ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 15 ธ.ค. 2564 นับเป็นวันแรกในการเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ คณะกรรมการเภสัชกรรม วาระที่ 10” ภายใต้การนำของนายกสภาเภสัชฯ คนใหม่ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์ของไทยและของโลก “เภสัชกร” ได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขวิชาชีพอื่นๆ จนช่วยให้ประชาชนผ่านพ้นจากอุบัติการณ์อันเลวร้ายมาได้

“The Coverage” ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พูดคุยกับ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ถึงวิสัยทัศน์ ทิศทางการทำงาน จุดเน้น ตลอดจนความคาดระยะสั้น ระยะกลาง และในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การดูแล “เภสัชกร” และ “ประชาชน”

ไม่ได้บรรจุ ข้าราชการ ไม่ได้เติมกำลังใจ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ เริ่มต้นการสนทนาด้วยการเล่าถึงภาระงานของเภสัชกรในประเทศไทยว่า ต้องยอมรับว่าหลังจากที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภาระงานของเภสัชกรรมเพิ่มมากขึ้น และเหมือนจะตึงมืออยู่ตลอด เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น รวมไปถึงนโยบายจำกัดกำลังคนของภาครัฐ ที่ทำให้อัตรากำลังคนมีปัญหา

การมีหลักประกันฯ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมากขึ้นจริงๆ ซึ่งก็ดีตรงที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มาก แต่อัตรากำลังเราไม่ได้เพิ่มตามเท่าที่ควร

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ บอกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบาย “รับยานอกโรงพยาบาล” เพื่อลดภาระงานในโรงพยาบาล และให้เภสัชกรนอกโรงพยาบาลช่วยเหลือ ซึ่งก็เคยมีการเสนอไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ในเมื่อไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้มาก ทาง สธ. ก็น่าจะประสานงานเพื่อให้เกิดการจ่ายยานอกโรงพยาบาลได้ เพราะร้านยาก็มีเภสัชกรที่คอยในคำแนะนำ-ดูแลประชาชนได้

“ตอนนี้มีโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยหลักการคือเท่ากับเราเอาเภสัชร้านยาที่เป็นเอกชนมาช่วยในงานราชการได้ ความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนกำลังคนก็อาจจะบรรเทาได้บ้าง คือได้เภสัชร้านยามาช่วยทำงานเพิ่ม ถ้านโยบายพวกนี้เข็มแข็งก็จะทำให้ระบบน่าจะดีขึ้น ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% แต่ก็ประชาชนก็จะได้รับความสะดวกขึ้น ไม่ต้องรอนาน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เท่ากับว่าเภสัชกรต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งแม้เภสัชกรจะไม่ได้อยู่เป็นด่านหน้า แต่เภสัชกรเองก็ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 คู่ขนานร่วมกับบุคลากรอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การรับ การจัดสรร การเก็บรักษา การเตรียมวัคซีนให้พร้อมฉีด รวมไปถึงการเข้าไปอยู่ในหน่วยฉีดวัคซีนเพื่อประเมินปัญหาด้านยาก่อนฉีด และติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด เป็นต้น

เราก็ต้องทำงานคู่ขนานตลอด แล้วก็ต้องแยกคนจากงานเดิมมาทำงานนี้ ซึ่งก็ทำต่อเนื่องมาเป็นปี ต้องยอมรับว่างานหนักพอสมควร ทางกระทรวงก็พยายามที่จะให้สวัสดิการเพิ่มเติมอะไรต่างๆ มันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องกำลังคนก็จะเป็นประเด็นปัญหาอยู่พอสมควร อันนี้ก็เป็นสถานการณ์เบื้องต้นที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเภสัชกรกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ขาดอัตรากำลัง แต่ทว่าในระบบเภสัชกรใช้ทุน กลับสามารถรับได้เพียง 350 คนเท่านั้น ที่สำคัญคือที่ไม่ได้รับจากผู้ที่จบมาทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา มากไปกว่านั้นเภสัชกรใช้ทุน ก็ไม่ได้บรรจุในตำแหน่ง “ข้าราชการ” อีกด้วย

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ขยายความว่า การเติมจำนวนเภสัชกรเข้าระบบไม่ได้ตรงตามที่ต้องการเท่าที่ควร โดยที่ปัญหาใหญ่คือไม่ได้ตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งบรรจุได้เพียงพนักงานราชการ ในขณะที่แพทย์-ทันตแพทย์ สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ขณะที่มีสถานะใช้ทุนเหมือนกัน ตรงนี้เลยดูเหมือนเป็นความเหลื่อมล้ำ และก็ไม่ได้เป็นการเสริมเรื่องกำลังใจเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี สธ. เองก็พยายามที่จะหาตำแหน่งให้ แต่ก็เป็นตำแหน่งพนักงานราชการ ซึ่งปัญหาเรื่องการบรรจุของเภสัชกรใช้ทุนก็ได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว โดยที่ได้รับคำตอบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้บรรจุเป็นตำแหน่งอื่น นั่นก็คือพนักงานราชการ

เรียน 6 ปี เท่าแพทย์ ทำไมก้าวหน้าเท่ากันไม่ได้

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุอีกว่า เมื่อไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้มาก จึงต้องเน้นเรื่องความก้าวหน้าให้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนโควิด-19 ซึ่งเภสัชกรถูกพิจารณาอยู่ในกลุ่มอื่น เหมือนเป็นงานประกอบ แต่ถ้าให้เทียบงาน จริงๆ แล้วเภสัชกรทำงานตั้งแต่วัคซีนเข้าโรงพยาบาล จัดเก็บ-เตรียมตัว-ควบคุมอุณหภูมิ

“ในช่วงฉีดนั้น แม้หน่วยฉีดจะมีแพทย์-พยาบาล เภสัชกรก็ต้องคอยให้คำปรึกษาเรื่องอาการแพ้ หรือถามเรื่องประวัติการแพ้ยาก่อนฉีด หลังจากนั้นก็ต้องตามอาการไม่พึงประสงค์ เราทำงานอยู่ตลอด แต่เวลาพิจารณาค่าตอบแทนเภสัชก็อยู่ในกลุ่มหลังๆ หรือแม้แต่ช่วงวัคซีนก็จะให้บุคลากรด่านหน้าก่อน เภสัชกรอยู่ด่านที่ 2

“จริงๆ เภสัชก็ทำควบคู่ตลอด หรือแม้แต่ที่อยู่ในร้านยาก็ต้องเจอผู้ป่วยตลอด โดยที่ไม่รู้ตัว ป้องกันตัวไม่ได้ แต่ก็ถูกจัดว่าไม่ได้อยู่ด่านหน้า แต่พวกนี้เราก็เสนอให้กระทรวงพิจารณาว่าจริงๆ บทบาทเภสัชอยู่ทุกขึ้นตอน ดูไม่รอบด้านและไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ เล่าต่อไปว่า เมื่อดูข้อมูลการศึกษากำลังคน หลายการวิจัยของสถาบันพัฒนากำลังคนระบุว่า เภสัชกรจะเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนในวันข้างหน้า เพราะทุกวันนี้มักถูกมองาเป็นวิชาชีพไม่ได้ขาดแคลนจึงถูกลดจำนวนคนลง ขณะที่แพทย์-ทันตแพทย์จะไม่ขาดแคลน เพราะแพทย์-ทันตแพทย์มักจะถูกมองว่าขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเหนื่อยล้ามาก ข้อจำกัดของราชการไม่สามารถปรับได้ตามที่ต้องการ เราก็พยายามหาทางออกเพิ่มเติม แต่ถ้ายอมรับว่างานมาก เหนื่อยมาก เราเสริมเรื่องความก้าวหน้า และกำลังใจก็พอจะบรรเทาปัญหา ก็อาจจะทำให้บางคนมีกำลังใจที่จะทำงาน ไม่งั้นก็เหนื่อย ทำงานหนัก ไม่ก้าวหน้าเหมือนคนอื่น

“เราขอแบบเป็นเหตุเป็นผล เพราะว่าตัวหลักสูตรเราก็เทียบเท่ากัน แต่ตอนนี้ถ้าให้มาเทียบกับความก้าวหน้าปริญญาตรี 4 ปี ทั้งที่หลักสูตรเราเป็น 6 ปี แพทย์ก็ 6 ปี แต่แพทย์ก้าวหน้า ซี 8 ทุกคน ซี 9 ได้ทุกตำแหน่ง แต่เภสัชกร ซี 8 ทุกคนยังไม่ได้ เราขอให้เกิดความเป็นธรรมตามที่ควรจะเป็นเท่านั้น เราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องได้เปรียบใคร

ถ้าไม่ได้กำลังคน ก็ขอความก้าวหน้าแทน

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ เล่าว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน สธ. นอกจากนี้ก็พยายามที่จะผลักดันเรื่องความก้าวหน้าของเภสัชกร แม้ว่าจะไม่ได้คน แต่ก็ขอให้มีความก้าวหน้า ซึ่งก็ได้มีการประเมินค่างาน ทำรายละเอียด วิเคราะห์ ส่งให้ สธ. และ ก.พ. พิจารณาเบื้องต้นแล้ว

“ตอนนี้หลักสูตรเรียน 6 ปี เท่ากับแพทย์แล้ว ฉะนั้นเราน่าจะก้าวหน้าเบื้องต้นไปถึงระดับชำนาญการพิเศษ ซี 8 เหมือนแพทย์ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ ก็พยายามเรียกร้องตรงนี้ให้กับเภสัชกรที่อยู่ใน สธ. อย่างน้อยก็ให้เขามีกำลังใจว่าทำงานหนักแต่อย่างน้อยก็ก้าวหน้าได้ ก็กำลังดำเนินการกันอยู่ 

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ อธิบายต่อไปว่า การให้ความก้าวหน้าในวิชาชีพ สามารถคลาย pain point ได้เล็กน้อยในเรื่องของกำลังใจ แต่ในเรื่องของกำลังคนก็ไม่ได้เพิ่มตามที่ต้องการ ถึงแม้ว่าจะคำนวณออกมาแล้วว่าต้อการกำลังคนเท่านี้ แต่ก็จะมีข้อจำกัดในนโยบายรัฐ ฉะนั้นในการทำแผนอัตรากำลังก็จะถูกต่อให้ลดลง

“ตอนที่ผมอยู่กระทรวงสาธารณสุข ตอนยังไม่เกษียณเราก็คำนวนอัตรากำลังได้ที่ควรจะมีได้ประมาณ 10,000 คน แต่สุดท้ายก็ถูกต่อรองให้เหลือ 6,000-7,000 คน เป็นการต่อรองลงมาเลย ทั้งๆ ที่เราศึกษาตามภาระงานย้อนหลังไม่ใช่แค่ข้างหน้า แต่ก็เข้าใจว่าระบบราชการก็เพิ่มไม่ได้เท่าที่เราอยากได้ แต่อย่างน้อยเรื่องความก้าวหน้าก็น่าจะต้องพิจารณาให้

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุอีกว่า เรื่องความก้าวหน้านับว่าเป็นเป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำ ไม่เช่นนั้นทุกคนอาจจะหมดกำลังใจ เพราะสมมติว่าเภสัชกรลาออกจาก สธ. ก็จะส่งผลทำให้งานติดขัด-ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งข้อมูล เพราะไม่มีเภสัชกรพอที่จะเร่งตรวจสอบให้ถูกต้อง

ระยะสั้นเน้นสื่อสาร ระยะยาวพัฒนาศักยภาพ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ บอกว่า การประชาสัมพันธ์ และสื่อสารสังคม และสมาชิกในวิชาชีพให้เข้าใจ คือเป้าหมายแรกๆ ที่จะทำ เนื่องจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลเรื่องโรค-ยา ออกมามาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนใจบางครั้ง ด้านสมาชิกวิชาชีพก็บอกว่าสภาฯ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ให้สังคมได้รับรู้ ทั้งที่ก็มีความรู้เรื่องยา

ฉะนั้นในวาระนี้ก็จะเน้นให้มีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องทางด้านยา หรือด้านที่เกี่ยวข้องสู่สังคมได้มากขึ้น และให้ประชาชนมีช่องทางรับข่าวสารที่ถูกต้องได้มากกว่าเดิม ให้ทันสถานการณ์อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ

“นอกจากนี้จะเน้นในกระบวนการที่จะให้ความรู้แก่สังคมต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องยา เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมในประเทศไทยให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องทำ เหมือนการฉีดวัคซีนโควิดช่วงแรก กังวลว่าดีหรือไม่ดี ทำให้สังคมไม่ได้ไปตามทิศทางที่น่าจะเป็น ฉะนั้นถ้ามีข้อมูลที่ชัดเจนให้ก็น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ

เมื่อถามถึงเป้าหมายที่จะทำในระยะยาว รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุว่า ความจริงแล้วก็มีหลายเรื่อง เพราะเภสัชกรเองก็มีบทบาทหลายด้านมากขึ้น เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา เภสัชกรอุสาหกรรม เป็นต้น

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ อธิบายว่า เภสัชกรมีครอบคลุมเกือบทุกขั้นตอนในระบบยา ฉะนั้นการพัฒนาเกี่ยวกับยาเป็นสิ่งใหม่ที่จะต้องเน้น ซึ่งก็มีทิศทาง เช่น เรื่องสมุนไพร ก็น่าจะมีโอกาสพึ่งพาตัวเองได้ เพราะประเทศไทยมีสมุนไพรค่อนข้างมาก ฉะนั้นเภสัชกรก็คงจะต้องพยายามพัฒนาสมุนไพรให้เกิดเป็นยา เพื่อที่ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้

“แต่ว่าก็เน้นพัฒนาทิศทางใหม่ๆ ที่จะทำ เภสัชกรในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะช่วยในการผลักดันให้เกิดการผลิตวัคซีน เพราะอนาคตวัคซีนจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในอนาคตโรคใหม่ๆ มาอีกเยอะ จริงๆ เภสัชกรหลายที่ เราจะเห็นว่าวัคซีนใบยาก็เภสัชฯ จุฬา มันมีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้เน้นมาก ตอนนี้เราคงต้องเน้นที่จะสร้างบุคลากรเพื่อทำด้านนี้ให้มากขึ้น

“Start-up ก็คงจะเป็นทิศทางต่อไป เพราะมีส่วนที่จะต่อยอดจากความเป็นเภสัชเป็นธุรกิจได้ ก็พยายามที่จะเน้นให้เภสัชเป็นผู้ประกอบการ หรือทำเป็น start-up ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องยาหรือสุขภาพ ถ้าเป็นทิศทางในอนาคตที่เราอยากจะดำเนินการให้ชัดเจน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ