ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกจำกัดความว่าเป็นยาสูบทางเลือกที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกไม่เว้นแต่ในประเทศไทย ซึ่งถึงแม้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้นำเข้าและครอบครอง หากแต่ก็ยังสามารถพบเห็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ทั่วไป

จากผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2564 พบว่า คนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคนเป็นอย่างน้อย

สำหรับโทษภัยในประเด็นสุขภาพ มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาให้ความเห็นถึงอันตราย พร้อมทั้งแสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการ “แบน” บุหรี่ไฟฟ้า โดยท่าทีล่าสุดถูกส่งออกมาจาก องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ผ่านแถลงการณ์เตือนภัยและประกาศจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยต่อคนไทยโดยเฉพาะเยาวชน

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารและพัฒนา อ.บ.ท.ท. และประธานแผน 4 เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ เป็นหนึ่งในขับเคลื่อนต้านภัยของบุหรี่มานานเกือบ 2 ทศวรรษ และยังเป็นเจ้าของเพจรณรงค์ลดบุหรี่ “Nono” (https://www.facebook.com/nonogang) ด้วย จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการสนทนาถึงบุหรี่ไฟฟ้าในสถานการณ์ปัจจุบัน

บุหรี่ไฟฟ้า โลก และไทย

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ เล่าว่า ธุรกิจบุหรี่ในปัจจุบันถือว่าเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก มีอิทธิพลมากในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะในแวดวงธุรกิจเอง ไปจนถึงสังคม การเมือง แม้กระทั่งวงการบันเทิง เพราะมีขีดความสามารถตั้งแต่การออกแบบสินค้า การทำตลาด ไปจนถึงการแผ่อิทธิพลเข้าไปในระดับนโยบายด้านยาสูบของชาติต่าง ๆ

ลักษณะเฉพาะตัวของธุรกิจบุหรี่คือจะไม่ได้สนใจกับลูกค้าเดิมๆ หรือกลุ่มผู้ที่สูบอยู่ก่อนแล้ว แต่จะพุ่งเป้าไปที่การสร้างลูกค้าหน้าใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ยังไม่ได้เคยสูบบุหรี่มาก่อน แต่ด้วยปัจจุบัน ทั้งการรณรงค์หรือการศึกษาวิจัยถึงภัยของบุหรี่ทำให้จำนวนนักสูบทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ลดลงเป็นอย่างมาก ธุรกิจบุหรี่จึงต้องพยายามหาลู่ทางใหม่

“บุหรี่ไฟฟ้า” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนบุหรี่มวนแบบเดิม เพื่อเป็นการดึงดูผู้สูบหน้าใหม่ให้เข้ามาเป็นลูกค้า เน้นหนักในการบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือก มีอันตรายน้อยกว่า ปลอดภัยกว่า รวมถึงดูดีกว่าที่จะสูบบุหรี่มวนแบบเดิมต่อไป

นอกจากการปล่อยสินค้าใหม่เหล่านี้ออกมาแล้ว ธุรกิจบุหรี่ก็ใช้วิธีผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าผ่านหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ มากมายทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศไทยไทย โดยใช้รูปแบบของการรณรงค์เลิกบุหรี่ (แบบมวน) แต่แฝงไปด้วยนัยว่า “เลิกบุหรี่แบบมวนแล้วเปลี่ยนมาสูบแบบไฟฟ้าแทน” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วก็เป็นการสนับสนุนธุรกิจบุหรี่นั่นเอง

มันก็เริ่มเกิดการรับรู้ในสังคมขึ้นมาว่า บุหรี่ไฟฟ้านี่แหละปลอดภัย คนสุขภาพดีขึ้นจากการเปลี่ยนมาใช้ทดแทนบุหรี่มวน หรือคนสามารถเลิกบุหรี่ได้โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วย พอคิดกันแบบนี้ก็กลายเป็นมีความต้องการหรือมีความ “อยากลอง” บุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น

ผลก็คือ นี่กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของธุรกิจบุหรี่ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าต่างจากบุหรี่มวน มันมีสินค้าใช้ควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่องเอง อะไหล่ต่างๆ หรือพวกน้ำยา ที่สามารถขายซ้ำได้ในสัดส่วนที่มากกว่าบุหรี่ 1 ซอง

มากไปกว่านั้น บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่การบอกว่ามันเอามาทดแทนบุหรี่มวน แต่มันกลายเป็นแฟชั่น ผู้มีชื่อเสียง สื่อต่างๆ ผู้นำทางความคิดทาง Online Influencer ต่างสร้างอิทธิพลต่อผู้คนในเรื่องนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างในยุคสมัยปัจจุบัน

นี่เองก็เป็นสิ่งที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายไปทั่วโลก กลายเป็นธุรกิจใหม่ขนาดใหญ่ที่มูลค่ามหาศาล รัฐต้องมาให้ความสนใจ หลายประเทศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่โชคดีอย่างมากที่กฎหมายและนโยบายด้านยาสูบของไทยนั้นเข้มแข็ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวกันมานานหลายสิบปี การรณรงค์ลดบุหรี่ในไทยก็เป็นไปอย่างได้ผล จำนวนผู้สูบทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

หนำซ้าในทางกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยในขณะนี้ถือว่า “ปิดตาย” ไปแล้ว ประเทศไทยนั้นห้ามตั้งแต่การนำเข้า จำหน่าย หรือครอบครอง ทำให้ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าในไทย “ผิดกฎหมาย” ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามใน Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนด้วยการควบคุมยาสูบ และสาระสำคัญหนึ่งก็คือการที่ไม่ให้ธุรกิจบุหรี่ใดๆ ก็ตามมีอิทธิพลต่อนโยบายควบคุมยาสูบในประเทศ

แต่แน่นอน ธุรกิจบุหรี่ก็ยังมีความพยายามในการผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเช่นเดียวกับที่ต่างๆ ทั่วโลก มีสื่อ มี Online Influencer ที่พูดถึงความเป็นทางเลือกของมัน มีการรณรงค์ของกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ด้วยคำกล่าวอย่างที่รับรู้กัน เช่น มันปลอดภัย มันอันตรายน้อย มันเป็นมิตรต่อสุขภาพ

“ในหลายๆ ครั้ง เรื่องเหล่านี้ก็ถูกสนับสนุนโดยธุรกิจบุหรี่เองนั่นแหละ ในภาคการเมืองก็เช่นเดียวกัน มีการผลักดันในระดับนโยบายด้วย ซึ่งก็ไม่รู้จริงๆ ว่ามีเป้าประสงค์แฝงอย่างไร”

ที่สำคัญ ต่อให้กฎหมายเราปิดตายแค่ไหน ก็ยังมีการลักลอบค้าขายกันอยู่ และทำการอย่างสาธารณะ เข้าถึงง่าย รัฐเองก็จัดการอะไรไม่ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในแง่สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากำลังสูบสารอะไรอยู่

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวต่อไปถึงธรรมชาติของยาสูบว่า โดยปกติแล้ว บุหรี่หรือยาสูบทั้งหลายเป็นสิ่งที่ติดแล้วเลิกยาก ถ้าเริ่มต้นสูบแล้วก็จะสูบต่อไปเรื่อยๆ แต่ด้วยการรณรงค์ถึงภัยบุหรี่ รวมมั้งกฎหมายต่างๆ ทำให้ในปัจจุบัน การรับรู้ของผู้คนคือบุหรี่มวนที่จุดสูบกันอยู่ทุกวันนี้อันตราย แต่ในแง่อื่นนอกเหนือจากสุขภาพก็เป็นเรื่องของรสนิยมและความพึงพอใจ

บุหรี่ไฟฟ้าจึงเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เข้ามาทดแทนอันตรายที่บุหรี่แบบมวนมี ด้วยการบอกว่า มันไม่ได้มีพิษจากนิโคติน การเผาไหม้ และสารอื่นๆ ที่ปนเข้ามาในควัน มันเลือกได้ตามใจว่าอยากสูบสารอะไร ถ้าอยากได้แค่นิโคตินก็มีให้ ถ้าไม่อยากได้นิโคตินเลย-อยากได้แค่ควันก็มีให้ และยังสามารถลดการติดบุหรี่ได้อีกด้วย

แต่ถ้ามองลึกลงไปจริงๆ จะพบว่า บุหรี่แบบมวนดั้งเดิมนั้น เรายังรู้ว่ามันคืออะไร มีส่วนประกอบอย่างไรบ้าง เมื่อจุดแล้วจะเกิดสารอะไร มันมาจากพืช มันคือใบยาสูบที่มาอัดเป็นมวน แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าคือสารเคมี แล้วเราก็สูบสารเคมีนั้นเข้าไป

ดังนั้นการจะบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จึงไม่เป็นความจริง

สารเคมีที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย ในการผลิตเขาจะใส่สารอะไรลงไปบ้างก็ได้ เราไม่มีทางรู้ เราไม่รู้หรอกว่าเราสูบอะไรเข้าไป แล้วเราก็แค่เปลี่ยนพฤติกรรม จากการเสพติดนิโคตินเป็นการเสพติดสารเคมีที่เราไม่รู้จักแทน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกของการเลิกบุหรี่ เพราะมันถูกสร้างมาให้เสพติด เพราะถ้าสูบแล้วไม่ติด เขาก็จะขายต่อไม่ได้ แล้วเขาจะเอากำไรมาจากไหน

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ ย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายในแบบที่เราจินตนการไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะผสมอะไรลงไปบ้างให้เราสูบ

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนถึงส่วนประกอบ ผล โทษภัยของบุหรี่แบบมวน ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังสูบอะไรและจะเกิดอะไรต่อร่างกาย กลับกันทุกวันนี้เรารู้เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าน้อยมาก เราไม่รู้ว่าในระยะยาวมันจะเกิดอะไร

ยิ่งไปกว่านั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นแล้วที่ชี้ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่างหากที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปสูบอย่างอื่นต่อไป เมื่อคุณเสพติดการสูบแล้ว คุณก็จะต้องการอะไรที่แรงขึ้น และสุดท้ายคุณก็จะกลับไปติดบุหรี่มวน

ที่น่ากังวลใจหนักขึ้นไปอีกก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าที่ลักลอบขายลักลอบสูบกันอยู่ในไทยมีความอันตรายมาก เพราะมันไม่ได้รับการควบคุม ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพหรือส่วนประกอบอะไรเลย เราไม่รู้ว่าที่ใช้ๆ กันอยู่มันคืออะไรกันแน่

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ อธิบายต่อไปว่า ด้วยความเห็นในฐานะทันตแพทย์ แน่นอนบุหรี่มวนเป็นสิ่งที่อันตรายต่อช่องปากอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างคราบที่ตกค้าง กลิ่นปาก โรคเหงือกที่มีอันตรายต่อสุขภาพฟัน ไปจนถึงมะเร็งช่องปาก กล่องเสียง หรือคอ และแน่นอนว่าปัญหาสุขภาพมันก็มีมากยิ่งกว่าเรื่องของช่องปาก และมันส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของชีวิตในระยะยาวและถาวร

บุหรี่ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน ความร้อนที่ได้จากไอน้ำที่สูบเข้าไปก็ทำอันตรายต่อบริเวณที่มันเคลื่อนผ่าน สารเคมีทั้งหลายที่เป็นพิษ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากทั้งนั้น

“ผมกลัวบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่มวนด้วยซ้ำ ถ้าให้เทียบกัน”

ศัตรูของเราคือธุรกิจบุหรี่ที่กำลังหลอกคน

ผศ.ดร.ณัฐวุธ กล่าวต่อไปว่า ในระยะหลัง ด้วยความแพร่หลายและการเคลื่อนไหวต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ของ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องออกมาแสดงพลังเช่นเดียวกันในการไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า

และตอนนี้ มันไปไกลกว่าการรณรงค์ลด ละ เลิก แล้ว มันคือการต่อสู้กับตัวธุรกิจที่เขาก็ต้องสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองด้วยเช่นกัน

แต่ความโชคดีคือ นอกจากกฎหมายจะเข้มแข็งแล้ว ในเวลานี้นโยบายรัฐของเราก็เข้มแข็ง ทิศทางต่อบุหรี่ไฟฟ้าจากรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังคงเห็นตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัย และยังไม่ควรที่จะถูกกฎหมายในไทย

ดังนั้นเราต้องมีนโยบายและเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกๆ คน

“ศัตรูของเราไม่ใช่คนสูบบุหรี่ แต่ศัตรูของเราคือธุรกิจบุหรี่ที่กำลังหลอกคน เยาวชนที่เป็นลูกเป็นหลานเรา ตอนนี้เขาอยากลอง เราก็ห้ามเขาไม่ได้ และเมื่อเขาลองไปซักพักแล้วเขาอยากเลิก มันก็กลายเป็นเรื่องยาก แล้วทำไมเราไม่ป้องกันตั้งแต่แรก ไม่ให้เขามาอยู่ในวงจรอุบาทว์ ทำไมเราไม่ทำ”

ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ ทิ้งท้ายว่า จริงๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนมีทางเลือกที่ดีสำหรับชีวิตตัวเองเสมอ ทุกคนปรารถนาที่จะมีความมั่งคั่ง มีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนควรจะมี ดังนั้นเราทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างสิ่งที่มันเลวร้ายมาก (บุหรี่มวน) หรือเลวร้ายน้อย (บุหรี่ไฟฟ้า) เรามีสิทธิในร่างกายเราเหมือนกันที่จะเลือกสิ่งที่ดีเข้าร่างกายเรา

“ผมเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจแล้วเลือก และผมก็อยากสนับสนุนให้ทุกคนเลือกในสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง การที่เรามีสุขภาพที่ดีเราสามารถที่จะไปทำอะไรเพื่อคนอื่นและคนที่เรารักได้อีกมาก

“ถ้าใครคิดลังเลว่าจะตัดสินใจมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า ขอให้หยุดคิดตรึกตรองสักนิดว่า เราพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะรับเอาสารพิษต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย"