ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 4 มกราคม 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนของร่างกายที่จะได้รับผลจากการติดเชื้อนั้นคือ “ระบบทางเดินหายใจส่วนบน” ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น และจะทำให้มีอาการป่วยน้อย มีความเสี่ยงต่ำต่อการเสียชีวิต

“ในเวลานี้ เราเห็นว่างานศึกษาจำนวนมากได้ชี้ไปในทิศทางที่ว่า เชื้อโอมิครอนจะส่งผลต่อช่วงร่างกายส่วนบนเท่านั้น และจะไม่ลงไปสู่ปอดจนทำให้เกิดอาการปอดบวมหรืออักเสบเช่นเดียวกับเชื้อสายพันธุ์อื่น ซึ่งนั้นเป็นข่าวที่ดีมาก ๆ แต่ก็ยังต้องการงานศึกษาอีกไม่น้อยเพื่อยืนยันในเรื่องนี้” อับดี มะฮะหมัด เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก กล่าว

จากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่มีการพบเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจาก WHO ได้แสดงให้เห็นว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ได้แพร่กระจายไปกว่า 128 ประเทศอย่างรวดเร็ว กลายเป็นอุปสรรคและทางแยกครั้งสำคัญในหลายประเทศ ที่ต่างกำลังจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี

ถึงกระนั้น แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นสูงในอัตราที่น่าวิตกกังวลกว่าการระบาดระลอกที่ผ่านมา แต่อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตนั้นต่ำกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก

“สิ่งที่เราเห็นกันในตอนนี้ก็คือ การสวนทางกันระหว่างอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิต” มะฮะหมัด ระบุ

การสวนทางกันระหว่างอัตราติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่มะฮะหมัดกล่าวถึงนั้น สอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้เผยแพร่ออกมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการพบโอมิครอนแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศึกษาที่ใช้ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ ประเทศต้นกำเนิดของโอมิครอน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ต้องถูกประเมินอย่างระมัดระวัง เพราะกลุ่มประชากรที่ใช้ศึกษามีเพียงกลุ่มเดียว คือกลุ่มประชากรที่เป็นวัยรุ่น - อายุน้อย

เจ้าหน้าที่ WHO รายนี้เล่าต่อไปอีกว่า โอมิครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่สูง ดังนั้นในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาด รวมทั้งยังจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และสุดท้ายก็คือจะเป็นภัยคุกคามอันตรายต่อระบบสาธารณสุข ของประเทศที่ประชากรจำนวนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

โอมิครอนนั้นสามารถที่จะหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ และหลักฐานหลาย ๆ ชิ้นที่น่าเชื่อถือก็ระบุไปในทางเดียวกันว่า ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เพียงพอต่อการป้องกันการเจ็บป่วย เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว ตัววัคซีนจะไปเสริมประสิทธิภาพของ “ทีเซลล์” เซลล์ภูมิคุ้มกันที่สำคัญของร่างกาย

“เราคาดการณ์จากข้อมูลว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะยังคงหลงเหลือในแง่ของการป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโอมิครอนได้ ซึ่งรวมถึงซิโนฟาร์มและซิโนแวคจากประเทศจีนอีกด้วย แม้พื้นที่ที่ใช้วัคซีนสองตัวนี้จะไม่ได้มีโอมิครอนระบาดหนักก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าวัคซีนอะไร ปัญหาคือการเข้าถึงวัคซีนของผู้คน” มะฮะหมัด ระบุ

เขากล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องของวัคซีนใหม่ที่จะถูกพัฒนาเพื่อโอมิครอนโดยเฉพาะนั้น ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันในระดับโลก ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ผลิตวัคซีนหรือบริษัทยาจัดการแต่เพียงผู้เดียว

องค์การอนามัยโลกยังคงมองว่า วิธีลดผลกระทบจากโอมิครอนได้ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการที่ทุกคนได้รับวัคซีน โดยที่ภายในเดือนกรฏาคมที่จะถึงนี้ ทุกประเทศทั่วโลกควรที่จะมีประชากรได้รับวัคซีนสองเข็มมากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งดีกว่าการที่จะแบ่งวัคซีนไปเพิ่มให้กับประชากรที่ได้รับเข็ม 2 แล้วเพิ่มเป็นเข็มที่ 3 และ 4

“เราอาจจะทุ่มทุกอย่างลงไปเพื่อคิดค้นวัคซีนป้องกันโอมิครอนก็ได้ถ้าอยากจะลองทำ แต่ต้องพึงระลึกไว้ว่าระหว่างที่ทุ่มกับโอมิครอน ก็อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ได้ง่ายกว่า หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า เกิดขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นต้องระวังไว้ให้ดี” มะฮะหมัด กล่าว

มะฮะหมัด กล่าวว่า แม้ตัวเลขการติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่บางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำการลดระยะเวลาการกักตัวลงและส่งผู้คนกลับออกสู่ภายนอกเร็วขึ้น ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ผู้นำของแต่ละประเทศต้องพิจารณาให้ดี บนฐานของสถิติการระบาดในประเทศของตน และโลกตะวันตกควรจะต้องคำนึงตัวเลขการติดเชื้อที่สูง พร้อมปรับเรื่องการกักตัวให้เหมาะสมกว่าเดิม โดยที่ต้องพิจารณาให้งานบริการสาธารณะและเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หนทางที่ดีที่สุดเพื่อลดการระบาดคือการที่ยังคงมาตรการให้ผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงทำการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันต่อไป

“ถ้าประเทศหรือพื้นใดมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำอยู่แล้ว ก็ขอให้กระทำวิถีทางใดก็ได้ให้รักษาอัตราที่ต่ำนั้นต่อไป ให้ได้มากและนานที่สุด” มะฮะหมัด ระบุ

อ้างอิง
https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-sees-more-evidence-that-omicron-affects-upper-respiratory-tract-2022-01-04/