ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การได้คู่อยู่เคียงกับคนรักไปจนวาระสุดท้ายของชีวิตคงจะเป็นเป้าหมายของผู้คนจำนวนมาก เพราะการได้มีใครสักคนสามารถที่ทำให้คู่รักพึ่งพาอาศัยกันทั้งทางร่างกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และจิตใจ แต่นอกจากเรื่องเหล่านี้ การ “มีคู่” ยังมีความลับอีกประการหนึ่งซ่อนอยู่ในเรื่องเชิงสุขภาพ

ซึ่งนั่นก็คือ คุณภาพของความรักความสัมพันธ์ระหว่างกันของคู่รัก โดยเฉพาะการแต่งงานที่ยาวนาน ส่งผลต่อสุขภาวะทางกายและความเป็นอยู่ที่ดี

จากการศึกษาของทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาถึงพลวัตรของความสัมพันธ์ระยะยาว ผ่านวิธีคิดเชิงพื้นที่สัมพันธ์ (Spatial Proximity) และก็ค้นพบว่า เมื่อคู่รักหรือคู่แต่งงานนั้นมีความใกล้ชิดกัน อัตราการเต้นของหัวใจของพวกเขาจะประสานเข้าหากันในรูปแบบที่มีความซับซ้อน ตามแต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ไบรอัน โอกอลสกี้ รองศาสตราจารย์จากแผนกการพัฒนามนุษย์และครอบครัวศึกษา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ระบุว่า นักวิจัยด้านความสัมพันธ์มักจะถามผู้คนว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไรบ้าง และมักคิดว่าผู้คนเหล่านั้นจะสามารถจดจำหรือให้คำตอบได้อย่างลึกซึ้ง

แต่กับผู้คนที่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันมานาน 30 – 40ปี เมื่อถามถึงเรื่องเหล่านี้หรือพวกคำถามว่าพึงพอใจกับชีวิตคู่ขนาดไหน พวกเขามักจะหัวเราะใส่เสมอ เพราะพวกเขาคิดว่า การอยู่ด้วยกันด้วยระยะเวลาหลายสิบปีก็เป็นคำตอบที่เพียงพอแล้วว่าพวกเขาพอใจหรือผูกพันระหว่างกันขนาดไหน

“อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เราต้องการวิธีการเชิงวัตถุวิสัยมาประเมินพลวัตของความสัมพันธ์ และสิ่งที่เรามาก่อนหน้านี้ก็คือการอยู่โดยมีผู้คนรอบๆ กาย ส่งผลดีในเชิงจิตวิทยา ดังนั้นแล้วเราจึงเลือกความใกล้ชิดกันทางกายมาเป็นตัววัด”

แต่การอยู่ใกล้ชิดกับผู้คนนั้นไม่ได้ให้ผลดีเสมอไปในทุกครั้ง มันขึ้นอยู่กับว่าลักษณะและธรรมชาติของความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเป็นอย่างไร

ความใกล้ชิดที่มาจากความขัดแย้งระหว่างกันให้ผลต่างจากการใกล้ชิดที่มาจากการปฏิสัมพันธ์อันเกิดจากความรักความห่วงใยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปมองเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ ก็จะพบว่าความเปลี่ยนของอัตราการเต้นของหัวใจที่ประกันนั้นก็สามารถเป็นได้ทั้งไปในทางที่ดีและไม่ดี

“เราไม่ได้เน้นที่จะสนใจในเรื่องของเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เน้นหนักไปในเรื่องของการทำงานควบคุมร่วมกันของหัวใจเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจเริ่มประสานกัน เพราะเมื่อคู่รักใกล้ชิดกัน อัตราการเต้นของหัวใจพวกเขาจะสามารถวัดได้ว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักนั้นมีความหมายอย่างไร”

งานศึกษาชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาคู่แต่งงานระหว่างเพศทั้งสิ้น10 คู่ มีช่วงอายุตั้งแต่ 64 ถึง 88 ปี และแต่งงานหรือมีความสัมพันธ์กันมาช่วงเวลาตั้งแต่ 14 – 65 ปี นักวิจัยจะทำการติดตามคู่รักเหล่านั้นราว 2สัปดาห์ โดยคอยวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความใกล้ชิดกัน (เชิงพื้นที่) ของคู่รักเหล่านั้นเวลาที่พวกเขาอยู่บ้าน

คู่รักแต่ละคู่จะสวมใส่อุปกรณ์ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจเอาไว้ พร้อมๆ กับอุปกรณ์ที่ใช้วัดความใกล้ชิด (เชิงพื้นที่) โดยที่ทีมวิจัยจะทำการติดตั้งเครื่องเซนเซอร์วัดความใกล้ชิดเอาไว้รอบๆ บ้านของผู้เข้าร่วมการทดสอบ เพื่อที่จะได้ติดตามเครื่องมือและความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้อย่างใกล้ชิด ว่าพวกเขานั้นใกล้ชิดกันเพียงใด

ในทุกๆ เช้า นักวิจัยจะทำการโทรหาคู่รักแต่ละคู่เพื่อย้ำเตือนให้พวกเขาใส่อุปกรณ์ และโทรอีกครั้งในช่วงเย็นเพื่อสอบถามถึงเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละคู่ในแต่ละวันเพื่อเก็บข้อมูล

“โอกอลสกี้” กล่าวว่า ก้าวแรกของเราคือการดูว่าความใกล้ชิดกับอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กันหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป โดยเราดูทั้งอัตราการเต้นของสามี ของภรรยา และอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อทั้งคู่อยู่ด้วยกันด้วยกัน โดยเรานั้นอยากรู้ว่าในแต่ละช่วงเวลา อัตราการเต้นของหัวใจนั้นเป็นอย่างไร สามารถบอกอะไรได้หรือไม่ และถ้าบอก จะบอกอะไรเราได้บ้าง ซึ่งกลายเป็นว่าอัตราการเต้นของหัวใจในช่วงต่างๆ สามารถนำมาใช้บอกหรือพยากรณ์อะไรบางอย่างได้จริงๆ

การค้นพบนั้นก็คือ มีความสัมพันธ์แบบ “lead-lag” (ตัวนำ – ตัวตาม) ในการประสานกันของอัตราการเต้นของหัวใจ หรือก็คือในการปฏิสัมพันธ์กันของคู่รัก ถ้าใครเป็นคนนำการปฏิสัมพันธ์นั้นๆ ผู้ที่ตามก็จะมีอัตราการเต้นของหัวใจไปประสานกับผู้นำ

“นี่จึงทำให้เราเห็นถึงความสมดุลระหว่างกันของคู่รัก เพราะเมื่อหนึ่งในคู่รักได้ทำการกระตุ้นคู่ของตน พวกเขาจะเริ่มมีอิทธิพลต่อกันทั้งเรื่องเชิงร่างกายและจิตใจ รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ตลอดทั้งวัน” โอกอลสกี้อธิบาย

“เราพบได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและเรื่องทางร่างกายของคู่รักในสถานการณ์และบริบทที่ต่างกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ไกล หรือใกล้กัน”

การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญกับเรื่องของงานวิจัยเชิงความสัมพันธ์ ซึ่งปกติมักจะอิงอยู่กับบทสรุปที่วัดระหว่างคู่รักกับคู่รัก มากกว่าวัดด้วยคู่รักเอง

นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักจะส่งผลกันในเชิงอารมณ์และจิตใจแล้ว พวกเขายังมีอิทธิพลกันในทางร่างกายอีกด้วย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ว่ากันอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าความสัมพันธ์ของคู่รักมีสุขภาพที่ดี สุขภาพของกายและใจก็จะดีไปด้วย

“ถ้าเราต้องการที่จะรู้และเข้าใจรูปแบบเฉพาะตัวของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก เราต้องเริ่มที่สนใจในเรื่องกระบวนการเล็กๆ น้อยๆ ให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นรูปแบบเล็กๆ ที่สะสมตลอดทั้งวัน สิ่งนั้นแหละที่จะเป็นตัวบอกว่าธรรมชาติของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักในแต่ละช่วงเวลานั้นจะเป็นไปอย่างไร” โอกอลสกี้ทิ้งท้าย

อ้างอิง
https://aces.illinois.edu/news/when-older-couples-are-close-together-their-heart-rates-synchronize
https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0265407521105007