ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วารสาร Nature เผยแพร่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮ่องกง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ซึ่งเปิดเผยถึงหลักฐานสำคัญว่าสาเหตุใดที่ทำให้ “โอมิครอน” สายพันธุ์ระบาดใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถหลบภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 ครั้งก่อน

ขณะเดียวกันทีมวิจัยก็ได้ชี้ชัดว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีวัคซีน รวมถึงการรักษาแนวทางใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ในอนาคต

สำหรับในเวลานี้ ความสามารถที่น่าวิตกกังวลของโอมิครอน คือการที่ตัวเชื้อไวรัสสามารถหลบหรือทำให้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมีด้อยประสิทธิภาพลงอย่างมาก เนื่องด้วยสาเหตุที่ “Spike protein” ของตัวไวรัสได้กลายพันธุ์ไปแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากวัคซีน ต่อการต้านเชื้อโอมิครอนในห้องวิจัย ด้วยเชื้อไวรัส “จริง” และเชื้อไวรัส “จำลอง” ที่ได้ทำการสร้างขึ้นภายในห้องวิจัย

ทั้งนี้ผลการทดลองพบว่าภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนสองเข็ม จากวัคซีน 4 ตัวหลักที่ใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Moderna, Pifzer, AstraZeneca, และ Johnson&Johnson มีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากในการต้านโอมิครอน เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่มีต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้นภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งก่อนก็ยิ่งด้อยประสิทธิภาพต่อโอมิครอน มากกว่าที่ได้รับจากวัคซีนสองเข็มข้างต้น

ในส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้มเป็นเข็มที่สาม ด้วยวัคซีนแบบ mRNA ผลการศึกษาพบว่าอาจทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ “เล็กน้อย” แต่ภูมิคุ้มกันก็ยังคงนับว่า “ด้อยประสิทธิภาพ” อยู่ดีเมื่อต้องเจอกับเชื้อโอมิครอน

“ผลการศึกษาบ่งบอกว่า แม้จะเคยติดเชื้อจนได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติมาก่อน หรือได้รับวัคซีนครบตามจำนวนมาตรฐาน (สองเข็ม) ก็ยังมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น วัคซีนเข็มที่สามก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการรับวัคซีนเข็มสามก็ยังเป็นสิ่งที่จะแนะนำต่อ เพราะประโยชน์จากภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นก็ยังให้ผลดีอยู่”  เดวิด โฮ ผู้อำนวยการของ The Aaron Diamond AIDS Research Center ในฐานะหนึ่งในทีมนักวิจัย ระบุ

สำหรับข้อค้นพบจากงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ สอดคล้องกับงานศึกษาชิ้นอื่นๆ ที่มีออกมาก่อนหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาจากข้อมูลด้านระบาดวิทยาของแอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร ที่ได้บ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนสองเข็มต่อการป้องกันอาการเจ็บป่วยนั้นลดลง เมื่อเป็นการติดเชื้อโอมิครอน

เรื่องที่น่าหวาดวิตกอีกเรื่องคือ โดยปกติแล้วหากเข้ารับการรักษาหลังจากติดเชื้อในระยะเวลาไม่นาน หนึ่งในการรักษาที่จะถูกเลือกใช้ คือการรักษาแบบ “Monoclonal antibodies” หรือ ชีววัตถุเพื่อการรักษาโรคอันได้มาจากโปรตีนในร่างกาย ซึ่งสามารถที่จะรักษาและป้องกันผู้ป่วยให้ไม่มีการพัฒนาของอาการเจ็บป่วยได้ แต่งานศึกษาชิ้นนี้ได้ค้นพบว่า ทุกวิธีการรักษาโควิด-19 ทั้งที่ใช้ในปัจจุบันและที่กำลังพัฒนาอยู่ มีประสิทธิภาพต่ำมากเมื่อต้องนำมาใช้รักษาโอมิครอน

การรักษาตามแนวทางแบบ Monoclonal antibodies หนึ่งเดียวในโลกที่ยังคงได้ผลต่อการติดเชื้อโอมิครอน คือ “Brii198” จากประเทศจีน อย่างไรก็ตามโอมิครอนในตอนนี้ สามารถที่จะต้านฐานภูมิคุ้มกันและวิธีการรักษาทั้งหมดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ “เกือบสมบูรณ์” ซึ่งทีมวิจัยยังระบุอีกว่า โอมิครอนมีความสามารถในการเล็ดลอดวิธีการใดก็ตามที่จะทำให้มันหมดฤทธิ์ได้ “อย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน” ในไวรัสตัวไหนๆ

อย่างไรก็ตาม โฮและนักวิจัยในห้องทดลองก็สามารถระบุต้นตอ “ความแข็งแกร่ง” ของโอมิครอนได้ โดยพบว่าโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ Spike Protein จำนวนสี่จุดที่ทำให้มันสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งข้อมูลที่ค้นพบนี้จะเป็นแนวทางสำคัญต่อไปในการออกแบบและหาวิถีทางใหม่ในการต่อสู้กับโอมิครอน

โฮ กล่าวอีกว่า ในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์จำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนและการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ ให้ทันท่วงทีต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส

“การที่จะคิดว่า SARS-CoV-2 อาจกำลังจะกลายพันธุ์อีกไม่กี่ครั้ง ก็จะสามารถทนทานและไม่เกรงกลัวต่อภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็น Monoclonal antibodies หรือภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน และการติดเชื้อครั้งก่อนอีกต่อไป ก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าจะจินตนาการอีกแล้ว” โฮ ทิ้งท้าย

อ้างอิง
https://www.cuimc.columbia.edu/news/new-study-adds-more-evidence-omicron-immune-evasion
https://www.nature.com/articles/d41586-021-03824-5