ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพคือ ปัญหาการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพบการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณที่เป็นเท็จ หรือเกินจริง นับเป็นปัญหาเกิดขึ้นมาต่อเนื่องอย่างยาวนาน และยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีการทำงานแบบแยกส่วน ประกอบกับการมีบุคลากรในจำนวนที่จัด การจะจัดการปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพจึงจะต้องมีการบูรณาการงานเฝ้าระวัง ควบคุม และตรวจสอบการโฆษณาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวัง และรวมถึงการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อโฆษณาของประชาชน

สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปัจจุบันพบว่ามีการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมักเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ผ่านทางสื่อหลากหลายช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร และสื่อออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2563 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่าปัญหาด้านการโฆษณาอาหารและยายังพบการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงจำนวนมาก1 และในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารายการว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินคดีกับดารานักร้องกว่า 230 คดี เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกาแฟ2 และเมื่อมีสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ยังพบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่ามีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคไวรัส COVID-19 อีกด้วย ซึ่งเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงของอาหาร3

ลักษณะของการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบ ได้แก่ การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริง ทำให้ประชาชนเกิดการหลงเชื่อสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ตามที่โฆษณาว่าสามารถบรรเทา รักษา หรือป้องกันเข้ากับอาการที่ตนเองเจ็บป่วยนั้น ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อซึ่งจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคที่มีความร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยเกิดความต้องการแหล่งพึงพิงอื่นที่นอกเหนือจากยาและการรักษาที่ได้รับจากโรคพยาบาล โดยมีความมุ่งหวังจะทำให้หายจากอาการเจ็บป่วยนั้น นำมาสู่ผลเสียต่อร่างกายและสิ้นเปลืองทรัพย์สิน จากรายงานวิจัยพบว่าประชาชนไทยพบว่ามีอัตราการรู้เท่าทันสื่อในระดับกลาง และพบว่าไม่ปฏิบัติตามวิธีการรู้เท่าทันสื่อ4 โดยมีการเชื่อถือโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามสื่อต่าง ๆ และยังขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

เมื่อพิจารณากฎหมายในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีบัญญัติห้ามโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร งานวิจัยพบว่ามีความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติของคำว่า “อันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร” ทำให้ผู้ปฏิบัติยากต่อการตีความในการบังคับใช้กฎหมาย นำมาสู่การปัญหาการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย5 และนอกจากนั้นยังมีจำนวนบุคลากรจำกัด และเป็นการทำงานแยกส่วนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่ควบคุมสื่อโฆษณา ได้แก่ กสทช. และกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบเครื่องตรวจจับการโฆษณาอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย งานวิจัยได้ทดลองให้เครื่องได้จำแนกข้อความโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจากข้อความโฆษณาที่ป้อนเข้าไป พบว่าระบบสามารถจำแนกข้อความโฆษณาไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ6 และนอกจากนั้นในปัจจุบันระบบราชการของประเทศได้มีการนำระบบ CHATBOT มาใช้ในการตอบคำถามในงานบริการต่าง ๆ ซึ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

ข้อเสนอแนะ

1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ใหม่ โดยการเพิ่มความชัดเจนให้กับบทบัญญัติ เพื่อลดปัญหาในการตีความ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

2. จัดให้มีองค์กรเอกชนร่วมดำเนินการในการเฝ้าระวังาโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมกับการจัดให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภาคประชาชน

3. เพิ่มความร่วมมือในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกสทช.และกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

4. สนับสนุนระบบเครื่องตรวจจับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้มีการนำมาใช้งานจริงเพื่อลดภาระงานของผู้ปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

5. พัฒนารูปแบบส่งเสริมการรู้เท่าทันโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้กับประชาชน

6. ใช้ CHATBOT ในการเป็นระบบตอบคำถามเพื่อเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ประชาชนนำข้อความหรือเสียงโฆษณามาสอบถามกับระบบเพื่อวิเคราะห์ความถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้เขียน: นายธนพงศ์ ภูผาลี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชา เภสัชกรรมและระบบสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสืบค้นได้ดังนี้

1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. ‘โฆษณาเกินจริง’ ครอง 3 ปีซ้อนปัญหาผู้บริโภคอันดับ 1. ข่าวประชาสัมพันธ์. (มกราคม 9, 2564)

2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เผย 6 ปีมีดารานักร้อง นักแสดง ยูทูปเปอร์ รีวิวสินค้าโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดีกว่า 230 คน 2564. [ออนไลน์]. [สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 26, 2564]. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2021/01/20976

3. Anti-fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย. ข่าวปลอม อย่าแชร์! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CO-U1 รักษาโรคโควิด เพิ่มภูมิต้านทาน 2564. [ออนไลน์]. [สืบค้นเมื่อ กันยายน 20, 2564]. สืบค้นจาก https://www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-co-U1-รักษาโรคโควิด-เพิ่มภูมิต้านทาน/

4. รพีพร เทียมจันทร์. การรู้เท่าทันสื่อการจำหน่ายสินค้าสุขภาพทางอินเตอร์เน็ตของประชาชนในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. วารสารควบคุมโรค. 2563;6(1): 75-82.

5. ธนพงศ์ ภูผาลี. มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร. [วิทยานิพนธ์ น.ม. วิชาเอกกฎหมายธุรกิจ)]. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2563

6. วรรณกัญญ์ นิธิโรจน์ศุภภัค, วีรยุทธ์ เลิศนที. การเรียนรู้ของเครื่องสำหรับตรวจจับข้อความโฆษณาอาหารที่ผิดกฎหมาย. วารสารเภสัชกรรมไทย 2563;13(2):449-459.