตัวเชื้อเองแพร่กระจายออกไปให้ได้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่มันแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว มันกลายพันธุ์เพื่อให้ตัวมันแพร่ได้เร็ว แต่เหตุและปัจจัยที่จะทำให้มันแพร่ได้เร็วหรือช้าจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ช่วงวัยของผู้แพร่เชื้อและได้รับเชื้อ สุขภาวะส่วนตัว และภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนของผู้แพร่และรับเชื้อเป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวโยงกันทั้งหมดและทำให้เราไม่สามารถระบุอัตราการแพร่เชื้อได้จริงๆ ในตอนนี้” ดร. อนิตา กุปตะ จาก Johns Hopkins School of Medicine ระบุ

เมื่อใดที่ควรจะไปตรวจหาเชื้อ?

ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการไปตรวจหาเชื้อ ดร.ชาฟเนอร์ ได้แนะนำว่า หลักการโดยทั่วไปคือ เมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ การไปตรวจก็ควรทำหลังจากนั้นในเวลาประมาณ 72 ชั่วโมง

“เมื่อรู้ตัวว่าเสี่ยงและกำลังประเมินตัวเองว่าควรไปตรวจเมื่อไหร่ คำแนะนำที่ดีที่สุดคือให้รอหลังจากนั้น 3 วัน จึงจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในระยะเวลานี้ ถ้ามีเชื้อในตัว การตรวจก็จะสามารถพบได้ เร็วกว่านี้อาจจะทำให้ยังไม่พบเชื้อ” ดร.ชาฟเนอร์ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ชาฟเนอร์ ยังระบุอีกว่า ช่วงเทศกาลที่มีการรวมตัว เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว การตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนจะพบปะกันก็จะเป็นตัวช่วยอย่างดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ได้

ด้าน ดร.แอนโธนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขระดับสูงประจำทำเนียบขาว ได้ระบุว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนพยายามให้เต็มที่ในการไปตรวจหาเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถที่จะตรวจหาเชื้อได้จริงๆ การรวมตัวกันก็ควรจะมีเพียงแค่ผู้คนที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วเท่านั้น จะเป็นการดีกว่า

โอมิครอนกับอาการ “Long Covid

ในตอนนี้ ระยะเวลาที่โอมิครอนระบาดยังคงเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นตรงกันว่า ต่อให้โอมิครอนจะนำไปสู่อาการเจ็บป่วยเพียงแค่เล็กน้อย แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการ Long Covid ขึ้นได้

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีความเป็นไปได้ที่จะประสบกับอาการ เช่น เหนื่อยล้าง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือปัญหาสุขภาวะอื่นๆ หลังจากติดเชื้อและหายดีในช่วงหลายเดือนหลังจากนั้น ซึ่งเป็นอาการเดียวกับที่เกิดขึ้นในการระบาดระลอกก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงที่เป็นระลอกของ “เดลต้า”

ดร.บรูซ วาย ลี ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้สมมติฐานคือ อะไรที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโอมิครอน ก็ให้ประเมินไปก่อนว่ามันจะมีลักษณะเดียวกับเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า กับเรื่อง Long Covid ก็เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วสามารถเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิด Long Covid ได้

เตรียมตัวรับมือกับ “โอมิครอน”

เมื่อมองดูที่ตัวเลขการระบาด เพียงแค่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็พบได้ว่า จำนวนยอดการติดเชื้อโอมิครอนพุ่งสูงขึ้นสองเท่า ทุกๆ 2 วัน และในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 ต่อเนื่องด้วยสัปดาห์แรกของปี 2565 สัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา กว่า 73% เป็นการติดเชื้อ “โอมิครอน”

สำหรับในประเทศไทย ยอดผู้ติดเชื้อในวันที่ 6 มกราคม 2565 ได้พุ่งขึ้นมาถึง 5,775 รายในวันเดียว และได้กลายเป็นการระบาดระลอกที่ 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในหลายจังหวัดได้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนเกิน 100 ราย

ดังนั้นแล้ว เมื่อประเมินจากสถานการณ์โดยรวม โอมิครอนจะไปถึงในทุกๆ ที่อย่างแน่นอน และผู้คนก็จะติดเชื้อนี้กันเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น สถานการณ์นี้จะไปจบลงที่จุดไหน และจะป้องกันให้เกิดปัญหาและการสูญเสียให้น้อยที่สุดอย่างไรได้บ้าง

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นตรงกันว่า การป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การระดมฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนมากที่สุด และยิ่งไปกว่านั้นคือการเร่งให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างครอบคลุม เพื่อเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วย โดยองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำว่า แต่ละประเทศควรจะเร่งให้มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เกิน 70% ของจำนวนประชากร เพื่อในที่สุดจะได้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity)

สถิติการฉีดวัคซีนในเวลานี้ของไทย ตามรายงานของ “คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด 19” เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ระบุว่า ประเทศไทยได้ทำการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 104,524,571 โดส โดยประชาชนที่ได้รับครบ 2 เข็ม อยู่ที่ 64.1% ของประชากรทั้งประเทศ และประชากรที่ได้รับเข็ม 3 อยู่ที่ 9.8% ของประชากรทั้งประเทศ

สัดส่วนนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าใกล้กับที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ แต่ก็ยังเป็นงานหนักที่ต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชนในการระดมฉีดวัคซีนให้ได้ถึงเป้าที่ 70% และเข้าสู่ช่วงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในที่สุด

แต่แน่นอนว่า ประเทศไทยไม่สามารถวางใจได้เพียงแค่เพราะการฉีดวัคซีนที่มีสัดส่วนสูง การเตรียมความพร้อมรับมือในมิติอื่นๆ ก็ต้องกระทำควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างและไม่เพิ่มภาระงานให้ระบบสาธารณสุข

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ว่า จากการจำลองฉากทัศน์ที่ สธ. ได้เปิดเผยไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยอดการติดเชื้อที่มีโอกาสพุ่งสูงขึ้นได้ถึง 3 หมื่นราย สธ.ได้ประเมินเบื้องต้นแล้วว่า อย่างน้อยที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ราว ๆ 5 หมื่นเตียง ส่วนในพื้นที่ปริมณฑลมีเตียงรองรับอยู่ประมาณ 2.5 หมื่นเตียง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเวลานี้ ระบบสาธารณสุขไทยยังพร้อมต่อการรับมือ

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีแนวทางในการให้ผู้ติดเชื้อทำการรักษาตัวที่บ้าน หรือรักษาตัวในชุมชน (Home Isolation: HI / Community Isolation: CI) เพื่อลดภาระในระบบ ถ้ามีอาการหนักก็จะส่งตัวเข้าไปรักษาในสถานพยาบาลที่เตรียมไว้ต่อไป

สำหรับมาตรการล่าสุดจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงว่า ที่ประชุมมีมติในการปรับพื้นที่ควบคุมใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" ในขณะนี้ โดยปรับพื้นที่ควบคุม สีส้มจาก 39 จังหวัดเป็น 69 จังหวัด และปรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด (สีฟ้า) อันประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และ ภูเก็ต เพื่อเป็นการผ่อนปรน และดูแลนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังออกมาตรการให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารต่าง ๆ ได้ถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ

ศบค. ยังได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนและกิจการต่างๆ ทำงานที่บ้าน (Work From Home – WFH) ไปก่อนจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2565

อ้างอิง
https://www.komchadluek.net/news/500118
https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19
https://www.nbcnews.com/health/health-news/omicron-variant-accounts-73-percent-new-covid-cases-us-rcna9434
https://www.nbcnews.com/health/health-news/omicron-symptoms-covid-what-to-know-rcna9469
https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-sees-more-evidence-that-omicron-affects-upper-respiratory-tract-2022-01-04/
https://news.thaipbs.or.th/content/311358?fbclid=IwAR35NRY8m8DxSIZozd-sdahKj9CCnAsY_cjYAXDmMbI9eRkPlFXUXvExjTw