ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นอกจากโควิด-19 แล้ว ในแวดวงสาธารณสุขไทยในเวลานี้ คงจะไม่มีเรื่องใดที่จะร้อนแรงเกินไปกว่าประเด็น “การถ่ายโอนภารกิจ” สถานีอนามัย-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

นับตั้งแต่มีประกาศฉบับนี้ออกมา ก็เกิดการตื่นตัวในชุมชนสาธารณสุขไทยทั่วทั้งประเทศ ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงหลายแห่งก็เริ่มเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนครั้งนี้แล้ว

กระทั่ง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาศึกษาเรื่อง “การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น โดย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าควรจะให้มีการ ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก่อนจะเริ่มดำเนินการ

จากประเด็นนี้ The Coverage ได้รับเกียรติในการพูดคุยกับ “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอความเห็นว่า การถ่ายโอนครั้งนี้ “ต้องทบทวนให้ดี”

กังวล ระบบส่งต่อ จะมีรอยต่อ

นพ.เจตน์ กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ไปให้กับ อบจ. ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น พ.ศ. 2542 และเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีการถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว 84 แห่ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การถ่ายโอนก็มีความสำเร็จอยู่บ้าง เช่น รพ.สต.ในพื้นที่ปทุมธานี แต่ก็มีหลายพื้นที่เช่นเดียวกันที่เมื่อเกิดการถ่ายโอนแล้วก็ประสบกับความล้มเหลว

เพราะถ้าเกิดการถ่ายโอนแล้ว ท้องถิ่นได้รับงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสม รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง อบจ. มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ รพ.สต.ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากงบประมาณที่เคยได้รับจากส่วนกลางแล้ว รพ.สต.ก็จะได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากส่วนท้องถิ่นที่ทำให้สามารถนำไปบริหารจัดการเพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นข้อดีที่สำคัญของการถ่ายโอน

แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเสียที่น่ากังวลที่สุดคือการจัดสรรส่วนอำนาจหน้าที่ของงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบส่งต่อ” เพราะสุดท้ายแล้ว รพ.สต.ที่จะสังกัดอยู่กับท้องถิ่นก็จะยังคงต้องพึ่งพาฝากคนไข้ไว้กับระบบสาธารณสุขเดิมที่แยกตัวออกมา เพราะตัว รพ.สต. ที่ไปขึ้นกับท้องถิ่นเองนั้นไม่มีระบบส่งต่อที่นำไปสู่สถานพยาบาลในระดับที่สูงขึ้นไปภายใต้โครงสร้างเดียวกัน

แต่เดิม ลำดับของการส่งต่อคนไข้ก็คือ จาก รพ.สต. ก็ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จากนั้นก็เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ตามมาด้วย โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสุดท้ายในระบบส่งต่อก็คือโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์หรือไม่ก็เป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

นพ.เจตน์ กล่าวว่า เนื่องด้วยเหตุนี้ กระทั่งโรงพยาบาลตามระบบสาธารณสุขเดิมยังพบเจอกับปัญหาเรื่องของการส่งต่อหลายประการ ถ้าเกิดว่ามี รพ.สต. ที่แยกตัวออกไปอยู่ภายใต้กำกับของโครงสร้าง อบจ. แล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดความซับซ้อนและปัญหาในด้านนี้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในแง่ของการบริหารจัดการ

ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของการดูแลบริหารจัดการทั่วไป โดยธรรมชาติของ อบจ. แล้วเป็นหน่วยงานที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องทางการเมือง ผู้บริหารของ อบจ. เองเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านตามวาระ ดังนั้นมันจึงมีความเป็นไปได้ทั้งในเรื่องที่ว่า อาจจะมี อบจ.ที่มีหรือไม่มีประสิทธิภาพเข้ามาบริหารก็ได้ รวมทั้งความต่อเนื่องทางด้านนโยบายก็เป็นสิ่งที่ต้องกังวล เพราะ อบจ. เปลี่ยน นโยบายก็อาจจะเปลี่ยน

“ถ้าท้องถิ่นดี มีเงิน ผู้บริหารให้ความสนใจ การถ่ายโอนก็คงจะทำได้ แต่ถ้าขาดแคลนงบ ผู้บริหารไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ การโอนย้ายก็สามารถเกิดปัญหาขึ้นได้

ถามความต้องการ ปชช. ดีที่สุด

นพ.เจตน์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นไปในทิศทางที่ว่าควรมีการประเมินการถ่ายโอนครั้งนี้ โดยเฉพาะให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ดำเนินการประเมินอย่างรอบด้าน และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้มีความจำเป็นในแง่การดูแลและบริหารกิจการหลังจากนี้

ด้วยเรื่องนี้ เป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ ดังนั้นแล้วความพร้อมควรจะมีมากกว่านี้ ควรจะประเมินและมีข้อมูลในทุกๆ ด้าน แน่นอนว่าในทางการเมือง อบจ.เองก็อยากดำเนินการให้เรียบร้อย เพราะมีความสำคัญต่อฐานเสียงในทางการเมือง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องถามความเห็นของประชาชน ว่าสุดท้ายประชาชนต้องการสิ่งนี้หรือไม่

“จะคุยกันเองระหว่างหน่วยงานมากน้อยเพียงใดก็ไม่สำคัญเท่ากับถามประชาชน ให้เขาเลือกเอง จะมีประชามติหรืออย่างไรในแต่ละท้องที่ก็ได้ การที่จะอ้างว่า แนวทางนี้มาจากนักการเมืองท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกมาแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะอ้างได้เต็มปาก”

นพ.เจตน์ ย้ำว่า ต้องมีการประเมินผลดี ผลเสีย ผลกระทบ ของแต่ละพื้นที่ให้รอบด้าน ตั้งแต่ก่อนถ่ายโอนไปจนถึงหลังการถ่ายโอน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายโอนครั้งนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร

กระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่การถ่ายโอน

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า แม้ว่านี่จะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจนั้นไม่ควรที่จะพุ่งเป้าไปที่เพียงแค่การถ่ายโอนหน่วยงานต่างๆ ไปให้ท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว มันต้องมีการกระจายอำนาจในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเสนอที่ให้มีคณะกรรมการประจำท้องถิ่น ซึ่งรวมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารท้องถิ่น หรือตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีความหลากหลาย และนำมาช่วยกำกับดูแล แนะนำแนวทางให้กับกิจการของ รพ.สต.

หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อันมี ปลัดอำเภอเป็นประธาน และมีหน่วยงานอย่าง โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รพ.สต. ผู้แทนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เข้ามาร่วมสร้างการมีส่วนร่วมให้กับทุกภาคส่วน ทำให้ทุกคนได้ร่วมตัดสินใจกับเรื่องที่มีผลต่อตนเอง

“ดังนั้น มันจึงไม่ควรเน้นเรื่องการถ่ายโอนเพียงอย่างเดียว และบางครั้ง การถ่ายโอนก็ไม่ใช่คำตอบของการกระจายอำนาจ”

อย่างไรก็ตาม ก็เข้าใจความต้องการของบุคลากรใน รพ.สต. เพราะบางครั้งงบประมาณที่ได้แต่เดิมมันก็ไม่ได้ไปถึงในทุกจุดที่มีความต้องการ มันยังเกิดความขาดแคลนอยู่

แต่เรื่องที่ต้องกังวลก็คือ ถ้ามีการถ่ายโอนทั้งหมด มันก็อาจจะเกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณที่มากเกินความจำเป็น เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มเกิดการถ่ายโอน งบประมาณถูกใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 726 ล้านบาท และถ้าการถ่ายโอนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ งบประมาณที่จะใช้ก็มีแนวโน้มจะสูงยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่างบประมาณที่สูงขึ้น อาจจะหมายถึงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น แต่ความเป็นไปได้ที่เงินเหล่านั้นจะมีการบริหารจัดการที่ล้มเหลวก็มี ถ้าไม่ระวังในการบริหารจัดการให้ดี และทั้งหมดก็อาจจะหมายถึงภาระในระบสาธารณสุขที่มากขึ้นกว่าเดิม

“ข้อเสนอในตอนนี้คือ ถ้าจะถ่ายโอน ก็ขอให้ทดลองถ่ายโอนในบางแห่งเท่านั้น เพราะถ้าถ่ายโอนทั้งหมดโดยไม่รอบคอบเพียงพอ ปัญหาทั้งหมดจะไปเกิดขึ้นที่ประชาชน” นพ.เจตน์กล่าวทิ้งท้าย