ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยที่สำคัญคือ “โรคเบาหวาน” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดให้อีกหลายโรคตามมา

สถิติในปี 2560 พบว่า ประชากรไทยกว่า 4.4 ล้านคน หรือ 8.9% ของประชากรทั้งหมด กำลังป่วยเป็นโรคเบาหวาน

ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น ประชากรกลุ่มที่มี “ภาวะก่อนเบาหวาน” ได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มที่มีโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5-10%

การดูแลผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานนั้นมีความสำคัญมาก การลดเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานด้วยการใช้ยาหรือปรับพฤติกรรมในการชีวิตประจำสามารถป้องกันและชะลอความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้เป็นอย่างมาก

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การใช้ยาจึงดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าบรรดา “ยาภายนอกข้อบ่งใช้” (off-label drug use) ถูกพบว่ามีประสิทธิผลในการลดลำดับน้ำตาลในเลือด ลดดัชนีมวลกาย หรือช่วยแก้ปัญหาลดอาการดื้อต่ออินซูลิน

จากงานวิจัยจำนวนมากได้พบว่าสมุนไพรไทยอย่าง “มะระขี้นก” หรือ “ยามะระขี้นก” ที่เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอันมีสรรพคุณแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ กลับถูกนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพนอกข้อบ่งใช้ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างได้ผลดี

นั่นจึงทำให้กลุ่มนักวิจัยจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ทำการเริ่มศึกษามะระขี้นกถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน รวมถึงศึกษาผลชะลอการเป็นเบาหวานเบื้องต้นที่ได้จากมะระขี้นก

จนในที่สุดก็สำเร็จกลายเป็นงานวิจัยที่มีชื่อว่า “ประสิทธิผลของแคปซูลมะระขี้นกต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครที่มีภาวะก่อนเบาหวาน” เผยแพร่ในวารสารเภสัชกรรมคลินิก ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2564

การทดลองครั้งนี้ ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดอกเตอร์ สุภาภรณ์ ปิติพร, อำนาจ รักษ์งาน, ณัฐดนัย มุสิกวงศ์, และ ดอกเตอร์ ผกากรอง ขวัญข้าว จากกลุ่มงานเภสัชกรรม และ กลุ่มงานด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ร่วมกันทำการทดลองในอาสาสมัครชายและหญิงที่ผ่านเกณฑ์มาทั้งหมด 185 คน โดยจะคอยติดตามดูผลที่ได้จากการรับยามะระขี้นกแบบแคปซูล นำมาเปรียบเทียบกับกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) ว่าต่างกันมากน้อยเพียงใด

กลุ่มตัวอย่าง 185 คน แบ่งเป็น 93 คน ที่จะได้รับยามะระขี้นกแคปซูล ส่วนอีก 92 คนที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยกรอบระยะเวลาในการทดลองศึกษาคือ 6 เดือน

ยามะระขี้นกแคปซูลที่นำมาใช้ทดลอง จะเป็นยาขนาด 150 กรัม โดยมีสาร “Charantin” ที่เป็นสารพฤกษเคมีในมะระขี้นกอันมีความสามารถในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ 0.04% โดยอาสาสมัครจะได้ยาเป็นจำนวน 140 แคปซูล เป็นระยะเวลา 6 เดือน แบ่งรับประทานครั้งละ 2 แคปซูล 2 ครั้ง ก่อนและหลังอาหารเช้า – เย็น

ส่วนกลุ่มที่เป็นยาหลอก ก็จะได้ปริมาณยาหลอกและข้อกำกับการใช้งานเช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับยามะระขี้นกแคปซูล

เมื่อเวลาผ่านไปครบ 6 เดือน ทีมนักวิจัยได้ทำการนำกลุ่มอาสาสมัครมาตรวจค่าในร่างกายต่างๆ และก็ได้พบว่า ที่เดือน 6 กลุ่มที่ได้รับยามะระขี้นกแคปซูลนั้นพบ “ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลที่วัดจากพลาสมา” (Fasting plasma glucose - FPG) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากค่า FPG พื้นฐานของกลุ่มที่ได้รับยามะระขี้นกแคปซูลอยู่ที่ 98.38 mg/dl (มากกว่าหรือน้อยกว่าฐานไม่เกิน 13.51) พอเข้าเดือนที่ 6 ได้ลดลงเหลือ 94.30 mg/dl (มากกว่าหรือน้อยกว่าฐานไม่เกิน 11.66)

ในส่วนของกลุ่มยาหลอก ค่าพื้นฐานของ FPG อยู่ที่ 97.24 mg/dl (มากกว่าหรือน้อยกว่าฐานไม่เกิน 13.82) พอครบ 6 เดือน ค่า FPG พบว่าอยู่ที่ 94.68 mg/dl (มากกว่าหรือน้อยกว่าฐานไม่เกิน 20.40)

ด้านผลการวิเคราะห์ผลจากตัวแปรตามหลัง (Post Hoc analysis) ระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มที่ได้รับยามะระขี้นกแคปซูลมีค่าลดลง 0.67 mg/dl เทียบกับกลุ่มรับยาหลอกที่ลดลง 0.25 mg/dl

ค่าฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (HbA1C) ซึ่งจะเป็นค่าที่ระบุว่าปริมาณน้ำตาลส่วนเกินของร่างกายที่ไปจับตัวอยู่กับเม็ดเลือดแดง จากผลการตรวจระหว่างสองกลุ่ม พบว่าจากค่าเริ่มต้นของกลุ่มยาหลอกที่ 6.06 เมื่อถึงเดือนที่ 6 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.22 ในขณะที่กลุ่มที่ได้ยามะระขี้นกแคปซูล เมื่อเริ่มต้นมีค่า HbA1C อยู่ที่ 5.97 เมื่อครบหกเดือน ค่าที่พบเพิ่มขึ้นไปถึงเพียงแค่ 6.07 เท่านั้น

จากผลการทดลองที่ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สรุปออกมา จะเห็นได้ว่า มะระขี้นกแคปซูลนั้นมีแนวโน้มที่น่าสนใจในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แม้ว่าจากสถิติที่ได้มาจะเห็นถึงความต่างของค่าตัวเลขไม่ได้มากมายเท่าใดนัก แต่ก็เห็นได้ถึงศักยภาพที่มะระขี้นกมี

รวมถึงในช่วงเวลาที่ทำการทดลอง ตลอด 6 เดือน มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามะระขี้นกแคปซูลเพียงแค่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในอาสาสมัคร 1 ราย เท่านั้น นั้นแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในการใช้ยาสมุนไพรตัวนี้

ทีมนักวิจัยยังได้นำผลการทดลองครั้งนี้ไปทำการเปรียบเทียบกับงานศึกษาอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย เช่นงานศึกษาจากประเทศแทนซาเนียก็พบว่า การรับผงมะระขี้นก 2.5 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ของผู้มีภาวะก่อนเบาหวานส่งผลต่อการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเห็นได้ชัด

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ทางนักวิจัยจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ค้นพบ

นี่จึงยิ่งตอกย้ำถึงความสามารถและสรรพคุณของมะระขี้นกที่ส่งผลดีต่อการดูแลอาการภาวะก่อนเบาหวาน รวมถึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานเช่นเดียวกัน

ทีมวิจัย ระบุว่า การศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า การใช้มะระขี้นกแคปซูลขนาด 2 กรัม/วัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีแนวโน้มควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

อ้างอิง
https://thaidj.org/index.php/TJCP/article/view/11359/9864