ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฉีดวัคซีนถือเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันทั้งการติดโรคโควิด–19 และยังสามารถการลดความรุนแรงเมื่อติดโรคแล้ว ทำให้ความสูญเสียทั้งทางค่ารักษาพยาบาล ความสูญเสียของครอบครัวลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไปด้วย

จากรายงาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 64 พบว่ามีการฉีด "วัคซีนโควิด-19" สะสมของประชาชนไทยมากว่า 90 ล้านโดส แบ่งเป็น

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 47.3 ล้านราย คิดเป็นเกินกว่าร้อยละ 71.5 ของประชากรไทย 

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 40.2 ล้านราย คิดเป็นเกินกว่าร้อยละ 60.7 ของประชากรไทย 

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 3.2 ล้านราย คิดเป็นประมาณร้อยละ 4.8 ของประชากรไทย 

นอกจากนี้ถ้าแยกอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 แยกตามกลุ่มเป้าหมาย จะพบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้วคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีอัตราฉีดวัคซีน 2 เข็มมากกว่าร้อยละ 100 และในขณะกลุ่มที่ได้รับวัคซีนรองลงมาคือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมากกว่าร้อยละ 73.4

ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มป่วยโรคเรื้อรังมีอัตราการฉีดครบ 2 ร้อยละ 65.8 กลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีมีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2เข็ม ที่ร้อยละ 61 ตามมาด้วยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มถึงร้อยละ 57.7 ในขณะที่ประชาชนทั่วไปได้รบวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วถึงร้อยละ 51.9

ถ้าแยกดูอัตราการฉีดในระดับจังหวัด มีข้อตั้งสังเกตที่ว่ามีกลุ่มจังหวัดจำนวนหนึ่งที่ประชากรกลุ่มเสี่ยง 608 คือกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มสตรีมีครรภ์ มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มครบ เข็มน้อยกว่าร้อยละ 50 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนการได้รับวัคซีนได้ยากยิ่งขึ้น

นำมาซึ่งความห่วงใยว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปิดประเทศ และเปิดสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะมีโอกาสติดเชื้อโควิด–19 มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ เข็มแล้ว และถ้ามีการติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะมีอาการรุนแรงจนอาจจะเสียชีวิตได้มากกว่าอีกด้วย

ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจได้พยายามทำการรณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ เป็นกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมารับวัคซีนโควิด-19 (ซึ่งระยะหลังก็ได้วัคซีนในฝัน หรือ ที่เรียกกันว่า วัคซีนเทพ มาฉีดให้ประชาชนแล้ว) โดยเฉพาะประชาขนกลุ่ม 608 ที่ควรที่จะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันตนเอง

โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์เริ่มระบาดในต่างประเทศ ฉีดวัคซีนยิ่งมากในกลุ่ม 608 ยิ่งน่าจะช่วยลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้

จากข้อมูลการศึกษาของหลายสถานพยาบาลในเขตภูมิภาคพบว่า มีภาพติดยึดกับข้อมูลข่าวสารถึงผลกระทบเชิงลบของวัคซีนชนิดต่างๆ มายาวนานหลายเดือน แม้ว่าผลกระทบต่างๆ จะเกิดเป็นส่วนน้อยมาก จากสถิติที่กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลมาโดยตลอด แต่การได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ ก็มีพลังทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าผลการะทบของการฉีดวัคซีนมีความชุกและความรุนแรงมากเกินความเป็นจริง

การจะต่อสู้เพื่อลบภาพพิมพ์ที่รุนแรงเกินจริงที่มีอยู่ในใจของประชาชน เพื่อสนับสนุนให้มารับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะผู้สูงวัยนั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ ในต่างประเทศมีการใช้แรงจูงใจทั้งเชิงบวก เช่น การได้รับแรงจูงใจของการเงินและสิทธิต่างๆ หรือ แรงจูงใจในเชิงลบ เข่น การห้ามเข้าร่วมใช้บริการหรือห้ามประกอบอาชีพ เป็นต้น 

ในประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอมาตรการสร้างแรงจูงใจรูปแบบต่างๆ ที่จะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 หลากหลายวิถี มีทั้งแรงจูงใจในเชิงบวก และเชิงลบ 

ซึ่งแรงจูงใจในเชิงลบน่าจะเป็นทางเลือกท้ายๆ ของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยในปัจจุบันเมื่อเห็นปรากฎการณ์ต่อต้านที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศโดยประเทศที่ยึดถือเสรีภาพเป็นหลักการใหญ่ เช่น ในประเทศแถยยุโรปที่ต่อต้านมาตรการการปิดเมืองรอบใหม่ เป็นต้น

แรงจูงใจเชิงบวก เช่น การให้รางวัลเมื่อเข้ามาฉีดวัคซีนน่าจะเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับประชาชนไทย คำถามก็คือท่ามกลางความภาพพิมพ์ในใจของประชาชนถึงผลกระทบเชิงลบของการฉีดวัคซีนโควิด-19 นี้ อะไรจะสามารถทำให้เขาปลดพันธนาการออกจากจิตใจนี้ได้ ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง 608 

จากการระดมสมองผู้ที่สนใจแก้ปัญหาการไม่ยอมรับวัคซีนหลายครั้ง มีทางเลือกที่เสนอมาดังนี้ 

1. สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้วนั้น การเพิ่มเติมค่าเบี้ยยังชีพให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอีก 500 บาทน่าจะเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับผู้สูงอายุที่หลายท่านได้ และงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาก็พบว่าการจ่ายเงิน 25 ดอลลาร์ สามารถเพิ่มการรับวัคซีนมารับวัคซีน 

อย่างไรก็ตาม พบว่าทางเลือกนี้รัฐบาลต้องเตรียมเงินไว้อีกประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือต้องใช้แรงจูงใจนี้ในกลุ่มประชากรเฉพาะเพื่อลดงบประมาณที่ต้องใช้ลง 

2. แจกลอตเตอรี่ให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มทุกคน ทางเลือกนี้แม้ไม่ต้องใช้เงินเพิ่มอะไร แค่พิมพ์ลอตเตอรี่เพิ่ม แต่เท่าทีรับฟังจากประชาชนทางเลือกนี้ไม่น่าจูงใจจะช่วยเพิ่มคนที่อยากมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เท่าไร

3. แจกลอตเตอรี่ล็อตพิเศษ ที่ให้สำหรับประชาชนทั่วไปหรือผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยมีการออกประมาณ 6 งวดตั้งงบประมาณไว้งวดละ 60 ล้าน ใช้งบทั้งหมดประมาณ 360 ล้านบาท แต่ละงวดจะมีรางวัลที่มีคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณ 1,660 คนต่องวด 

ซึ่งรายละเอียดให้เห็นเป็นต้นแบบได้ดังนี้ รางวัลที่ 1. ได้เงิน 2 ล้านบาท 5 คน รางวัลที่ 2. ได้เงิน 1 ล้านบาท 10 คน รางวัลที่ 3. ได้เงิน 2 แสนบาท 50 คน รางวัลที่ 4. ได้เงิน 1 แสนบาท 100 คน รางวัลที่ 5. ได้เงิน 2 หมื่นบาท 500 คน รางวัลที่ 6. ได้เงิน 1 หมื่นบาท 1,000 คน รวม 6 งวดจะมีคนได้รางวัลกว่า 9,960 คน ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ที่ดีน่าจะมีคนฉีดเพิ่มนับล้านคน

การแจกรางวัลโดยองค์กรต่างๆ มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ได้รับการประเมินผลของมาตรการแจกรางวัลอย่างเป็นระบบ ทำให้การเสนอให้ใช้แรงจูงใจเชิงบวกสำหรับวัคซีนโควิด-19 นี้อาจจะเป็นข้อเสนอที่ยึดจิตวิญญาณของผู้ประกอบการเป็นหลัก คือเป็นการคาดการณ์ถึงผลได้ที่จะสูงกว่าการลงทุนที่ทำอยู่ 

ดังนั้นจึงควรเลือกมาตรการที่มีความหวังว่าจะนำประชาชนที่มีภาพพิมพ์ของผลด้านลบของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มารับการฉีดวัคซีน ภายใต้บริบทความเชื่อ ความคาดหวังของคนไทย และภายใต้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไปนัก 

ข้อเสนอจึงมาตกที่ การแจกลอตเตอรี่ล็อตพิเศษ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางนโยบายสำคัญที่มุ่งที่จะแก้ปัญหาที่ยังไม่เคยมีทางแก้มาก่อน การติดตามประเมินประสิทธิผลของมาตรการว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนคนที่อยากเข้ารับวัคซีนได้ดีเพียงใดต้องมีการออกแบบการประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อตอบคำถามเรื่อง “ผลได้” รวมถึงความคุ้มค่าของมาตรการที่เสนอมาว่าช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในแง่ผลลัพธ์ทางการควบคุมป้องกันโรคและผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างไร