ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนทางในการรักษามะเร็งผิวหนัง อาจจะอยู่ใกล้ตัวเราเพียงแค่ปลายนิ้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สารอาหารที่มีกากใย (Fiber) สูง สามารถเป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยวิธีการ Immunotherapy (ภูมิคุ้มกันบำบัด) ให้ได้ผลดีกว่าเดิม

นักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Science เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ซึ่งข้อค้นพบคือ ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่กำลังรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด อันเป็นวิธีการเสริมความสามารถให้ “ทีเซลล์” ออกฤทธิ์ต่อสู้กับมะเร็ง หากบริโภคอาหารที่มีกากใยสูงปริมาณ 20 กรัมต่อวัน จะสามารถมีชีวิตได้อย่างยืนยาวโดยที่ไม่เกิดการพัฒนาของมะเร็ง

ในขณะเดียวกัน จุลินทรีย์โปรไบโอติก (Probiotics) อันมีความสามารถในการเสริมสุขภาพของลำไส้ ก็ปรากฏผลว่าอาจส่งผลลบ ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้เช่นเดียวกัน

“ข้อมูลได้บอกเราว่า ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร สามารถส่งผลกระทบต่อการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ดังนั้นการบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง ๆ อย่าง ผัก, ผลไม้, และธัญพืช สามารถที่จะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้น” จอร์จิโอ ตรินเชียรี่ หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัย ระบุ

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแบบหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย (immune checkpoint blockers) มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกายให้สามารถระบุและฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งยาที่ใช้ในการทำภูมิคุ้มกันบำบัดก็ได้ถูกปรับมาใช้ในการรักษามะเร็งผิวหนัง ซึ่งผลที่ได้คือสามารถช่วยผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามมีชีวิตยืนยาวได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง การรักษาด้วยวิธีนี้กลับไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของเนื้อร้ายได้ และจากงานศึกษาหลายชิ้นก็พบว่าเป็นผลมาจากจุลินทรีย์โปรไบโอติกในลำไส้นี้เอง ที่ส่งผลให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ

“คำถามที่เรามีก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนองค์ประกอบของจุลินทรีย์ในลำไส้เหล่านั้น และเสริมการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย” ตรินเชียรี่ กล่าว

ในงานศึกษาครั้งก่อนของตรินเชียรี่และทีมของเขา ได้พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย สามารถตอบสนองได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขาได้รับการปลูกถ่าย “อุจจาระ” จากผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี โดยการปลูกถ่ายอุจจาระจะเป็นการนำจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ต่างกันมาช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันมีประสิทภาพในการกำจัดเซลล์มะเร็งมากขึ้น

“สารอาหารที่มีกากใยและการเพิ่มส่วนเสริมของจุลินทรีย์โปรไบโอติกเข้าไป ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนองค์ประกอบของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมะเร็งมักจะรับส่วนเสริมของจุลินทรีย์โปรไบโอติกเข้าไปเพื่อเสริมสุขภาพของลำไส้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้เลยว่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกซึ่งเข้าไปเปลี่ยนระบบนิเวศน์ของจุลินทรีย์ในลำไส้ ส่งผลอย่างไรในการตอบสนองของร่างกายต่อภูมิคุ้มกัน” ตรินเชียรี่ กล่าว

จากเหตุของความไม่รู้ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยชิ้นก่อน ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สำรวจตรวจสอบต่อไปจนพบว่า เมื่อนำหนูทดลองมาทำการป้อนสารอาหารที่มีกากใยสูงอย่าง “เพคติน” (Pectin) ซึ่งสามารถพบได้ในผลไม้อย่างแอปเปิ้ล เนื้อร้ายในหนูเหล่านั้นได้ถูกยับยั้งการเจริญเติบโต เพราะสารอาหารได้ไปทำการเสริมประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันและเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ระดับจุลภาคของเนื้อร้าย

ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจองค์ประกอบของจุลินทรีย์ในลำไส้ พฤติกรรมการบริโภค และส่วนเสริมของจุลินทรีย์ในลำไส้ ในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่รักษาด้วยภูมิคุ้มบำบัดแบบหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย

จากผู้ป่วย 128 ราย ที่ได้รับกากใยปริมาณ 20 กรัมต่อวัน ทุกวัน (โดยเป็นปริมาณที่นักวิจัยคำนวณไว้ว่าเพียงพอต่อการศึกษาครั้งนี้) ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้ยืนยาวโดยไม่มีการพัฒนาการของโรคใด ๆ มากกว่าผู้ที่ได้รับกากใยน้อยกว่า 20 กรัม โดยทุก ๆ 5 กรัม ของกากใยที่เพิ่มขึ้นทุกวันสามารถลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะเติบโตได้ถึง 30%

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสำรวจไปที่ผลกระทบของการบริโภคกากใยต่อการตอบสนองของการรักษาด้วยยา anti-PD-1 อันเป็นยาที่ใช้เพื่อหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย โดยทำการแบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มได้รับเซลล์มะเร็งผิวหนังเหมือนกัน แต่ได้รับสารอาหารที่มีกากใยปริมาณมากน้อยต่างกัน จากนั้นก็ทำการให้ยา anti-PD-1 แก่หนูทั้งสองกลุ่ม ผลปรากฏว่าหนูกลุ่มที่ได้รับกากใยสูง สามารถชะลอการเติบโตของเนื้อร้ายได้ แตกต่างจากหนูที่ได้รับกากใยน้อย ขณเดียวกันนักวิจัยยังทำการทดลองรูปแบบเดียวกันในหนูทดลองที่ไม่มีจุลินทรีย์ในร่างกายอีกด้วย เพื่อความแม่นยำของการทดลอง

“เราพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของกรดไขมันที่เรียกว่า “Propionate” (เกลือของกรดโพรพิโอนิก – Propionic acid) ในหนูที่ได้รับกากใยสูง ยิ่งไปกว่านั้นเราพบการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย Ruminococcaceae ในจุลินทรีย์ในลำไส้อย่างมาก ในผู้ป่วยที่ตอบสนองดีต่อการทำภูมิคุ้มกันบำบัด มากกว่าผู้ที่ไม่ตอบสนอง” ตรินเชียรี่ ระบุ

หลังจากนั้นทีมวิจัยของตรินเชียรี่ ก็ได้ทำการตรวจสอบผลกระทบของจุลินทรีย์โปรไบโอติกในหนูทดลองที่เป็นมะเร็งผิวหนัง แล้วพบว่าหนูทดลองที่ได้รับจุลินทรีย์โปรไบโอติกจะตอบสนองต่อการรักษาน้อยลงเป็นอย่างมาก และจะพบเนื้อร้ายก้อนใหญ่กว่าหนูอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับจุลินทรีย์โปรไบโอติก

การวิเคราะห์เพิ่มเติมยังทำให้พบอีกว่า หนูที่ได้รับจุลินทรีย์โปรไบโอติกจะมีเซลล์ที่สามารถสู้มะเร็งได้จำนวนน้อยกว่าหนูอีกกลุ่ม ผลการทดลองครั้งนี้จึงชี้ไปในทางที่ว่า จุลินทรีย์โปรไบโอติกนั้นทำให้การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของร่ายกายด้อยประสิทธิภาพลง

ส่วนการศึกษาในมนุษย์ได้พบว่า จากช่วงเวลาระหว่างการทดลอง กว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยได้บริโภคส่วนเสริมของจุลินทรีย์โปรไบโอติกเข้าไปในร่างกาย แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดมากนัก ว่าการบริโภคเหล่านั้นจะส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อเรื่องของการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน เพราะข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ แต่จากผลการศึกษาขั้นต้นก็พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่บริโภคสารอาหารที่มีกากใยและไม่มีจุลินทรีย์โปรไบโอติก จะมีชีวิตได้ยืนยาวกว่า

ตรินเชียรี่ กล่าวว่า การศึกษายังคงต้องดำเนินต่อไปและจะมีการเพิ่มส่วนของมะเร็งอื่น ๆ เข้าไปในการศึกษาขั้นต่อไปอีกด้วย

“ผลกระทบของสารอาหารที่มีกากใยและจุลินทรีย์โปรไบโอติกเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพใหญ่เท่านั้น ยังคงมีเหตุปัจจัยอีกไม่น้อยที่สามารถส่งผลกระทบต่อการตอบสนองของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่กำลังรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่เรามีแสดงให้เห็นว่าจุลินทรีย์ในมนุษย์นั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก และในเวลานี้คำแนะนำก็คือ จะดีกว่าถ้าผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดอยู่ จะงดเว้นการใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโปรไบโอติกส์” ตรินเชียรี่ ระบุ

อ้างอิง
https://www.cancer.gov/news-events/press-releases/2021/high-fiber-diet-melanoma-immunotherapy
https://www.science.org/doi/10.1126/science.aaz7015