ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. เป็นทิศทางที่ดี และถูกต้องที่สุด


ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The coverage” ตอนหนึ่งว่า การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นทิศทางที่ดีและถูกต้องที่สุด เพราะการจัดการในระดับพื้นที่เป็นคำตอบในการรับมือกับความซับซ้อน-เปลี่ยนแปลงของปัญหาสุขภาพ และสนองตอบความต้องการใหม่ๆ ของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ดร.นพ.วิรุฬ กล่าวว่า หลังจากที่ รพ.สต. ถ่ายโอนภารกิจไปอยู่กับ อบจ. แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระบบสุขภาพของประเทศไทย เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายสนับสนุนเงินไปยัง อบจ. และอำนาจเงินก็ถือเป็นอำนาจหลัก

“รพ.สต. ก็จะฟัง อปท. ซึ่งเข้าใจบริบทพื้นที่ มากกว่าฟัง สธ. เนื่องจากอำนาจในการให้เงินจะถูกตัดสินที่ตรงนั้น ขณะที่ท้องถิ่นก็จะต้องรับฟังพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ แต่ยังไงแล้ว รพ.สต. ก็ต้องฟัง สธ. ที่มีหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการและถือเป็นพี่เลี้ยงด้วย” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว

ดร.นพ.วิรุฬ กล่าวว่า เมื่อท้องถิ่นมีทรัพยากรและอำนาจในการจัดการ ก็สามารถทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ปัญหาในชุมชนถูกยกขึ้นมาเป็นโจทย์ที่จะต้องจัดการ เพื่อสร้างระบบบริการมีความเหมาะสมกับชุมชน

“สธ.ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับ รพ.สต ที่ขอถ่ายโอนภารกิจไป เพราะตามกฎหมายแล้ว สธ.เป็นผู้มีความรับผิด-รับชอบต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ถ้า อปท. จัดการเรื่องการป้องกันไม่ดี เกิดโรคระบาดขึ้น สธ.ก็ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้หลังจากนี้ก็คือจะทำงานร่วมกันอย่างไร” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว

ดร.นพ.วิรุฬ กล่าวอีกว่า การที่กระจายอำนาจจะไปถึงเป้าหมายอาจต้องใช้เวลาหลายปี เพราะชุมชนจะต้องเรียนรู้กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะเข้ามามีบทบาทเรื่องสุขภาพให้เต็มที่มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในระดับพื้นที่ก็มีกลไกสนับสนุนค่อนข้างเยอะ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กลไกสภาผู้นำชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชน เป็นต้น จึงต้องมองว่า อปท. เป็นกลไกรัฐในระดับพื้นที่โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมล้อมอยู่ และจะนำสู่การทำงานร่วมกัน ตรงนี้จะเป็นทางออกที่คิดว่าเกิดพลังได้จริง