ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.รับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยมีด้วยกัน แผนงานสำคัญ


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สำหรับผลงานเด่นปี 2563 ของ สวรส. ที่ ครม.รับทราบนั้น แบ่งออกเป็น 9 แผนงาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี
    1. การวิจัยสังเคราะห์และทบทวนเพื่อพัฒนามาตรการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ โดย สวรส. ได้ศึกษาสถานการณ์อุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้กัญชาเพื่อนำไปพัฒนามาตรการและระบบการควบคุม ผลิต และจัดบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนป้องกันและลดผลกระทบทางลบ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากกัญชาและสารสกัดในทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสมได้มากขึ้น
    2. การประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา1เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ พบว่าร้านยามีศักยภาพและมีส่วนสำคัญในการดูแลประชาชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ส่งผลให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563) มีมติให้เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในและนอกหน่วยบริการพร้อมทั้งให้โรงพยาบาลเพิ่มเติมระบบจัดสำรองยาและระบบเติมยาของผู้ป่วยที่ร้านยา
    3. การพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลเพื่อบ่งชี้การตอบสนองต่อการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชาวไทย2 (ปีที่ 3) การศึกษานี้ได้สิทธิบัตรของการพัฒนาชุดไพรเมอร์การตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุล เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่จะได้รับยารักษาแบบมุ่งเป้าชนิดต่าง ๆ โดยจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า การตรวจด้วยชุดไพรเมอร์สามารถทำงานได้ง่ายและช่วยลดงบประมาณการสั่งชุดตรวจสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และมีแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงพยาบาลที่สนใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจให้การรักษาแบบมุ่งเป้าแบบต่างๆ ได้
  2. แผนงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เช่น
    1. การใช้แบบจำลองพลวัตระบบในการวางแผนบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า: โครงการนำร่องเขตสุขภาพที่ 2 งานวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบรายสาขาโรค จำนวน 5 แบบจำลอง ได้แก่ สาขาบริการจักษุวิทยา โรคไต ศัลยกรรมทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคมะเร็ง พบว่าการเพิ่มศักยภาพด้วยการเพิ่มเวลาทำงานของเครื่องมือหรือห้องผ่าตัดโดยลดเวลาที่สูญเสียการใช้ทรัพยากรร่วมกันแบบ pool resource การอบรมพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเป็นการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น
  3. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ เช่น 
    1. การทบทวนระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งของศูนย์รังสีรักษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลราชบุรีร่วมกับคณะแพทย์ศาสตรศิริราชพยาบาล ทำให้ได้รูปแบบการรักษาและขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ลดระยะเวลาการตรวจที่ซ้ำซ้อน และสามารถนำไปพัฒนาระบบการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษาโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัล
  4. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เช่น
    1. โครงการผลของการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า กิจกรรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนสามารถทำได้จริง และมีประสิทธิภาพสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ และมีผลการตรวจทางชีวเคมีในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรับกลยุทธ์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการทำกิจกรรมและงบประมาณ
  5. แผนงานวิจัยและพัฒนาการเงินการคลังสุขภาพ เช่น
    1. การประเมินความคุ้มค่าการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมีผลต่อการเข้าถึงการรักษาโรคดังกล่าว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนการประมาณการผลกระทบด้านภาระงบประมาณสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีที่ 1 เท่ากับ 35 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 71.7 ล้านบาท 100.6 ล้านบาท และ 147 ล้านบาทในปีที่ 5  ในปีที่ 10 และปีที่ 20 ตามลำดับ
  6. แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพ
    1. การออกแบบระบบและกลไกในการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่ พบว่า ควรมีการออกแบบมาตรการเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานของเขตสุขภาพให้เกิดความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเขตสุขภาพและสำนักงานเขตสุขภาพ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 3) การมอบอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตสุขภาพ และ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขและสร้างความยั่งยืนทางการเงินการคลังของหน่วยบริการ
  7. แผนงานวิจัยและพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
    1. การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัยเพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า ได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางการออกแบบอาคารที่พักอาศัย ทั้งโรงพยาบาลและบ้านพักอาศัยแบบเดี่ยว เพื่อช่วยฟื้นฟูอาการสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากการพัฒนาสภาพแวดล้อม พบว่าผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อมลดลงและมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
  8. แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย
    1. การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการสนับสนุนบริการการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของอาสาสมัครไทย จำนวน 50,000 ราย
    2. การพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมและค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกันสุขภาพ/การเกิดโรค โดยมุ่งเป้าใน 5 โรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
  9. แผนงานวิจัยเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
    1. การพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนกระบวนการการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมทั้งนำมาใช้ในการวางแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว
    2. โครงการการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและชุมชนในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และนำมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันชื่อ “EpiScanCovid19” ซึ่งผลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการตอบสนองการจัดการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น