ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สังคมสูงวัยกำลังไล่ล่าประเทศที่ไม่มีความพร้อม โดยสถานการณ์ของประเทศไทย พบว่าภูมิภาคที่ประสบปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุมากที่สุดคือภาคเหนือ โดยเฉพาะ “จ.แพร่” ที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย

กว่า 24% ของประชากรใน จ.แพร่ เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี โดยปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบเจอมากที่สุดในจังหวัดแพร่คือปัญหาเกี่ยวกับ “สะโพก” ไม่ว่าจะเป็นสะโพกฉีก กระดูกสะโพกร้าว หรือหัก

อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะค่อนข้างครอบคลุมทั่วถึงและสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี แต่การจะผ่าก็ต้อง “รอคิว” ซึ่งการรอคอยก็มีทั้งความยาวนาน และทรมาน ปัญหาเพียงแค่รอผ่าตัดนี้เรื้อรังและร้ายจนสามารถนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้

นั่นทำให้ “โรงพยาบาลจังหวัดแพร่” ได้ทำการนำระบบ Fast Track สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสะโพกมาใช้ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาการรอคอยและช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น

The Coverage เป็นเกียรติที่ได้พูดคุยกับ “นพ.ลักษณ์ ปภินวิชกุล” แพทย์ศัลยกรรมกระดูก (ออร์โธปิดิกส์) ประจำโรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ ถึงระบบ “Fast track surgery in Geriatric hip fracture” ที่นับเป็นการพลิกโฉมการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ระบบ Fast track ผ่าตัดสะโพก

เรื่องการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ควรกระทำให้รวดเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและฟื้นตัวใกล้เคียงเดิมมากที่สุด ทว่าเรื่องด่วนที่สุดในทุกวันนี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่ช้าที่สุดเช่นกัน การแก้ปัญหาอย่างจริงจังเลยกลายเป็นสิ่งจำเป็น

นพ.ลักษณ์ เล่าว่า ในสมัยที่มาประจำการที่ รพ.แพร่ใหม่ๆ การพบเจอผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักนั้นมีค่อนข้างน้อย ใน 2 – 3 วันถึงจะพบเจอเพียงหนึ่งราย แต่ในระยะหลังไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับพบผู้ป่วยกระดูกสะโพกให้บ่อยครั้งขึ้นมาอย่างน่าตกใจ ต่อวันสามารถมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ถึง 3 ราย พร้อมๆ กัน บางวันก็มีถึง 5 ราย

จ.แพร่ ในอดีตที่ผ่านมา มีแพทย์ศัลยกรรมกระดูกเพียงแค่คนเดียว โดย “นพ.ลักษณ์” นับว่าเป็นแพทย์ศัลยกรรมกระดูกคนที่สองของจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่าภาระงานนั้นหนักมาก การผ่าตัดให้ผู้ป่วยเต็มไปด้วยข้อจำกัด

จากรายงานพบว่า ถ้ากระดูกสะโพกหักแล้วไม่ได้รับการผ่าตัด จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ภายในหนึ่งปี แต่ถ้าได้รับการผ่าตัดแล้ว อัตราการเสียชีวิตจะลดลงเหลือเพียงแค่หนึ่งในสามของความเสี่ยงเดิมเท่านั้น และด้วยแนวทางการรักษาสมัยใหม่ ไม่ว่าอย่างไรผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหักก็ต้องได้รับการผ่าตัด

นพ.ลักษณ์ บอกว่า การผ่าตัดนั้นดีกว่าอย่างแน่นอน เมื่อดูจากสถิติเพียงแค่ในจังหวัดแพร่ ปี 2555 อัตราการเสียชีวิตของทั้งผู้ป่วยที่ผ่าตัดและไม่ผ่าตัดรวมกันอยู่ที่ 21% แต่ปัจจุบันที่การรักษาคือการผ่าตัดเท่านั้น ก็เหลือเพียงแค่ 10%

“เมื่อการผ่าคือทางเลือกที่ดีที่สุด เราจึงนำเอาแนวทางจากประเทศอังกฤษที่บอกว่า ยิ่งผ่าเร็วเท่าไหร่ อัตราการตายก็จะยิ่งน้อยลงไปพร้อมกับการลดลงของอาการแทรกซ้อน รวมถึงสามารถลดภาระของการบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย” นพ.ลักษณ์ กล่าว

นพ.ลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ระบบ Fast track surgery in Geriatric hip fracture จึงถือกำเนิดขึ้นใน รพ.แพร่ โดยมีนัยยะสำคัญก็คือ การเข้าถึงการรักษาอย่างเร่งด่วน และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เป็น Early Surgery ที่จะผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง และจะทำให้ผู้ป่วยสามารถ “เดิน” และ “กลับบ้าน” ได้ในเวลาไม่นาน

ระบบ Fast track ของ รพ.แพร่นั้นจะเริ่มตั้งแต่ที่โรงพยาบาลชุมชน โดยเป็นการประสานงานกันให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ช่วยทำการเตรียมตัวผู้ป่วยที่ประสบกับอาการกระดูกสะโพกหักในชุมชนตัวเองก่อนตามแนวทางที่ รพ.แพร่กำหนด จากนั้นก็จะส่งตัวผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาใน รพ.แพร่ ซึ่งถ้าการเตรียมความพร้อมทำมาได้ดี เมื่อมาถึง รพ.แพร่ ก็สามารถที่จะผ่าตัดได้ในทันที

สำหรับผู้ป่วยที่มาหน้าห้องฉุกเฉิน รพ.แพร่ ระบบ Fast track จะทำการให้มีการลดการรอคอยและภาระของตัวห้องฉุกเฉินเองให้ได้มากที่สุด โดยการแยกเรื่องกระดูกสะโพกหักออกไปต่างหาก ด้วยการให้พยาบาลหน้าห้องฉุกเฉินเป็นผู้คัดกรองเบื้องต้นและจัดลำดับความสำคัญ จุดนี้ต้องจัดการให้ดี เพราะในอดีตที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุการที่มาจากการคัดกรองและบริหารจัดไม่มีประสิทธิภาพอันส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอถึง 10 ชั่วโมงมาแล้ว

นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากความรวดเร็วที่มีมากขึ้นแล้ว ระบบยังถูกออกแบบให้มีการร่วมมือกันของแพทย์ด้านต่างๆ โดยจะมีการขอความเห็นและตรวจสอบความพร้อมของผู้ป่วยร่วมกันของ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก อายุรแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ถ้าเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของสภาพของผู้ป่วย ก็สามารถให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดในทันที

หลังการผ่าตัด ก็ยังมีการรวมเอาระบบ Enhanced Recovery After Surgery หรือ ERAS มาใช้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่แล้วทั่วโลกในปัจจุบัน โดยหลักแล้วคือจะเป็นกระบวนการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ด้วยการจัดการดูแลต่างๆ ที่จำเป็น ไม่ปล่อยให้ฟื้นตัวอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต นี่ยังไม่รวมถึงการใช้นักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยเรื่องการฟื้นตัวอีกด้วย

ทั้งหมดที่รวมกันอยู่ในระบบ Fast track ของ รพ.แพร่ ส่งผลให้คนไข้พักฟื้นเพียง 1 – 2 วันก็ฟื้นตัวและกลับบ้านได้ เนื่องด้วยรอคอยการผ่าตัดไม่นาน ผู้ป่วยไม่โทรม แผลผ่าตัดเล็ก และการดามกระดูกใช้เวลาเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งถ้าการดูแลทำได้ดี ผู้ป่วยมีแนวโน้มสามารถกลับมาเดินได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

รพช.-1669’ คือหัวใจสำคัญ

แม้ว่าระบบจะถูกออกแบบไว้อย่างดีเพียงใด แต่การที่ประชาชนเข้าถึงบริการไม่ได้ ก็ยังเป็นช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ รพ.แพร่ พยายามจะผลักดันให้เกิดการเข้าถึงการรับบริการ Fast track มาโดยตลอด

นพ.ลักษณ์ ระบุว่า ตามที่เล่าไปข้างต้น การเตรียมผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักควรเริ่มตั้งแต่ในชุมชน แต่การไม่ได้เตรียมอาจจะสามารถหมายความถึงการเข้าไม่ถึงการรักษาด้วยก็เป็นได้ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วมีความสำคัญมาก และนี่ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย

ในต่างประเทศ การเตรียมตัวผู้ป่วยนั้นเริ่มตั้งแต่ในโรงพยาบาลชุมชน แต่ประเทศไทยของเราโดยทั่วไประบบนี้ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมาเพียงพอ แต่ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่ประเทศไทยมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เข้าถึงทุกหมู่บ้าน ถ้าเป็นไปได้ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม และมีแนวโน้มว่ากระดูกสะโพกหัก สามารถเข้าถึงระบบบริการฉุกเฉินอย่าง 1669 ได้มากขึ้น หรือรับรู้ว่ามีระบบนี้ ก็จะมีประโยชน์อย่างมากในการรักษา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินค่อนข้างน้อง เพียง 19% ของเหตุกระดูกสะโพกหักเท่านั้นที่เข้าถึง ที่ผ่านมาจังหวัดแพร่พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการเข้าถึงมากขึ้น ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เป็น 50 % ของเหตุสามารถที่จะเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินและได้รับการเตรียมความพร้อมให้รับการผ่าตัดด้วยระบบ Fast track

การเคลื่อนย้ายก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการเคลื่อนย้าย ป้องกันไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือนและส่งอันตรายต่ออาการเจ็บป่วยที่เผชิญอยู่

นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน นั่นก็คือการติดตามรักษา เพราะไม่มีการติดตามการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ระบบที่มีในชุมชนยังไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็น รพช. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็ยังขาดความพร้อม ไม่ว่าจะอุปกรณ์หรือบุคลากร ผลเสียใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ ผู้ป่วยอาจจะต้องประสบกับปัญหาการติดเตียงได้ ดังนั้นเรื่องนี้ก็เป็นช่องโหว่อีกหนึ่งจุดที่ต้องได้รับการจัดการ

Value Base Healthcare ที่ประสบความสำเร็จ

นพ.ลักษณ์ เล่าต่อไปว่า ความสำเร็จงของระบบ Fast track ที่ถูกนำมาใช้ใน รพ.แพร่ คือมันสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปมีชีวิตได้อย่างใกล้เคียงกับก่อนหน้าที่จะเจ็บป่วยได้มาก

ระบบยังช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงได้อีกด้วย เมื่อเทียบกับการรักษาทั่วไปที่เคยกระทำกันมา เพราะการรอคอยนอกจากจะใช้เวลานานแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันสามารถนำไปสู่การต้องรักษาใน ICU ได้

สิ่งที่ รพ.แพร่ ทำมันตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่า Value Base Healthcare หรือคุณค่าในการรักษาพยาบาล ซึ่งหมายถึงมีผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี ใช้ระยะเวลาในการรอคอยการรักษาน้อย ภาระต่างๆ ในระบบลดลง ซึ่งทุกอย่างต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกัน ไม่สามารถที่จะมีอย่างหนึ่งอย่างใดตอบโจทย์ได้เพียงอย่างเดียว

สำหรับก้าวต่อไปของระบบ Fast track นพ.ลักษณ์ ฉายภาพว่า ก้าวต่อไปของระบบ Fast track ที่ใช้ใน รพ.แพร่ คือการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ และเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนไข้เข้าด้วยกันให้หมด ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม เช่น 1669 ต้องเป็นที่รู้จักของทุกคน

เรื่องสหสาขาวิชาชีพ ต้องเริ่มต้นที่ชุมชน จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับการเตรียมตัวตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน และต้องคิดไปถึงถึงว่า ทำอย่างไรจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นด้วย ต้องไม่ตั้งรับอย่างเดียว จะลดการผลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชนอย่างไรให้เกิดน้อยที่สุด ซึ่งวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนต้องเข้ามามีส่วนรวม

โรงพยาบาลก็ต้องดึงทุกภาคส่วนในโรงพยาบาลให้เข้ามามีส่วนร่วม แพทย์สาขาต่าง ๆ ควรเข้ามาช่วยเหลือกัน เพราะผู้ป่วยสูงอายุมักมีโรคอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย จึงจำเป็นต้องมีการปรึกษาหารืออย่างรอบด้านเพื่อให้สามารถเลือกการรักษาที่ดีและเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ มากที่สุด ลดความเสี่ยงของปัญหาที่ตามมา และนำผู้ป่วยกลับสู่การมีชีวิตที่ดี

นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้พัฒนาและนำมาใช้ให้กว้างขวางและครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุดคือ ERAS เพราะไม่เพียงแค่กระดูกสะโพกหักเท่านั้น แต่โรคอื่นใดก็ตามที่ต้องใช้การผ่าตัดก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลแบบ ERAS เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วและลดภาระของการบริการทางการแพทย์ได้

หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ชุมชมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ ชุมชนควรมีคลินิกกายภาพบำบัดเป็นของตัวเองเพื่อที่ผู้ป่วย เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วก็สามารถที่จะได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูร่างกายอย่างต่อเนื่อง

รพ.แพร่ กำลังผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด เชื่อมโยงทั้งผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างให้เกิดการรักษาและดูแลสุขภาพของประชาชนให้มากและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

“สุดท้ายคือเราอยากให้ระบบสาธารณสุขเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ รวมถึงถ้าที่ไหนทำได้ดี ก็ควรจะมีการให้รางวัลความสำเร็จแก่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ รักษาและได้ผลลัพธ์ได้ดี ลดภาระของนะบบได้ ลดอัตราการเสียชีวิต และลดระยะเวลาการรักษา โรงพยาบาลที่ไหนทำได้ก็ควรได้รับรางวัล นี่เป็นภาพที่เราอยากให้เกิด” นพ.ลักษณ์ กล่าว