ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายคนอาจพอได้รับทราบกันไปบ้างแล้วถึงการถือกำเนิดขึ้นของ “วิชาชีพใหม่” ในวงการสาธารณสุขไทย ที่กำลังจะเข้ามาเติมเต็มระบบสุขภาพให้สมบูรณ์ไปอีกขั้น

ทว่าวิชาชีพนี้มิใช่สาขาการแพทย์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หรือเพิ่งเริ่มดำเนินการ หากแต่เป็นสาขาที่เราคุ้นชินเป็นอย่างดี นั่นคือ “สาขาการแพทย์ฉุกเฉิน” ที่มีบทบาทสำคัญกับความเป็นความตายของประชาชนเรื่อยมา

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ได้ประกาศรับรอง “นักฉุกเฉินการแพทย์” ให้เป็นประกอบโรคศิลปะในวิชาชีพใหม่ โดยให้มีผลภายหลัง 90 วันนับแต่ประกาศ

ในวันนี้ “พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2564” มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของฉากทัศน์ใหม่ในวงการ "กู้ชีพ-กู้ภัย"

The Coverage มีโอกาสพูดคุยกับ "ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ถึงเรื่องราวที่กำลังจะดำเนินไปภายหลังจากนี้

จากยุค 'ยก หิ้ว หาม' สู่มืออาชีพ

เลขาธิการ สพฉ. เล่าย้อนความถึงการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ โดยมีระยะแรกคือ "Volunteers Base" ซึ่งการแพทย์ฉุกเฉินเป็นงานของจิตอาสาที่ลุกขึ้นมา "ยก หิ้ว หาม" เมื่อประสบเหตุก็นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล หรือหากเสียชีวิตก็คือการเก็บศพ แต่การดำเนินงานในระยะนี้ยังขาดทั้งอุปกรณ์ และที่สำคัญคือขาด "มาตรฐาน" การปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาสู่ระยะที่สอง ก็เริ่มเป็นการดำเนินงานของ "Hospital Base" โดยในราวปี 2538 ได้มีการก่อตั้งศูนย์นเรนทร ของกรมการแพทย์ ขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี และในครั้งนี้ที่โรงพยาบาลได้เห็นสภาพของผู้ป่วยที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งควรมีการป้องกันแก้ไขในเบื้องต้นได้ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล อันจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น

ในช่วงระยะนี้จึงมีการขยายผล เกิดศูนย์รับแจ้งเหตุภายใต้เบอร์โทรศัพท์ 1669 ขึ้น และกระจายศูนย์ไปยังทั่วประเทศ มีหนึ่งแห่งในแต่ละจังหวัด โดยที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด เป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ออกไปรับผู้ป่วยยังจุดเกิดเหตุ ร่วมกับทีมอาสาสมัคร

ระยะนี้เองที่ได้มีการถือกำเนิดขึ้นของ "สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ" หรือ "สพฉ." ในปี 2551 เป็นองค์กรรับผิดชอบการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน

เรื่อยมาจนปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่ระยะที่สาม ซึ่งเพิ่งเริ่มขึ้นราวปี 2560 เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับอาสาสมัครและโรงพยาบาลในพื้นที่ ทำให้ระบบบริการสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้น โดยที่ สพฉ.เข้ามาเป็นแกนกลาง และเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมมาตรฐาน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุว่า เมื่อมาดูในส่วนของผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน จึงเห็นได้ว่าเราจะมีกลุ่ม "จิตอาสา" ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ไม่มีความรู้ กับอีกกลุ่มคือบุคลากรการแพทย์ที่เป็น "มืออาชีพ" ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีช่องว่างที่ห่างกันมาก

ดังนั้นภายหลังที่มี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 และ สพฉ. เกิดขึ้น พร้อมกับกลไกของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) จึงได้มีการออกข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติการ เพื่อทำให้จิตอาสาที่อยู่นอกระบบ สามารถเข้ามาสู่ระบบการรับรองมาตรฐานและคุณภาพ โดยการให้ "ประกาศนียบัตร" แก่ผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้จะแบ่งระดับได้เป็น 1. อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ ผ่านการอบรม 40 ชั่วโมง 2. พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ อบรม 115 ชั่วโมง 3. เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ เรียน 2 ปี 4. นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หรือเวชกิจฉุกเฉิน เรียน 4 ปี พร้อมกับมีวุฒิปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต

เมื่อมีการอบรมและให้ใบประกาศนียบัตรเหล่านี้ จึงนับเป็นการพลิกโฉมหน้าของกลุ่มจิตอาสา ได้ก้าวเข้าสู่ระบบและผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐาน ที่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กว่าจะมาเป็นวิชาชีพ 'Paramedic'

สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี เริ่มมีการจัดการเรียนการสอนขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี 2552 และถัดมาที่มหาวิทยาลัยพะเยา ในปี 2553 เป็นมหาวิทยาลัยสองแห่งของประเทศที่เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์

เจตนารมณ์ของหลักสูตรดังกล่าว คือการสร้างนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) ขึ้น ภายใต้การรองรับของกฎหมาย พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ฉบับนี้

เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2556-2557 ก็ได้เริ่มมีการเปิดหลักสูตรที่ตรงสาขามากขึ้น นั่นคือสาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โดยเปิดเพิ่มขึ้นอีกสองแห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

อย่างไรก็ตามการที่ กพฉ.ออกกฎหมายเพื่อให้หลักสูตรปริญญาตรี ได้รับใบประกาศนียบัตร หากแต่นั่นก็ยังไม่ใช่ใบอนุญาต และยังไม่ใช่ใบประกอบโรคศิลปะ จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มผู้ที่ผ่านการศึกษาเหล่านี้ปฏิบัติงานต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม

"เขาสามารถปฏิบัติงานได้ แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น ต้องทำในหน่วยงานรัฐ ไปทำเอกชนไม่ได้ หรือต้องทำภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ไม่มีสิทธิคิดเอง เพราะยังไม่ใช่กลุ่มวิชาชีพ" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ อธิบาย

เมื่อสาขาฉุกเฉินการแพทย์มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และมี กพฉ. ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นสภาวิชาชีพในการกำกับดูแลมาตรฐานมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง นั่นจึงได้ไปเข้าเกณฑ์ของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ที่ดูแลการประกอบวิชาชีพภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542

จากเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่อาจารย์แพทย์หลายท่านรวมถึงตัวของ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ได้ยื่นเรื่องเสนอผ่าน กพฉ. ในการที่จะนำเอาสาขาฉุกเฉินการแพทย์นี้ ไปเข้าสู่ภายใต้ร่มของ พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ ผ่านกลไกขั้นตอนต่างๆ และกระบวนการพิจารณาที่ใช้ระยะเวลากว่า 2-3 ปี

ในที่สุดเมื่อคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะมีความเห็นว่า สาขาดังกล่าวมีความสำคัญต่อผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล และจะเป็นการยกระดับจากงานบริการจิตอาสา เข้าสู่งานบริการอย่างเป็นมืออาชีพ ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็น "ผู้ประกอบโรคศิลปะ" ในที่สุด

"การขอเสนอในบางสาขาอาจใช้เวลา 10-20 ปีแล้วยังไม่ได้ ซึ่งขึ้นกับคณะกรรมการฯ ที่เห็นว่าเป็นความสำคัญและจำเป็นหรือไม่ แต่เมื่อคณะกรรมการฯ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมองว่าระบบสาธารณสุขของไทยในโรงพยาบาลมีมืออาชีพชัดเจน แต่นอกโรงพยาบาลยังไม่มี จึงมีความตั้งใจที่จะให้เกิดมืออาชีพเพื่อไปดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาล" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ให้เหตุผล

เชื่อ! มีงานรออยู่ 'หลักหมื่น' ตำแหน่ง

สำหรับภาพรวมของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินขณะนี้ เลขาธิการ สพฉ. อธิบายว่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มจิตอาสาที่อยู่นอกระบบ กับกลุ่มในระบบที่ผ่านการฝึกอบรมและมีใบประกาศนียบัตรรับรอง ซึ่งความพยายามตลอดกว่า 10 ปี ในการดึงผู้ปฏิบัติการเข้าสู่ระบบ ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปฏิบัติการที่อยู่ในระบบแล้วกว่า 84,000 คน เกิดความเป็นมืออาชีพมากขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่นอกระบบทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มผู้ศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ จาก สพฉ. ปัจจุบันจะมีอยู่ประมาณ 500 คน และกลุ่มนี้เองที่จะมีสิทธิไปขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ภายหลังนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์กลายเป็นวิชาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น

นอกจากทั้ง 4 มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรไปก่อนหน้านี้แล้ว ภายหลังยังมีอีกแห่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ทำให้ภาพรวมขณะนี้มี 5 สถาบันนำร่องที่กำลังผลิตบุคลากรในสาขานี้ ซึ่ง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ เชื่อว่าเมื่อมีการตราเป็นโรคศิลปะ จะทำให้อีกหลายมหาวิทยาลัยมีความสนใจเปิดหลักสูตรและผลิตบุคลากรออกมาเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน สพฉ.เองก็อาจมีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาอีกสายหนึ่ง นอกจากสายของมหาวิทยาลัยที่เป็นปริญญาตรีแล้ว ก็อาจให้มีสายของโรงพยาบาลที่ใช้ระยะเวลาเรียนสั้นกว่า โดยอาจข้ามมาจากปริญญาตรีสาขาอื่นที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบสุขภาพ ซึ่งส่วนนี้เองก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้เกิดการผลักดันต่อไป

เมื่อมองถึงภาพรวมความต้องการวิชาชีพนี้ในอนาคต ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุว่า หากคำนวณถึงมาตรฐานความต้องการเพื่อตั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งตำบลหนึ่งควรมีประมาณ 5 คน นั่นแปลว่าในทั่วประเทศที่มีกว่า 7,000 ตำบลนี้ จะมีพื้นที่ให้กับนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ที่มากถึง 35,000 คน

"ถ้าท้องถิ่น เทศบาล อบต. กว่า 7,000 แห่ง มีหน้าที่ในการจัดระบบแพทย์ฉุกเฉินแล้ว ก็จะต้องจัดให้มีรถ มีหน่วย และมีคน ซึ่งท้องถิ่นไหนที่มีความพร้อมก็อาจจ้าง Paramedic เข้าไป ฉะนั้นสายงานนี้มีโอกาสเติบโตได้ทีเดียว มีความต้องการรออยู่ แต่จะผลิตแค่ไหน บรรจุได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องจัดการต่อไปในอนาคต" เลขาธิการ สพฉ. ระบุ

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยอมรับว่า ปัจจุบันในสังกัด สธ. หรือในหน่วยงานท้องถิ่น อาจยังไม่มีชื่อตำแหน่งที่รองรับให้บุคลากรวิชาชีพนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องผลักดันต่อไปคือการกำหนดชื่อตำแหน่งที่จะบรรจุทั้งในสังกัด สธ. ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อมีกลไกที่จะเปิดรับเข้าไปทำงาน

"ส่วนของภาครัฐคงใช้เวลาอีกสักระยะ เราอาจเจรจากับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้มีการกำหนดชื่อตำแหน่ง มาตรฐานตำแหน่ง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถรับเข้าไปได้ ประกอบกับเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการทำระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น"

"แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นใบประกอบวิชาชีพแล้ว เรื่องงานคงไม่มีปัญหา เพราะภาคเอกชนเองก็มีความต้องการมากอยู่แล้วในงานบริการด้วยเช่นกัน" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยืนยัน

หนทางของ 'ใบประกอบฯ' มาพร้อมกับความรับผิดชอบ

ภายหลังพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สิ่งที่จะต้องตามมาคือการเกิดกลไก "คณะกรรมการวิชาชีพ" ที่จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือวิธีการที่จะดำเนินการยกระดับนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ขึ้นมาสู่ระบบการออกใบอนุญาตต่อไป

อย่างไรก็ตามในส่วนของนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์กว่า 500 คน ที่เคยผ่านการสอบและได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก กพฉ. มาแล้ว อาจจะต้องสอบอีกครั้ง สอบใหม่บางส่วน หรืออาจเปลี่ยนผ่านมาสู่ใบประกอบวิชาชีพได้เลย ในส่วนนี้เองที่ทางคณะกรรมการวิชาชีพจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่อไป

"ใบประกาศนียบัตรที่ กพฉ. ออกให้ ความจริงก็มีศักย์คล้ายคลึงกับใบอนุญาตไปแล้ว เพียงแต่อาจยังไม่ได้อยู่ในกฎหมายของ พ.ร.บ.โรคศิลปะ ฉะนั้นในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวิชาชีพ ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร อาจคล้ายกับการทำใบขับขี่สากล ที่อาจมีกระบวนการขั้นตอนเพิ่มขึ้นบ้าง ไม่ใช่ว่าให้เลย เพื่อจะมั่นใจได้ว่าเขาเหล่านี้เองก็จะพร้อมกับอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ตามกรอบของผู้ประกอบโรคศิลปะ" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ อธิบาย

เลขาธิการ สพฉ. สรุปว่า จากเดิมในอดีตที่ระดับความเชี่ยวชาญระหว่างกลุ่มจิตอาสา กับบุคลากรมืออาชีพนั้นมีช่องว่างที่ห่างกันมาก แต่กลุ่ม Paramedic ที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยแพทย์ ที่คล้ายคลึงกับพยาบาล หรือนักเทคนิคการแพทย์

เมื่อเทียบกับจิตอาสาที่อาจทำได้เพียงปฐมพยาบาล ดาม ห้ามเลือด หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย กลุ่ม Paramedic นี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากกว่า โดยจะสามารถประเมินและรักษาได้ ณ จุดเกิดเหตุทันที สามารถใส่ท่อช่วยหายใจ หรือแม้กระทั่งทำหัตถการขั้นสูงได้ภายใต้คำสั่งแพทย์

"Paramedic จะทำงานในรูปแบบมืออาชีพและทำหน้าที่แทนหมอได้หลายเรื่อง เช่น การเปิดทางเดินหายใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ การ CPR การให้ยาฉุกเฉินบางตัว ซึ่งหมายความว่าถ้าเรามีจำนวน Paramedic กระจายอยู่พื้นที่นอกโรงพยาบาลมากขึ้น คนไข้ก็จะมีโอกาสรอดมากยิ่งขึ้น" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ อธิบาย

ขณะที่กลุ่มจิตอาสาเดิม ก็ยังจะสามารถทำงานแบบเดิมภายในขอบเขตที่ทำได้ แต่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ คือการทำบันไดให้กับกลุ่มอาสาสมัครเดิม ที่สามารถรับการอบรมเพิ่มเติมและเติบโตขึ้นเป็นพนักงาน เจ้าพนักงาน ไปจนถึงนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ได้

"หมายความว่ากลุ่มคนทำงานกู้ชีพกู้ภัยเดิมก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย ทำให้ตัวเองสามารถพัฒนาศักยภาพและเติบโตขึ้นมาเป็นระดับมืออาชีพแบบนี้ได้ โดยอาศัยกลไกของกรรมการวิชาชีพ หรือ กพฉ.ที่ยังกำกับบางส่วนอยู่" เลขาธิการ สพฉ. ให้ภาพ

เขายังให้ภาพถึงสิ่งที่สามารถพัฒนาต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร Paramedic ที่ทำการเรียนการสอนพื้นฐาน 4 ปี และมีโอกาสเรียนต่อเฉพาะทางเพื่อให้มีความเฉพาะด้านมากขึ้น เช่นเดียวกับแพทย์หรือพยาบาล รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรจนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งมีการเปิดสอนแล้วในมหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ เขาเชื่อว่าประมาณกลางปี 2565 คนไทยน่าจะเริ่มได้เห็น "นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์" ที่มีใบอนุญาตเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาต่อยอดต่อไปทั้งในแง่หลักสูตร การเปิดสอน การเพิ่มจำนวนบุคลากร รวมไปถึงการเปิดตำแหน่งต่างๆ เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ

"ก็ต้องแสดงความยินดีกับว่านักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ทุกท่าน แต่อยากฝากไว้ว่าถึงจะกลายเป็นวิชาชีพแล้ว ใบอนุญาตที่ได้ก็มาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่เมื่อได้รับมาแล้วเราก็จะต้องรักษาสัญญาที่มีต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน มีจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยตามจรรยาของวิชาชีพ รวมถึงบุคลากรในวิชาชีพอื่นที่เราจะทำงานร่วมกันต่อไปอย่างราบรื่นนับจากนี้" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ทิ้งท้าย