ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กก.การแพทย์ฉุกเฉิน กำหนดรายละเอียด สเปก-การติดตั้ง เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ นอกสถานพยาบาล-ตึกสูง


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ได้เผยแพร่ “ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน” เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564 ซึ่งมี เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นผู้ลงนาม

สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียด การติดตั้งเครื่องฟื้นคืนหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ในอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ

ตอนหนึ่งของประกาศฯ ระบุว่า เครื่อง AED จะต้องมีอย่างน้อย 1. ตัวเครื่องมีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ และมีปุ่มสำหรับปล่อยพลังงานไฟฟ้า 2. ตัวเครื่องสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้เองโดยอัตโนมัติ โดยมีพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 50 จูล และสำหรับผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า 120 จูล

3. ตัวเครื่องพร้อมทำการปล่อยพลังงานไฟฟ้า ภายหลังการเริ่มวิเคราะห์คลื่นหัวใจไฟฟ้าในระยะเวลาไม่เกิน 10 วินาที 4. ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 6. ตัวเครื่องมีมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์

สำหรับตำแหน่งและจำนวนการติดตั้งเครื่อง AED นั้น ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นได้ภายในระยะเวลา 4 นาที นับตั้งแต่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น และต้องติดตั้งในจุดที่สังเกตง่าย มองเห็นได้ในที่มืด อยู่ในจุดที่ปลอดภัย สูงจากพื้นไม่เกิน 1.5 เมตร มีการกำหนดสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายสากลในจุดที่ติดตั้ง และขั้นตอน วิธีการช่วยเหลือฉุกเฉิน

ทั้งนี้ สามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF