ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพราะมนุษย์มีขีดจำกัดทางด้านสุขภาพและร่างกายตามธรรมชาติ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มนุษย์จึงได้พยายามจะเอาชนะธรรมชาติของตนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการหาทางรักษาโรคภัยต่าง ๆ หรือการรักษาสุขภาพให้สามารถมีชีวิตได้ยาวนานกว่าที่เคยเป็น

มนุษยชาติไม่เคยหยุดนิ่งในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ นั่นจึงทำให้ทุกปีจึงมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

หนึ่งในสิ่งที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ นวัตกรรมทางการแพทย์

ในปี 2022 ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นอีกปีที่นวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพก้าวกระโดดไปอีกขั้น เพราะแนวโน้ม “เทรนด์” สุขภาพของโลกไม่ว่าอย่างไรก็จะหนีไม่พ้นการเข้ามาของเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ และนำเรื่องเหล่านี้ให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ บนเป้าหมายสูงสุดคือชีวิตที่ดีขึ้นของทุก ๆ คน           

1. การแพทย์แผนใหม่ (Digital Therapeutics - DTx)

การแพทย์แผนใหม่ หรือเรียกได้อีกอย่างว่า การบำบัด/รักษาแบบดิจิทัล คือการพลิกโฉมแวดวงการแพทย์ที่สำคัญในปี 2022 นี้ ด้วยการนำเอาระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวซอฟต์แวร์ขั้นสูงหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่าง ๆ ให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น

การนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยแพทย์นั้น จะมาช่วยแบ่งเบาภาระของแทพย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านค่าเลือดของผู้ป่วย การประเมินผลจากภาพถ่ายรังสี การประเมินอาการจากข้อมูลเชิงสถิติ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความละเอียดและแม่นยำอย่างมากในการตีความออกมา เพื่อระบุว่าข้อมูลเหล่านั้นจะสื่อถึงโรคหรือวิธีการรักษาแบบใด

ซอฟต์แวร์หรือปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้แพทย์สามารถบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ผิดพลาดน้อยลง มีผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้น เลือกวิธีรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้การรักษาและสุขภาพของคนไข้ดีขึ้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่รักษาได้ยากในอดีต

ตัวอย่างสำคัญของจุดเริ่มต้นในด้านนี้คือ เยอรมนี โดยปัจจุบันประชาชนชาวเยอรมันกว่า 73 ล้านคน ได้รับบริการด้วยนวัตกรรมการแพทย์แผนใหม่ในเวลานี้ การรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของชาวเยอรมัน แพทย์จะได้รับการช่วยเหลือโดยบรรดาซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเยอรมันยังสามารถที่จะเข้ารับการรักษาผ่านแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ (Digitale Gesundheitsanwendungen - DiGA) เพื่อรักษาอาการอย่างโรคเครียด โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ไมเกรน โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น โดยบรรดาแอปพลิเคชัน DiGA จะทำการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังอาการ ประเมินสถิติต่าง ๆ แล้วนำมาประมวลเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือรักษาสำหรับบุคคลนั้น ๆ รวมถึงสามารถที่จะออกใบสั่งจ่ายยาให้ได้อีกด้วย ซึ่งประวัติการรักษาทั้งหมดก็จะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบบันทึกดิจิทัลที่จะสามารถเรียกใช้งานเมื่อไหร่ เวลาใดก็ได้

ในขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้งานเพื่อให้เกิดการแพทย์แม่นยำมากขึ้นเช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดคือโครงการการแพทย์แบบจีโนมมิกส์ (Genomics Medicine) ที่จะใช้ “พันธุกรรม” ในมนุษย์มาช่วยบูรณการการรักษาร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Genomics Thailand” ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2021 โดยมุ่งเน้นที่จะนำการแพทย์แบบจีโนมมิกส์มาป้องกันและรักษาโรคให้กับคนไทย เช่น มะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และนำมาป้องกันการแพ้หรือใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ในประเทศไทยก็ยังมีการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยเหลือแพทย์แล้วด้วย เช่น “AI Chest 4 All” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปฝังตัวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล และใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำการอ่านและวิเคราะห์ผลการเอกซเรย์นั้นว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ หากมีสิ่งนั้นคืออะไร โดยมีความแม่นยำมากถึง 90% และยังลดเวลาการอ่านผลลงได้อีกด้วย

2. การติดตามดูแลผู้ป่วยทางไกล (Remote Patient Monitoring)

สถานการณ์โควิด-19 เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องเข้ารับการติดตามตรวจรักษาโดยแพทย์เป็นประจำ เพราะโรงพยาบาลกลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซ้ำร้ายโควิด-19 ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะกลับไปสู่ภาวะปกติในเร็ววัน นั่นทำให้วิถีทางในการติดตามรักษาคนไข้จำเป็นต้องเปลี่ยนไป

สิ่งที่ถูกนำมาทดแทนในเวลานี้คือ “การติดตามดูแลผู้ป่วยทางไกล” อันเป็นนวัตกรรมที่ให้ผู้ป่วยสามารถถูกติดตามอาการได้ตลอดเวลา เพียงแค่ผู้ป่วยมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตัวอยู่ อุปกรณ์ก็จะส่งข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าของเสียต่าง ๆ ค่าน้ำตาลในเลือด ฯลฯ เข้าไปในระบบ และแพทย์ก็จะสามรถเข้าถึงและประเมินอาการผู้ป่วยได้ตลอดเวลา

การที่แพทย์สามารถติดตามข้อมูลผู้ป่วยได้ตลอดเวลาจากที่ไหนและเมื่อไรก็ได้เช่นนี้ จะทำให้เกิดการ “ลดภาระ” ทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของทั้งระบบสาธารณสุขและผู้ป่วยลงได้

นั่นก็เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล แต่แพทย์สามารถวิเคราะห์ผู้ป่วยได้ในทันที และพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ได้ตามเวลานัดหมาย รวมถึงการจ่ายยาก็เปลี่ยนเป็นการส่งไปที่บ้าน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

ในส่วนการตรวจรักษาที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ บ้างก็อาจถูกทดแทนด้วยอุปกรณ์ขนาดย่อมสมัยใหม่ได้ หรือหากทดแทนไม่ได้ ก็อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการนำผู้ป่วยไปรับการตรวจในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่มีเครื่องมือพร้อม หรืออาจนำเครื่องมือไปตรวจผู้ป่วยถึงที่บ้าน จากนั้นก็จะนำข้อมูลเข้าสู่ระบบให้แพทย์นำไปใช้ต่อไป

สำหรับประเทศไทย การดูแลผู้ป่วยทางไกลได้เริ่มขึ้นบ้างแล้วทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะจากหน่วยงานอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 สปสช.ได้ปรับการดูแลผู้ป่วยเป็นการดูแลที่บ้าน ตั้งแต่การพบแพทย์ทางไกล ส่งยาไปที่บ้าน และเมื่อเกิดความจำเป็นก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลถึงบ้าน ทั้งหมดก็เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19จากการเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล เป็นต้น

3. เวชระเบียนดิจิทัล (Digital Health records)

เวชระเบียนดิจิทัล จะเป็นเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิงในปี 2022 เพราะเวชระเบียนดิจิทัลจะเข้ามาแทนกองเอกสารเดิมอันสับสนวุ่นวายและบริหารจัดการยาก ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยจะถูกเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเวชระเบียนทั่วไป ประวัติการแพ้ยา ใบสั่งจ่ายยา ข้อมูลเชิงลึกทางสุขภาวะ ทั้งหมดนี้ต่อไปจะถูกเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัลที่ ใช้งานได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย

การมีเวชระเบียนดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อนของระบบเอกสารแบบเดิมเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันมันยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะเป็นการรวบรวมสถิติและข้อมูลเชิงลึกด้านสุขภาพของผู้คนเอาไว้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการนำไปใช้วิเคราะห์เชิงสถิติตามแนวทางการแพทย์แผนใหม่ ที่เป็นเรื่องของ Big Data ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลของทุกคนในอนาคต

นอกจากนี้ เวชระเบียนดิจิทัลยังเป็นนวัตกรรมที่มากกว่าการสร้างฐานข้อมูล เพราะเมื่อทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัลเรียบร้อย ก็สามารถต่อยอดสู่บริการอื่น ๆ ได้ ตั้งแต่การติดตามดูแลผู้ป่วยทางไกล โทรเวชกรรม การนัดเข้าพบแพทย์ รายละเอียดยาที่ต้องใช้และสามารถให้ผู้ป่วยไปซื้อหรือสั่งยาได้เอง ใบรับรองการฉีดวัคซีนต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งหมดจะเป็นการรวมศูนย์เรื่องสุขภาพของผู้คนเอาไว้ในที่เดียว

สำหรับเรื่องของการรวมบริการทางด้านสุขภาพเอาไว้ในที่เดียวนั้น คงจะไม่สามารถมองข้ามความสำเร็จของวงการสาธารณสุขไทยอย่าง “ฮุกกะ” แอปพลิเคชันจากฝ่าย IT โรงพยาบาลราชบุรี ที่นำมาช่วยลดภาระทั้งฝั่งบุคลลากรทางการแพทย์ และฝั่งผู้รับบริการ ตั้งแต่การจัดระบบคิว ไปจนถึงเรื่องของเวชระเบียนออนไลน์

ปัจจุบัน ฮุกกะ เป็นเวชระเบียนดิจิทัลที่ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเวชระเบียนของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องของเวชระเบียนมาติดตัวไว้เมื่อย้ายการรักษาไปโรงพยาบาลอื่น นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อเวชระเบียนของโรงพยาบาลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สามารถใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฮุกกะยังสามารถใช้ในการนัดแพทย์ จองวัคซีนโควิด-19 แสดงใบรับรองวัคซีน แสดงใบสั่งจ่ายยา และโรงพยาบาลเองก็สามารถใช้ข้อมูลจากฮุกกะไปใช้เป็นข้อมูลเชิงสถิติของโรงพยาบาลได้อีกด้วย

ผู้พัฒนาฮุกกะยังตั้งเป้าหมายว่า เพื่อทำให้ “ครบ จบในแอปฯเดียว” ฮุกกะในอนาคตจะพัฒนาให้มีระบบโทรเวชกรรมเป็นของตัวเอง เชื่อมโยงแพทย์และผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และมีบริการที่หลากหลายมากขึ้น

นวัตกรรมใหม่ สุขภาพใหม่

การพัฒนาของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่นำไปสู่เทรนด์สุขภาพของปี 2022 นี้ ไม่ว่าจะเป็นการมาถึงของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในวงกว้าง ระบบสุขภาพทางไกล และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เข้าสู่โลกดิจิทัล ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีและนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดีของผู้คนในอนาคต เพราะนับจากนี้อะไรต่าง ๆ ก็จะผิดพลาดน้อยลง แม่นยำมากขึ้น พร้อมกับมีวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายกันไปมากขึ้น

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ ในทุกมิตินี้ประเทศไทยทันท่วงทีเสมอ และไม่ตกขบวนเชิงนวัตกรรมทางการแพทย์แต่อย่างใด นั่นจึงหมายความว่าสุขภาพของคนไทยจะได้ถูกยกระดับตามไปด้วยอย่างแน่นอนในปีนี้

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์สุขภาพที่น่าสนใจของปี 2022 ซึ่งสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า สุขภาพแบบดิจิทัลจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นแค่ฝันและไกลเกินเอื้อมอีกต่อไปในปีนี้

อ้างอิง

https://www.financialexpress.com/healthcare/healthtech/top-health-tech-trends-to-predict-in-2022/2391908/
https://www.pharmaceutical-technology.com/comment/digital-therapeutics-germany/
https://www.thecoverage.info/news/content/2845
https://www.thecoverage.info/news/content/2847
https://www.thecoverage.info/news/content/2444
https://hyggemedicalservice.com/wp/
https://tu.ac.th/thammasat-090764-tse-ai-chest-4-all