ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมรณรงค์วันเอดส์โลก “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” เผย กองทุนบัตรทอง ปี 2564 ดูแลผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสกว่า 2.89 แสนคน พบแนวโน้มดี ร้อยละ 81 ของผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสลดลง ในจำนวนนี้ร้อยละ 77 ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด พร้อมเปิดสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ตลอดระยะ 17 ปี พัฒนาอย่างต่อเนื่อง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) โดยปี 2564 นี้ UNAIDS ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” (End inequalities. End AIDS. End pandemics.) เพื่อมุ่งส่งเสริมให้คนในสังคมลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ติดเชื้อ

ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง”ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเอดส์ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573” โดยในปี 2548 ได้บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พร้อมจัดสรรงบประมาณรองรับ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ที่นำไปสู่การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงได้

สำหรับงบประมาณในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,676.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 332 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับจำนวน 3,343.53 ล้านบาท จากข้อมูลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี และลงทะเบียนในระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (NAP) จำนวน 305,493 คน ในจำนวนนี้ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน 289,116 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63 

“อย่างไรก็ดีจากรายงานมีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าในผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 204,504 คน หรือร้อยละ 81 และในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด 194,611 คน หรือร้อยละ 77 ถือเป็นแนวโน้มที่ดีนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการดูแลผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทองได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมและเข้าถึงบริการที่จำเป็น ล่าสุดในปี 2564 ได้เพิ่มบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักแสบซีในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ได้รับการรักษาด้วยยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ลดภาวะเสี่ยงสู่มะเร็งตับ และเพิ่มค่าบริการเพื่อส่งเสริมหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้บริการฟอกไตกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ช่วยอุดช่องว่างกรณีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเพิ่มค่าบริการจนเป็นอุปสรรคเข้าถึงการรักษา 

ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ที่ได้รับการบรรจุและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 17 ปีมานั้น ได้แก่ บริการเชิงรุกเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ,บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (Voluntary counseling and testing: VCT) ,บริการยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อการรักษา และเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทั้งในกรณีก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ (Pre - Post Exposure Prophylaxis : PrEP,PEP) กรณีการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก (ส่งผลให้ปี 2559 ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ) ,บริการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อการติดตามการรักษา เช่น การตรวจ CD4 ,Viral load ,Drug resistance รวมทั้งการสนับสนุนถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันและลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์